สถาบันอาหารจี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยคว้าโอกาสส่งออกจากวิกฤตอาหารโลก เผยผู้ประกอบการไทยกว่า 9,000 โรงงาน ได้มาตรฐานส่งออก แค่ 4% ส่วนที่เหลือล้วนเป็น SMEs ที่ยังไม่พร้อม จับมือ ม.เกษตร ผุดโครงการ Pre-HACCP เร่งสร้างโอกาส
ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหาวิกฤตขาดแคลนอาหาร ซึ่งตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ราคาอาหารทุกประเภทขึ้นกว่าร้อยละ 30 และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ราคาอาหารจะสูงขึ้นต่อเนื่องแน่นอนตามราคาน้ำมัน โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า อาจจะเพิ่มถึง 20-30 เท่าตัวในอีก 10 ปีข้างหน้า
จากวิกฤตดังกล่าว หลายประเทศทั่วโลกจึงมีความต้องการสินค้าอาหารส่งออก ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย ซึ่งได้รับการยอมรับในฐานะแหล่งผลิตอาหารโลก อย่างไรก็ตาม การส่งออกสิ่งสำคัญ คือ ต้องมีมาตรฐานด้านความสะอาด ปลอดภัย โดยผ่านมาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point System) ซึ่งปัจจุบัน ผู้ประกอบการไทยกลุ่มอาหาร ทั้งหมดกว่า 9,000 โรงงาน มีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่ได้มาตรฐาน โดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นระดับ SMEs ยังไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานส่งออกได้
ผอ.สถาบันอาหาร เผยต่อว่า ปัญหาที่ SMEs ไม่สามารถปรับตัวได้ เพราะต้องใช้ทุนสูง ได้ผลตอบรับในระยะยาว และมีกระบวนการค่อนข้างยาก ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ ทางสถาบันฯ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดโครงการ Pre-HACCP สำหรับเป็นบันไดให้ผู้ประกอบการ SMEs ค่อยๆ ยกระดับตัวเอง จนสามารถก้าวสู่มาตรฐาน HACCP ได้
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ใช้งบประมาณสนับสนุนมูลค่า 40 ล้านบาท โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมอาหาร เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 4 วันต่อรุ่น โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น หลักสูตรมีด้านการปรับปรุงมาตรฐานบุคลากร และการบริหารจัดการโรงงาน เมื่อผ่านโครงการแล้ว ผู้ประกอบการจะได้รับใบประกาศ และเครื่องหมาย Pre-HACCP เป็นการรับรองเบื้องต้น เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ รวมถึง เตรียมพร้อมสู่การเข้าสู่มาตรฐาน HACCP อย่างเต็มรูปแบบต่อไป นอกจากนั้น ยังได้รับอภิสิทธิ์ การสนับสนุนจากสถาบันอาหารต่อเนื่อง และได้รับสิทธิ์ให้เข้าประกวดสุดยอดธุรกิจอาหารแปรรูปแห่งปีด้วย
ด้าน ดร.วารุณี วารัญญานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ Pre-HACCP เผยว่า หลังการอบรมจะมีการตรวจสอบ และแนะนำการปรับปรุงโรงงาน รวมถึงการประเมินผล โดยตั้งเป้าว่า โรงงานที่ผ่านการอบรมจะเข้าสู่มาตรฐาน HACCP อย่างเต็มรูปแบบ ภายใน 2 ปี ซึ่งหากมีปัญหาด้านเงินทุน ได้เตรียมแหล่งเงินกู้อย่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ไว้รับรองแล้ว ตั้งเป้าว่า ในปีนี้ (2551) จะตั้งเป้ามีโรงงานเข้าร่วมนำร่อง 600 โรงงานทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ มี SMEs เข้าร่วมแล้วกว่า 390 ราย