เวทีสรุปความเห็นร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เปิดช่องให้คนไทยมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนา ที่อาจจะมีผลกระทบรุนแรงตั้งแต่ริเริ่มโครงการ ทั้งการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน-นิวเคลียร์ เชื่อองค์การใหม่ช่วยลดความขัดแย้งในพื้นที่ พร้อมส่งร่างเข้าครม.ได้สิงหาคมนี้
แม้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ... หรือ "อรส." ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จะยังไม่เกิดขึ้นจริงในเวลานี้ ทว่าได้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ค.51 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดประชุมรับฟังและสรุปความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งองค์การดังกล่าวขึ้น ณ โรงแรมเซ็นจูรี พาร์ค กรุงเทพฯ พร้อมมีนักวิชาการ ตัวแทนภาครัฐ เอกชน ตลอดจนผู้แทนชุมชนกว่า 250 คน และผู้จัดการวิทยาศาสตร์เข้าร่วมงาน
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการศึกษา และยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว มีฐานมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งบรรจุมิติสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก
เรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสีเขียวของไทย โดยเน้นไปที่การปฏิรูปการเมืองประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และได้ส่งต่อมายังรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 67 วรรค 2 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
เขาชี้ว่า ประเด็นสำคัญขององค์การอิสระดังกล่าวคือ ความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองและราชการ ไม่ให้เกิดการสั่งการหรือการแทรกแซงใดๆ และความสัมพันธ์ที่ยึดโยงกันระหว่าง อรส.และภาคประชาสังคม โดย อรส.จะทำหน้าที่ให้ความเห็นรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในโครงการพัฒนาที่อาจมีผลกระทบรุนแรง พร้อมทั้งการเสนอแนวทางลดผลกระทบ ทางเลือกและทางออกของปัญหา การแนะนำประเด็นศึกษาเพิ่มเติม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและตัดสินใจของภาคประชาชน
อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่า องค์การอิสระดังกล่าวไม่มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบโครงการใดๆ
โครงการที่อาจมีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่เข้าข่ายการพิจารณาของ อรส. ได้แก่ โครงการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โครงการถมทะเล การทำเหมืองแร่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี การผลิตและปรับแต่งสารกัมมันตภาพรังสี การรวบรวมและบำบัดหรือกำจัดกากขยะของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมและขยะรีไซเคิล การก่อสร้างสนามบินและท่าเรือ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ องค์การอิสระใหม่ที่เกิดขึ้น จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในเวลา 120 วันนับจากวันที่ผู้ประกอบการนำเรื่องเสนอต่อรัฐ และจะมีการเปิดเผยข้อมูลให้แก่สาธารณะได้รับทราบ
"อรส.ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้มีขึ้นมา เพื่อจะไปคัดง้างกับโครงการพัฒนาใดๆ ของประเทศ แต่เราอยากให้โครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะมีขึ้นเป็นโครงการพัฒนาที่มีความยั่งยืนด้วย โดยจะมีการศึกษาทำงานกันตั้งแต่โครงการนั้นๆ ริเริ่มขึ้นก่อนที่จะมีการตัดสินใจ หรือการลงเสาเข็มไปแล้ว ซึ่งสายเกินไป" คณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ กล่าว
