xs
xsm
sm
md
lg

เจรจาการค้ารอบโดฮา‘ล้มครืน’ ยังไม่รู้จะคุยกันใหม่ได้อีกเมื่อใด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – การเจรจาที่ดำเนินมาอย่างมาราธอนถึงสัปดาห์ครึ่ง เพื่อเร่งให้ทุกฝ่ายบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีพหุภาคีรอบล่าสุดที่ มีอันล้มคว่ำลงเสียแล้วในวันอังคาร(29) เมื่อสหรัฐฯและอินเดียปฏิเสธที่จะประนีประนอมกัน เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรยากจนถ้าหากได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าราคาถูก
บรรดารัฐมนตรีจากประเทศอื่น ๆที่เข้าร่วมประชุมที่เจนีวาคราวนี้ด้วย ต่างก็ไม่อยากเชื่อเลยว่า การเจรจาที่ดำเนินมาเป็นเวลา 9 วันจะมาล้มเหลวลงเพราะความไม่ลงรอยกันทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับเรื่งมาตรการควบคุมการนำเข้า
“คนที่มาจากโลกอื่นหากเดินทางมาโลกในตอนนี้ต้องไม่เชื่อแน่เลยว่า หลังจากมีความก้าวหน้ากันมามากแล้ว เราจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้เลย” รัฐมนตรีต่างประเทศบราซิล เซลโซ อะมอริมกล่าว
“นี่เป็นความล้มเหลวอันเจ็บปวด และเป็นการถอยหลังครั้งรุนแรงของเศรษฐกิจโลก และมาเกิดในช่วงเวลาที่เราต้องการข่าวดีเพื่อกระตุ้นสถานการณ์อยางยิ่งยวด” ปีเตอร์ แมนเดลสัน กรรมาธิการการค้าสหภาพยุโรปพูดกับนักข่าว พร้อมทั้งแสดงอารมณ์ออกมาอย่างชัดแจ้ง นอกจากนี้เขาก็ยังกล่าวอีกว่าประเทศกำลังพัฒนาจะสูญเสียมากที่สุด
การล้มคว่ำลงของการเจรจาน่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจ แม้ว่าจะยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศโดยทันที, อีกทั้งน่าจะกระตุ้นให้ลัทธิกีดกันการค้างอกงาม, พร้อมกันนั้น ทุกประเทศจะหันเร่งไปทำสัญญาการค้าสองฝ่าย นอกจากนี้ก็ยังก่อให้เกิดคำถามว่าโลกจะรับมือกับประเด็นปัญหาซึ่งซับซ้อนอย่างเช่น ภาวะโลกร้อน หรือ วิกฤตอาหารได้อย่างไร เพราะมันได้แสดงถึงการขัดแย้งกันอย่างไม่อาจลงรอยกันได้ระหว่างกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
การที่ไม่สามารถจะบรรลุข้อตกลงใด ๆได้ในครั้งนี้ก็หมายถึงว่าองค์การการค้าโลก (WTO) ไม่สามารถจะผ่าทางตันให้กับการเจรจาการค้าเสรีรอบโดฮา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน ที่มีความมุ่งหมายจะเปิดเสรีด้านการค้าเพื่อกระตุ้นให้เกิดมูลค่าการค้าระหว่างกันมากขึ้น และหากว่าประเทศสมาชิกของดับบลิวทีโอสามารถฟื้นคืนการเจรจารอบโดฮาขึ้นมาอีกได้ในอนาคตต ก็ต้องหมายความว่ากว่าจะตกลงกันได้ ต้องเป็นอีกสองสามปีข้างหน้าเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการใหญ่WTO ก็บอกว่าบรรดารัฐมนตรีผู้แทนประเทศต่าง ๆต้องการให้เขาจัดให้มีการเจรจาขึ้นอีกโดยเร็วที่สุด และเขาก็ให้คำมั่นว่า “จะไม่ยกธงขาว” โดยเด็ดขาด
ลามีกล่าวว่าหากว่าตกลงกันได้จะทำให้การค้าโลกสามารถประหยัดเม็ดเงินได้มากถึง 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากการลดกำแพงภาษีนำเข้าสินค้ากันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ลามีเรียกให้ผู้แทนระดับรัฐมนตรีจาก 35 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกดับบลิวทีโอที่มีบทบาทมากที่สุดเข้ามาเจรจากัน เพื่อหาข้อยุติสำหรับความขัดแย้งต่าง ๆ เพื่อเป็นหนทางไปสู่การบรรลุข้อตกลงรอบโดฮา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปลายปี 2001
เขากล่าวว่าในระหว่างการประชุม บรรดารัฐมนตรีสามารถที่จะเห็นพ้องต้องกันราว 80-85% ของระเบียบการค้าด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม
