xs
xsm
sm
md
lg

มลพิษและสารเคมีในบ้าน-ที่ทำงาน ผลกระทบระบบการหายใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์นายแพทย์ อรรถ นานา

ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้กว่า 6 ล้านคน อันเนื่องมาจากสภาวะสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษมากขึ้น มลภาวะทางอากาศ และอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านและที่ทำงานหลายชนิดที่มีสารเคมีก่อปัญหาต่อสุขภาพ หลายคนอาจไม่ทราบว่าในบ้านหรือที่ทำงานนั้น มีมลพิษและสารเคมีอยู่รอบตัวโดยที่เรามองไม่เห็น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคระบบการหายใจต่างๆ

ศาสตราจารย์นายแพทย์ อรรถ นานา
ศาสตราจารย์นายแพทย์ อรรถ นานา นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ มลพิษและสารเคมีในบ้านและที่ทำงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อโรคภูมิแพ้ ว่า ภูมิแพ้ คือ โรคระบบการหายใจอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอาการไวผิดปกติต่อสิ่งซึ่งสามารถก่อให้เกิดภูมิแพ้ (Allergen) โรคภูมิแพ้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย ตัวการที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เรียกกว่า สารก่อภูมิแพ้ (Allergens) สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย เช่น ตัวไรฝุ่น มักปะปนอยู่ในฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 มม. มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า พบมากในที่ๆ มีความชื้นสูง พบร่วมกับฝุ่นที่มาจากเสื่อ หมอน แม้ว่าบ้านสะอาดเพียงไรก็ไม่สามารถกำจัดไรฝุ่นได้หมด แต่ถ้าใช้เครื่องกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงก็สามารถลดไรฝุ่นได้

เชื้อรา มักปะปนอยู่ในบรรยากาศ ตามห้องที่มีลักษณะอับชื้น หรือภายในอาคาร หรือบ้านที่เปิดเครื่องปรับ อากาศตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ไม่ได้ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศสม่ำเสมอ เชื้อรายังเติบโตในถาดรองน้ำของเครื่องปรับอากาศ และหมุนเวียนอยู่ในห้องนานนับเดือนนับปี ทำให้สุขภาพของคนทำงานอ่อนแอลง เจ็บป่วยง่าย และภูมิต้านทานต่ำ

แมลงต่างๆ ที่มักอาศัยอยู่ภายในบ้าน เช่น แมลงสาบ แมงมุม มด ยุง ปลวก และแมลงที่อาศัยอยู่นอกบ้าน เช่น ผึ้ง แตน ต่อ มดนานาชนิด เป็นต้น เศษผงขนาดเล็กที่มาจากแมลงเหล่านี้จะฟุ้งกระจายภายในห้อง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เกสรดอกหญ้า, ดอกไม้, ตอกข้าว และ วัชพืช สิ่งเหล่านี้มักปลิวอยู่ในอากาศตามกระแสลม ซึ่งสามารถพัดลอยไปได้ไกลๆ หรืออาจเป็นลักษณะขุยๆ ติดตามมุ้งลวดหน้าต่าง เกสรดอกหญ้าที่ปลิวมาตามสายลม

ขนสัตว์ ขนของสัตว์เลี้ยงเป็นต้นเหตุของโรคภูมิแพ้ เช่น ขนแมว ขนสุนัข ขนนก ขนเป็ด ขนสัตว์ที่ตากแห้งซึ่งใช้บรรจุยัดที่นอนและหมอน สำหรับนุ่น ฟองน้ำ ยางพารา ใยมะพร้าว เมื่อใช้ไปเป็นระยะเวลานานก็จะสามารถเป็นสารก่อภูมิแพ้

ส่วนสารเคมีต่างๆ ในบ้าน และที่ทำงานจากอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ และสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุต่อโรคระบบการหายใจซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น สารแอมโมเนีย มีสถานะเป็นของเหลวหรือก๊าซ เป็นสารที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ละลายได้ดีในน้ำ ในแอลกอฮอล์ และในดีเทอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม, ห้องปฏิบัติการเคมี, ทำสีย้อมผ้า, ทำปุ๋ย, ทำกาว, ฉาบด้านหลังกระจกเงา, ตู้เย็น และกำมะถัน นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในบุหรี่อีกด้วย แอมโมเนียจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกโดยการหายใจ มีอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งจะทำให้เป็นโรคปอดบวม ถุงลมโป่งพอง และ หลอดลมอักเสบ

