xs
xsm
sm
md
lg

"พรทิวา"ร่วมหลายปท.วิพากษ์มะกัน ใช้แผน"ซื้ออเมริกัน"มากีดกันการค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พรทิวา นาคาสัย เข้าประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค ที่ประเทศสิงคโปร์
เอเจนซี- ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าของ "เอเปก" ตกลงกันในวันอังคาร(21)ที่จะหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการกีดกันการค้า ภายหลังจากผู้แทนบางชาติ รวมทั้งรัฐมนตรีพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย ของไทย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แผนการรณรงค์ "ซื้อของท้องถิ่น" ของสหรัฐฯและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ระหว่างการหารือที่สิงคโปร์ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะกระตุ้นให้เดินหน้าจัดทำข้อตกลงการค้าโลกฉบับใหม่

บรรดารัฐมนตรีการค้าของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ต่างให้คำมั่นภายหลังการหารือวันแรกในวันอังคาร ว่าจะทำให้การเจรจาการค้ารอบโดฮา สามารถทำข้อตกลงกันได้ในปีหน้า

ก่อนหน้านั้น รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของไทย ซึ่งพบปะประชุมกับสมาชิกอื่นๆ ของเอเปก อันมีประเทศใหญ่ ๆอย่างสหรัฐฯ จีนและรัสเซียร่วมอยู่ด้วย ได้กล่าวว่า มาตรการ "ซื้อของท้องถิ่น" ที่รัฐบาลหลายแห่งประกาศออกมานั้นส่งผลกระทบกระเทือนการส่งออกของบางประเทศในกลุ่มเอเปกอย่างมาก

"เราขอเรียกร้องว่าอย่าได้ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าใดๆ เลย เนื่องจากมันสร้างความเสียหายต่อการส่งออกของเรา" รัฐมนตรีพรทิวากล่าวในระหว่างการแถลงสรุปต่อสื่อมวลชน ภายหลังพิธีเปิดประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกคราวนี้

เธอบอกว่า ออสเตรเลียและอินโดนีเซียได้หยิบยกประเด็นเรื่องการกีดการทางการค้าขึ้นมาหารือ และไทยและไต้หวันซึ่งพึ่งพาการส่งออกอย่างมากก็ช่วยเป็นเสริม เพราะว่าได้รับผลกระทบจากการที่ส่งสินค้าเกษตรและชิ้นส่วนรถยนต์ส่งออกได้ลำบาก

ทางด้าน ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ รอน เคิร์ก ได้ตอบว่า มันเรื่องดีที่ทุกๆ คนกำลังพูดอะไรตรงไปตรงมา เธอกล่าวต่อ

ทั้งนี้ในกฎหมายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯนั้น มีการบรรจุมาตราที่กำหนดให้ "ซื้อของอเมริกัน" นั่นคือโครงการงานโยธาทั้งหลายที่ได้รับเงินจากกฎหมายนี้ จะต้องใช้เฉพาะเหล็กกล้า เหล็กและสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆที่ผลิตในสหรัฐฯเท่านั้น ขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ ก็มีการออกนโยบายในทำนองเดียวกันนี้ด้วย

ผู้อำนวยการองค์กรการค้าโลก ปาสกาล ลามี ซึ่งอยู่ในที่ประชุมด้วย ได้เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า การที่รัฐบาลต่าง ๆ กำลังกีดขวางการค้าอย่างไม่เป็นธรรมเนื่องจากพะวงกับการรับมือภาวะเศรษฐกิจโลกทรุดต่ำนั้น กลับกำลังส่งผลกระทบต่อประเทศที่ร่ำรวยมากที่สุด และทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในประเทศยากจนและร่ำรวย

ออสเตรเลียนั้นได้พูดไว้ก่อนการประชุมคราวนี้ว่า หลักประกันไม่ได้เกิดการกีดกันทางการค้าที่ดีที่สุด ก็คือการทำข้อตกลงการค้าเสรีระดับโลกกันให้ได้

"การค้ากระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ และตอนนี้โลกก็ต้องการการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมาก" ไซมอน ครีน รัฐมนตรีการค้าออสเตรเลียกล่าวกับที่ประชุมผู้นำด้านธุรกิจในสิงคโปร์
ตัวลามีเองก็ได้เคยคาดการณ์ไว้ว่า หากการเจรจาการค้ารอบโดฮาบรรลุผลสำเร็จ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้ เพราะการค้าระหว่างกันจะเพิ่มขึ้นราว 130,000 ล้านดอลลาร์

บรรดาผู้นำประเทศต่าง ๆ ต่างเรียกร้องให้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบพหุภาคีนี้ในเสร็จสิ้นภายในปีหน้า แต่บรรดาตัวแทนเจรจาต่างกล่าวว่ามีความเป็นไปได้น้อยมากจนกว่าสหรัฐฯจะเปลี่ยนท่าทีในการเจรจาการค้าสินค้าเกษตรและอื่น ๆเสียใหม่

ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามา สหรัฐฯยังไมได้แสดงท่าทีว่าจะสานต่อการเจรจาโดฮาในรูปแบบใด

การเจรจาการค้าเสรีรอบโดฮานี้เริ่มขึ้นที่เมืองหลวงของกาตาร์ตั้งแต่ปี 2001 แต่ยังไม่สามารถจะตกลงกันได้ โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตรของพวกประเทศพัฒนาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น