ด้าน ดร.มณทิพย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เสริมว่า องค์การอิสระข้างต้นจะเป็นตัวกลางที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ลดน้อยลง จากที่ผ่านมาภาคประชาชนขาดช่องทางการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เป็นเหตุให้เกิดการแสดงออกในรูปของม็อบ หรือการหันไปพึ่งพิงศาล
ขณะนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานจัดทำกฎหมายดังกล่าวได้จัดการรับฟังความคิดเห็น 4 ภาค ระหว่าง 16-31 พ.ค.51 เสร็จสิ้นแล้ว
ส่วนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุม นายสมพงษ์ อินทรสุวรรณ ประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จ.ชุมพร เสนอว่า ในการจัดทำรายงานอีไอเอของโครงการใดๆ บริษัทที่ปรึกษาโครงการ มักทำรายงานเข้าข้างบริษัทผู้ว่าจ้างตน ทำให้เลือกนำเสนอแต่ข้อดีของโครงการ และพยายามปกปิดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด จึงหวังว่า อรส.ที่เกิดขึ้นจะเข้ามาแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเพื่อให้รายงานอีไอเอเป็นรายงานที่ครบถ้วน เป็นกลาง และเที่ยงธรรม
เขายังแสดงความกังวลด้วยว่า อรส.ยังต้องสร้างความเข้าใจกับองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ก่อนแล้วในพื้นที่ด้วย เนื่องจากอำนาจหน้าที่ของ อรส.ตามที่กำหนดในร่างกฎหมาย ได้ลดบทบาทขององค์การอิสระเดิมอย่างมาก อาจทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา
อีกทั้ง นายสัญชัย สูติพันธ์วิหาร อีกหนึ่งคณะกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แจกแจงว่า องค์การอิสระใหม่จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งแน่นอน แต่จะเป็นการส่งเสริมกลไกที่มีอยู่แล้วให้มีช่องทางกว้างขวางขึ้นมากกว่า
ด้านนายมะลิ ทองคำปลิว ประธานเครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง และประธาน ทสม.พิษณุโลก แสดงความคิดเห็นบ้างว่า การที่ร่างกฎหมายได้กำหนดให้คณะกรรมการ อรส.มีเพียง 8 คน และประธานคณะกรรมการอีก 1 คนนั้นถือว่าน้อยเกินไปมากกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่สำคัญ โดยควรเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 15-25 คน
ที่สำคัญ เขามองว่า การกำหนดให้คณะกรรมการ 4 คน มาจากองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และอีก 4 คนจากสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพ ก็อาจไม่ได้ผู้ที่สัมผัสกับปัญหามาทำงาน เพราะโดยมากมักเป็นนักวิชาการส่วนกลาง จึงเสนอให้มีการสรรหาคณะกรรมการจากแต่ละภูมิภาคซึ่งสัมผัสกับปัญหาจริงๆ มาร่วมทำงานด้วย
ส่วนนายสวาง บัวจาร ประธานชมรมชาวบ้านฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งทำงานรณรงค์ต่อสู้กับมลพิษจากโรงงานกระดาษในพื้นที่มากว่า 12 ปี เผยอย่างน้อยใจว่า ที่ผ่านมารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยมักนำชาวบ้านมาเป็นข้ออ้าง
ทว่าเป็นการหลอกหลวงและไม่มีความจริงใจ พร้อมตัดพ้อว่าที่ผ่านมามักมีการประชุมหรือถกเถียงเพื่อหาแนวทางหรือกฎหมายฉบับใหม่ๆ ออกมา แต่กลับแทบไม่มีการปฏิบัติจริง ทำให้ประชาชนต้องต่อสู้ด้วยตัวเองมาโดยตลอด และแทบจะไม่มีแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีความคิดเห็นอื่นๆ ด้วย อาทิ การเสนอให้เพิ่มคำว่า "กลั่นกรอง" ลงในชื่อขององค์การอิสระ เพื่อให้สอดรับกับบทบาทหน้าที่มากขึ้น รวมถึงมีข้อเสนอการกำหนดเวลาทำงาน 120 วันของ อรส.ในการพิจารณาโครงการพัฒนาใดๆ ว่ามีช่องว่างมากและอาจทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลอย่างครบถ้วน เช่น การอพยพของสัตว์บางชนิดในบางฤดูกาล ซึ่งการเก็บข้อมูลเพียงบางช่วงเวลาอาจทำให้ได้ข้อสรุปว่าไม่มีสัตว์นั้นๆ ในพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับร่างกฎหมายที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ จะมีการนำกลับไปทบทวนโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อประกาศใช้ต่อไป.