วันแม่ทั้งที ผู้จัดการออนไลน์ขอถือโอกาสประมวลความทุกข์ของคุณแม่ยุคไอทีแสนสิวิไลซ์ คุณแม่หลายรายปวดหัวกับพฤติกรรมลูกสาวที่ดูต่อหน้าเหมือนผ้าพับไว้เรียบร้อย แต่พอคุณแม่ได้เห็น"Hi5"ของลูกสาวก็ต้องลมใส่ เพราะเนื้อความในนั้นแสดงชัดเจนว่าลูกสาวมีพฤติกรรมต่างไปจากหนูน้อยที่คุณแม่รู้จัก ขณะที่คุณแม่บางรายสุดเซ็งกับการติดเกมคอมพิวเตอร์หัวปักหัวปำของลูกชาย หิวไม่เป็นไรของให้นิ้วยังคลิกได้ ติดเกมไม่พอบางรายติดโทรศัพท์มือถือหนุบหนับ คุณแม่ปวดหัวลูก ป.5 ขอมีโทรศัพท์มือถือ
รู้จักลูกมากขึ้นด้วย Hi5
"รู้มานิดหน่อยว่าที่โรงเรียน ลูกสาวเรามีแฟนเป็นทอม แต่พอดูจากไฮไฟว์ทำให้รู้ว่า ทอมที่เป็นแฟนของลูกเรามีกิ๊กเป็นดี้อีกหลายคน ดี้พวกนี้เข้ามารุมว่าลูกเราในไฮไฟว์หยาบๆคายๆ ลูกเราเองก็เขียนตอบโต้สุดแรงเหมือนกัน" คุณแม่รายหนึ่งเล่าถึงลูกสาวที่เรียนโรงเรียนหญิงล้วน กำลังกลุ้มใจเพราะพฤติกรรมที่ลูกเป็น ต่างกับพฤติกรรมที่แม่เห็นอยู่ทุกวันอย่างชัดเจน
คุณแม่รายนี้ไม่ได้เข้าไปอ่าน Hi5 ของลูกสาวด้วยตัวเอง แต่เป็นลูกพี่ลูกน้องที่เข้าไปอ่านและนำข่าวมาบอก ลูกสาวนำชีวิตรันทดของตัวเองมาตัดพ้อด้วยการตั้งชื่อหัวเอ็มเอสเอ็นในทำนองว่า "มันหาว่ากูแ-ด" ซึ่งตอนนี้ตัวลูกสาวอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คุณแม่ทราบเรื่องของตัวเองจากโลกไฮเทคแล้ว
อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางรายมองว่าการเรียนรู้ลูกตัวเองจาก Hi5 เป็นเรื่องดี ทำให้ครอบครัวสามารถรับรู้ต้นเหตุปัญหาของลูกได้ก่อนที่จะสายเกินไป
"เด็กทุกคนเล่น Hi5 เป็นล่ำเป็นสัน Hi5 เป็นช่องทางที่เค้าจะปลดปล่อยได้แบบสนิทใจ ในอดีตเราไม่มี Hi5 พ่อแม่ไม่มีช่องทางรับรู้ว่าลับหลังไปแล้วลูกเราไปทำอะไร เมื่อตอนนี้เรามี Hi5 ถือว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้เราดูแลลูกได้ดีขึ้น"
หิวเกมไม่หิวข้าว
"พอได้แล้วนะ วันนี้ไม่จับหนังสือเลย จับเมาส์ทั้งวัน ข้าวปลาก็ไม่กิน" เสียงคุณแม่ข้างบ้านบ่นว่าลูกชายลอยมาตามสายลม คุณแม่รายนี้ต่อต้านลูกชายที่ติดเกมออนไลน์ทุกวัน บางวันใช้น้ำเย็นลูบ บางวันตบะแตกโวยวายเสียงดังได้ยินไปแปดบ้าน
เรื่องเด็กติดเกมเป็นปัญหาระดับชาติของเยาวชนไทย ร้านเกมออนไลน์ผุดขึ้นบริเวณใกล้โรงเรียนเป็นดอกเห็ด คุณแม่หลายรายยอมรับว่า ทั้งลูกชายและลูกสาวติดเกมเพราะติดใจความสนุกหลังจากได้ลิ้มลองเล่นพร้อมเพื่อนที่ร้าน แน่นอนว่า คุณแม่จำนวนไม่น้อยพยายามทำใจกับอาการติดเกมของลูกด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งเด็กเหล่านี้จะคิดได้เอง
ไม่ใช่แค่เกมออนไลน์ ตามร้านตู้เกมในกรุงเทพฯจำนวนมากล้วนมีเด็กเล็กเด็กโตส่งเสียงเอะอะคึกครื้น หลายร้านไม่มีการจัดเรทอายุเกมสำหรับเด็ก ล่าสุดผู้เขียนพบเด็กอายุไม่เกิน 6 ปีกำลังสวมบทโจรในเกม วาดลวดลายทุบตีเพื่อชิงทรัพย์แลกคะแนน ชวนให้หวั่นใจว่าเราจะฝากอนาคตของชาติไทยไว้ที่มือเด็กเหล่านี้ไหวหรือไม่
