กรมควบคุมโรคติวเข้ม แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัดและแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เตรียมพร้อมรับมือการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในอนาคต ให้แม่นยำการวินิจฉัย รักษาและควบคุมป้องกันโรค
วันนี้ (14 ส.ค) ที่โรงแรมรอยัล แม่โขง จังหวัดหนองคาย นพ.ศิริศักดิ์ วรินทราวาท รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการ แพทย์ พยาบาล นักวิชาการ จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานควบคุมป้องกันโรค ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ที่อยู่ในพื้นที่ 19 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 300 คน ในเรื่องการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกรมควบคุมโรคร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ศูนย์ความร่วมมือสหรัฐด้านสาธารณสุข และสถาบันคีนันแห่งเอเชียร่วมกันจัดขึ้น เพื่อพัฒนางานควบคุมป้องกันโรคและการวินิจฉัยรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ เตรียมรับมือกับการระบาดใหญ่ของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในโครงการเฝ้าระวังโรคในลุ่มน้ำโขง และการดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจประเทศในลุ่มน้ำอิรวดี เจ้าพระยา แม่โขงหรือเอคเมคส์ (ACMECS) เข้าร่วมประชุมด้วย 10 คน
นพ.ศิริศักดิ์ กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน ที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย แต่ละปีมีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกปีละมากกว่า 900,000 ครั้ง ในจำนวนนี้จะมีผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม ต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลประมาณปีละ 12,000-75,000 ราย สูญเสียค่ารักษาพยาบาลปีละกว่า 2 พันล้านบาท คาดการณ์ว่าหากเกิดการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในไทย ในขั้นต่ำอาจจะมีผู้ป่วยกว่าล้านคน และเสียชีวิตนับหมื่นคน ในขั้นสูงจะป่วยมากถึง 26 ล้านคน เสียชีวิตนับแสนคน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมมหาศาลด้วย จึงต้องเตรียมมาตรการเร่งด่วนรับมือกับโรคนี้ เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยง
ทั้งนี้ แพทย์ พยาบาล ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ ที่อาจจะดูว่าเป็นโรคทั่วๆ ไป เจอได้บ่อยรักษาง่าย แต่สิ่งที่ทั่วโลกกำลังกังวล คือ โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนก ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงต้องเข้มงวดเรื่องการรักษาและการตรวจวินิจฉัยให้แม่นยำ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ สามารถป้องกันตัวและดูแลตนเองในเบื้องต้น
ทางด้านนพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ ในปี 2550 มีรายงานผู้ป่วย 18,368 ราย เสียชีวิต 15 ราย ในปี 2551 นี้ ตั้งแต่มกราคม-สิงหาคม ได้รับรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 9,557 ราย เสียชีวิต 2 ราย ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบในภาคกลางมากที่สุด รองลงมาคือภาคอีสาน ภาคใต้และภาคเหนือ โดยมีรายงานมากที่สุดในเดือนมิถุนายน จำนวน 2,081ราย แต่คาดว่าจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานการณ์ที่แท้จริง มีมากกว่าจำนวนที่รายงานหลายเท่าตัว
สำหรับการวางแผนรับมือกับการระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ ประเทศไทยกำลังดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไข และเตรียมพร้อมรับปัญหาไข้หวัดนกและการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551-2553 มียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.จัดระบบการเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างปลอดโรค 2.การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ทั้งในคนและสัตว์ 3.การเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ และ4.ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุข ประชาชน ภาคธุรกิจ และนานาประเทศ
นอกจากนี้ ในปีนี้ได้จัดทำโครงการขยายการใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เริ่มในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน ได้แก่ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และมีโรคเรื้อรังประจำตัวด้วย คือ โรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ไตวาย โรคหัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาเคมีบำบัด รวมจำนวน 400,000 คน ส่วนการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลให้จัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีน ในวงเงิน 1,400 ล้านบาท เป็นโครงการ 5 ปี เริ่มต้นในปี 2551 ซึ่งจะสามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับให้บริการในภาครัฐและปรับไปผลิตวัคซีนสายพันธุ์ระบาดใหญ่ได้เมื่อเกิดปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่