สารแอสแบสตอส เป็นแร่ประเภทเส้นใย ใช้ในกิจการอุตสาหกรรมเส้นใยแอสแบสตอส ผลิตวัสดุป้องกันความร้อน และผลิตกระเบื้อง แอสแบสตอสสามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยทางจมูก ซึ่งถ้าสูดดมฝุ่นแอสแบสตอสเข้าไปเป็นเวลานาน จะมีอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ปอดแข็ง หอบ เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด เจ็บหน้าอก ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด และโรคมะเร็งปอด

สารเรดอน เป็นแร่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นสารกัมมันตภาพรังสี ก๊าซเรดอน สามารถเดินทางไปตามพื้นดินเข้าไปในอาคารและบ้านผ่านรอยแตกของบ้านหรืออาคาร เมื่อสูดดมสารเรดอนเข้าไปเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคมะเร็งปอด หนทางป้องกันก๊าซเรดอนคือ ใช้ผ้ายางพิเศษปูพื้น เพื่อกันการระเหย หรือติดตั้งระบบระบายอากาศอย่างเพียงพอ

สารฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นสารที่มาจากเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน หรือสีทาบ้าน เมื่อเกิดการระเหยแล้วทำให้เป็นพิษต่อสุขภาพ หากสูดดมเข้าไปไม่ได้ทำให้เป็นมะเร็งโดยตรง แต่ทำให้เกิดการอักเสบของปอด และเมื่อปอดเป็นแผลเป็นมากๆ ก็จะมีโอกาศเป็นมะเร็งปอด

วิธีการป้องกันสารมลพิษ คือ หลีกเลี่ยงใช้งานเครื่องนอน พรม และเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเส้นใยซึ่งมีอายุหลายปี เพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องสัมผัสกับไรฝุ่น เลือกใช้ข้าวของที่เคลือบด้วยสารป้องกันไรฝุ่น การเช็ดล้างหรือดูดฝุ่นทำความสะอาดสม่ำเสมอ เป็นอีกวิธีที่สามารถไล่ไรฝุ่นได้ระดับหนึ่ง การซักเครื่องนอนเป็นประจำด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิอย่างน้อย 55 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สามารถฆ่าไรฝุ่นและกำจัดสารภูมิแพ้จากไรฝุ่นได้ดี หรือตากแดดเพื่อให้ไข่ไรฝุ่นที่ฝังตัวอยู่กับเครื่องนอนฝ่อได้ด้วย ส่วนสารเคมีต่างๆ เราสามารถป้องกันได้ โดย ไม่เข้าใกล้หรือสูดดมสารเคมีเหล่านี้ ผู้ที่ต้องทำงานกับสารเคมีควรตรวจและรักษาสุขภาพสม่ำเสมอ และควรจัดสถานที่ที่บ้าน ตลอดจนสถานที่ทำงานให้ปลอดภัยไม่ประมาทในขณะทำงาน และเก็บรักษาสารพิษในที่ปลอดภัย เป็นต้น

ศจ.นายแพทย์ อรรถ นานา กล่าวเพิ่มเติมว่า “มลพิษและสารเคมีในบ้านและที่ทำงานนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและไม่ควรละเลย เนื่องจากมีผลกระทบอย่างสูงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งคนทำงานและสมาชิกในครอบครัว

ทำให้แนวโน้มของผู้ป่วยโรคระบบการหายใจเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เราควรใส่ใจ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและที่ทำงานเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดี ในขณะนี้ทางสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมโรคระบบการหายใจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 13 19-22 พฤศจิกายน 2551นี้ ซึ่งอยู่ในระหว่างการเตรียมงาน ในขณะนี้มีความคืบหน้า คือ เราได้เตรียมการสถานที่จัดประชุม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และที่พักโรงแรม กว่า 2,000 ห้องเพื่อรองรับผู้จะเข้าร่วมประชุมกว่า 2,000 คน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
 
ในการประชุมครั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพชั้นนำของโลกจะมาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในเรื่องโรคระบบการหายใจ รวมถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ในการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น