xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันอาหาร คาดวิกฤตโลกร้อน ดันราคาอาหารสูง 50 เท่า ใน10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผอ.สถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร จับมือ เอสเอ็มอีแบงก์ แก้วิกฤตอาหารแพงพร้อมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ เผย ผู้ผลิตต้องเน้นคุณภาพและมาตรฐาน รองรับการตลาดส่งออกในอนาคต คาดหากวิกฤตโลกร้อนยังไม่ได้รับการแก้ไข ราคาอาหารโลกอาจพุ่งสูงขึ้นอีก 20-50 เท่าตัว

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยในงานสัมมนา วิกฤตอาหาร…โอกาส SMEs ไทย ว่า จากสถานการณ์วิกฤตอาหารที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่นี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปัญหาทั้งในการต้นทุนการผลิต และการทำการตลาด ซึ่งทางสถาบันอาหารได้ร่วมมือกับเอสเอ็มอีแบงก์ ในการให้ความรู้ด้านเทคนิค การอบรม และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านอุตสาหกรรมอาหาร โดยเชื่อว่าองค์ความรู้ดังกล่าว จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ทางสถาบันอาหารได้ให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้กับธุรกิจ เพื่อสร้างความยั่งยืน และสามารถเป็นเกราะป้องกันวิกฤตต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ของราคาน้ำมันที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารที่ต้องปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

“การทำธุรกิจในปัจจุบัน เราควรที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันในโลกการค้า รวมถึงการผลิตจะต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก เน้นการผลิตสินค้าที่ทันกระแสเข้ากับยุคสมัย เช่น สินค้าออแกนิค เจาะตลาดสินค้าพรีเมียมให้กับลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง เพราะหากแข่งในเรื่องการลดราคา สุดท้ายผู้ประกอบการทำได้แค่รอวันปิดกิจการอย่างเดียว เนื่องจากแบกรับต้นทุนจากการลดราคาสินค้าไม่ไหว นอกจากนี้สินค้าที่ผลิตต้องได้มาตรฐาน มีคุณภาพ เพื่อสร้างความได้เปรียบจากคู่แข่ง และให้ความคุ้มค่ากับผู้บริโภค” ผอ.สถาบันอาหารกล่าว

ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเบื้องต้น เพื่อรองรับวิกฤตอาหารโลกนั้น คือ ต้องคิดแผนในการดำเนินธุรกิจแบบเอสเอ็มอี แต่การปฏิบัติจะต้องคิดอย่างผู้ประกอบการรายใหญ่ และต้องเริ่มพัฒนาเบื้องต้นใน 3 เรื่องแรก คือ 1.การพัฒนาบุคลากร เสริมองค์ความรู้ 2.สร้างมาตรฐานในการผลิตอาหารที่เป็นสากล ทั่วโลกยอมรับ เพื่อเตรียมรับตลาดส่งออกในอนาคต เช่น มาตรฐาน GMP และ HACCP และ 3.การนำเทคโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพราะที่ผ่านมาสินค้าประเทศญี่ปุ่นที่มีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็เกิดจากการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยการปรับใช้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์วิกฤติอาหารไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่ทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 30 สำหรับสาเหตุที่เกิดวิกฤติอาหารโลก เพราะภาวะโลกร้อนรวมทั้งราคาอาหารเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ซึ่งน้ำมันที่แพงขึ้นเกิดจากความต้องการใช้ที่มากกว่ากำลังการผลิต โดยคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้น 20-50 เท่า หากภาวะโลกร้อนไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นการเพิ่มมูลค่าสินค้า และผลผลิตจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น