แต่ความแตกต่างกันในส่วนที่เหลือนั้นยังคงกว้างขวางมากเกินไปกว่าที่ประเทศร่ำรวยและยากจน รวมทั้งประเทศผู้นำเข้าและส่งออกจะสามารถประนีประนอมกันได้
ประเด็นที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายในการประชุมก็คือ หัวข้อกลไกพิเศษปกป้องธุรกิจภายในประเทศ (special safeguard mechanism หรือ SSM) ซึ่งเป็นหัวข้อที่เจรจากันเป็นส่วนใหญ่ในวันจันทร์(28)และวันอังคาร(29) กลไก SSM จะอนุมัติให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถขึ้นภาษีน้ำเข้าสินค้าเกษตรได้หากว่าประเทศนั้น ๆกำลังเผชิญหน้ากับสินค้านำเข้าที่ไหลทะลักเข้ามา รวมทั้งเมื่อระบบราคาภายในประเทศล้มครืนลงมา
ประเทศกำลังพัฒนา อย่าง อินเดีย และ อินโดนีเซียกล่าวว่า พวกตนต้องการมาตรการเช่นนี้ เพื่อปกป้องเกษตรกรรายเล็กและยากจนล้านๆ คนให้อยู่รอดหลังจากที่ประเทศต้องเปิดตลาดให้กับสินค้าที่ถูกกว่าจากต่างประเทศ
แต่สหรัฐฯกลับกังวลว่าธุรกิจการเกษตรของตนเองอาจจะต้องสูญเสียตลาดไปจากมาตรการนี้ เพราะว่าสหรัฐฯต้องแลกมาด้วยการลดการอุดหนุนภาคการเกษตรลง ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯและเกษตรกรมากพอแล้ว
ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้ส่งออกอาหาร เช่น คอสตาริกา และ อุรุกวัยก็ไม่เห็นด้วยกับกลไกดังกล่าวด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาจจะทำให้ตนเองถูกตัดออกจากตลาดหลัก หรืออาจถูกลดมูลค่าการค้าในตลาดที่สามารถเข้าถึงได้แล้ว
“เป็นความโชคร้ายของการประชุมครั้งนี้ ที่เราไม่สามารถวิ่งต่อไปในไมล์สุดท้ายได้ เนื่องเพราะประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชีวิตของเกษตรกรเล็ก ๆเป็นจำนวนมาก” รัฐมนตรีพาณิชย์อินเดีย กามาล นาธ กล่าว
ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ซูซาน ชวอป กล่าวว่าสิ่งที่สหรัฐฯเสนอในการเจรจาครั้งนี้ยังจะอยู่ต่อไป “เพื่อให้มั่นใจว่าความก้าวหน้าที่เราทำกันมาในช่วงสัปดาห์นี้ไม่สูญเปล่า สหรัฐฯยังคงเสนอข้อเสนอล่าสุดต่อไป อย่างไรก็ตามข้อเสนอมีไว้สำหรับประเทศที่มีข้อเสนอที่ก้าวหน้าไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพื่อสร้างสรรค์โอกาสในการเข้าสู่ตลาดต่าง ๆให้มากขึ้นทั้งสองฝ่าย แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็นข้อเสนอก้าวหน้าจากใครเลย” ชวอปกล่าว
มาถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าการเจรจารอบใหม่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่และเมื่อไร
อโมริมของบราซิลกล่าวว่าอาจจะใช้เวลาไปอีกสามถึงสี่ปี ในขณะที่แมนเดลสันบอกว่าไม่เห็นโอกาสที่จะประนีประนอมกันได้ในประเด็นหลักในอนาคตอันใกล้นี้
นอกจากนี้การเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯและคณะกรรมาธิการอียูชุดใหม่ในปีหน้าอาจทำให้การเจรจาการค้าโลกลดความสำคัญลงไป หรือเปลี่ยนประเด็นความสำคัญไป บารัก โอบามาซึ่งเป็นผู้แทนของเดโมแครตลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีก็ได้ออกมากล่าวแล้วว่าการเจรจาการค้าจะต้องเพิ่มประเด็นมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย
นักวิชาการบางรายกล่าวว่าหากว่าโอบามาได้เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลสหรัฐฯอาจจะบอกว่าต้องมาเริ่มต้นกันใหม่หมดก็เป็นได้ ซึ่งก็จะสร้างความยุ่งยากและซ้บซ้อนให้แก่การเจรจาขึ้นไปอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น