และไม่ใช่เฉพาะในเด็ก ผู้ใหญ่บางคนติดเกมคอมพิวเตอร์จนแฟนตัวเองทนไม่ไหว ประกาศขอเลิกเพราะฝ่ายชายเอาแต่เล่นเกมหลายคืนติดกัน ฝ่ายหญิงไม่มั่นใจว่าจะฝากชีวิตไว้กับผู้ชายประเภทนี้ได้หรือไม่
"เราทนมาหลายปีแล้ว คิดว่าจะไม่ทนอีกต่อไป" ฝ่ายหญิงเล่าว่า ฝ่ายชายเล่นเกม สูบบุหรี่ และกินข้าวอยู่หน้าคอมพ์ทุกวันหยุด จะเดินบ้างก็คือช่วงที่ไปเข้าห้องน้ำเท่านั้น "ไม่สงสัยเลยว่าแฟนคนที่แล้วของมันทำไมถึงเลิกกัน"
มือถือทำคุณแม่ปวดหัว
ทุกวันนี้ไม่มีใครขีดเส้นว่า เด็กๆยุคไอทีสมควรมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเองเมื่ออายุเท่าใด เมื่อเด็กป.5 รายหนึ่งขอร้องให้คุณแม่ซื้อโทรศัพท์มือถือให้ คุณแม่นิ่งไปพักใหญ่ก่อนจะถอนหายใจเฮือก
เรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือในเด็กเป็นประเด็นที่ต่างประเทศให้ความสนใจไม่แพ้ในเมืองไทย ทั้งในเรื่องความเหมาะสมและอันตรายด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งแม้งานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าควรต้องจำกัดการใช้งานโทรศัพท์มือถือในเด็กวัยสมองกำลังเจริญเติบโต เนื่องจากพบความเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็ง จะถูกหักล้างจากงานวิจัยของสถาบันมะเร็งมหาวิทยาลัย University of Pittsburgh ว่าไม่พบความเกี่ยวข้องระหว่างมะเร็งและโทรศัพท์มือถือ แต่แน่นอนว่าคุณแม่หลายรายไม่ปักใจเชื่อ และหวั่นใจไม่น้อยเมื่อลูกหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นแนบหู
"ตอนนี้เราได้ยินมาว่าเด็กใช้โทรศัพท์มือถืออาจทำให้เป็นมะเร็งได้ แน่นอนว่าฉันไม่มีทางรู้ว่าเรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน แต่สิ่งที่ฉันมั่นใจคือเด็กๆส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือ" คุณแม่ลูกสี่ชาวต่างชาติรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ คุณแม่รายนี้บอกว่าไม่เคยมองโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือรักษาความปลอดภัยให้ลูก เพราะเธอจะต้องรู้ว่าลูกอยู่ที่ไหนตลอดเวลา
ที่สหรัฐฯ มีหนังสือชื่อ "Bringing Up Geeks: How to Protect Your Kid's Childhood in a Grow-Up-Too-Fast World" ซึ่งกล่าวถึงวิธีปกป้องลูกน้อยจากโทรศัพท์มือถือวางจำหน่ายแล้วอย่างเป็นทางการ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า ชาวสหรัฐเองก็สนใจที่จะปกป้องเยาวชนไม่ให้ถูกเทคโนโลยีทำร้ายก่อนจะสายเกินแก้
การสำรวจพบว่า 21 เปอร์เซ็นต์ของเด็กชาวอเมริกันวัย 8 ถึง 10 ปีมีโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ 36 เปอร์เซ็นต์ของเด็กวัย 11 ถึง 14 ปีมีโทรศัพท์มือถือ ถือเป็นตัวเลขที่เชื่อว่าจะมีการขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต
นี่เป็นเพียงบางส่วนของเรื่องราวความกังวลในโลกยุคไอทีที่ไม่มีเทคโนโลยีใดแก้ไขได้ ขอให้บทความนี้เป็นกำลังใจให้คุณแม่ที่กำลังหนักใจพฤติกรรมลูก เพราะไม่ใช่คุณคนเดียวที่พบปัญหาเหล่านี้ แต่ยังมีคนหัวอกเดียวกันร่วมเดินทางไปกับคุณด้วย