xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยผู้ต้องขังป่วยวัณโรคสูงกว่าคนทั่วไป 11 เท่า เหตุแออัด-ขาดอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เผยผู้ต้องขัง ป่วยวัณโรคกว่า 1,500 คน สูงกว่าคนทั่วไป ถึง 11 เท่าตัว สาเหตุจากความแออัด และเผชิญปัจจัยเสี่ยง เช่น ขาดสารอาหาร ความเครียด ติดสารเสพติด รวมทั้งติดเชื้อ เอชไอวี ทำให้ติดเชื้อง่าย

วันที่ 8 ธันวาคม นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตรวจเยี่ยมเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อติดตามมาตรการควบคุมป้องกันโรควัณโรค โดย นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของเรือนจำทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากมีสภาพความแออัด ผู้ต้องขังอยู่กันอย่างหนาแน่น และยังมีปัจจัยเสี่ยงทำให้ผู้ต้องขังติดเชื้อวัณโรคง่าย ได้แก่ การขาดสารอาหาร ความเครียด การติดสารเสพติด รวมทั้งติดเชื้อ เอชไอวีมาก่อน ทำให้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ อัตราป่วยวัณโรค ของผู้ต้องขังจึงสูงกว่าประชากรทั่วไปถึง 11 เท่าตัว

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง มีผู้ต้องขังเป็นหญิงทั้งหมด 3,056 คน ติดเชื้อวัณโรค 13 คน ส่วนเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผู้ต้องขังเป็นชายทั้งหมด 4,410 คน มีผู้ป่วยวัณโรค 27 คน ทั้งนี้ ในภาพรวมของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ล่าสุด ในปี 2550 มีเรือนจำ/ทัณฑสถาน 141 แห่ง มีผู้ต้องขัง 163,000 คน พบผู้ป่วยวัณโรคทั้งหมด 1,511 ราย เมื่อเทียบอัตราป่วยต่อประชากรทุก 1 แสนคน พบว่า ในกลุ่มผู้ต้องขังมีอัตราป่วย 927 คน ในขณะที่ในกลุ่มประชาชนทั่วไปมีอัตราป่วยเพียง 85 ราย โดยในเรือนจำนั้น พบผู้ป่วยรายใหม่ที่มีเชื้อในเสมหะที่พร้อมนำไปติดคนอื่นได้ 907 ราย ในจำนวนนี้ติดเชื้อซ้ำ 140 ราย

“ในด้านการรักษา กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมควบคุมโรค ควบคุมวัณโรคในเรือนจำ ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ตามระบบควบคุมวัณโรคแห่งชาติ โดยให้กินยาฆ่าเชื้อติดต่อกัน 180 วัน มีพี่เลี้ยงกำกับติดตาม แต่ผลการรักษาหายขาดได้เพียงร้อยละ 77 ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 85 เนื่องจากผู้ต้องขังเสียชีวิตระหว่างรักษา และพ้นโทษก่อนรักษาครบกำหนด ขาดการรักษาต่อเนื่อง”นพ.ปราชญ์ กล่าว

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2552 นี้ สธ.มีนโยบายเร่งกวาดล้างวัณโรคให้หมดจากทุกพื้นที่ และจะทำให้เรือนจำทุกแห่งปลอดวัณโรค โดย สธ.ได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม ในการเร่งรัดควบคุมวัณโรคในเรือนจำ ตั้งเป้าค้นหาผู้ป่วยรายใหม่โดยเร็ว และเพิ่มอัตราความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อให้ได้มากกว่า หรือเท่ากับร้อยละ 85 โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดูแลผู้ป่วย ร่วมกับเจ้าหน้าที่พยาบาลในเรือนจำ เพื่อให้ระบบการดูแลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ มีระบบติดตามผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดยาและดื้อยา ส่วนผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีและตรวจหาเชื้อวัณโรคควบคู่ไปด้วย

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังร้อยละ 70 มีสิทธิตามโครงการ 30 บาท ใน กทม.ทัณฑสถานโรงพยาบาล เป็นหน่วยบริการหลักรับเงินโดยตรงจาก สปสช.ส่วนในต่างจังหวัดโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ จะให้บริการตามสิทธิ ส่วนผู้ต้องขังอื่นๆ ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ก็จะให้การสงเคราะห์ค่ารักษา ดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมา พบว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย


กำลังโหลดความคิดเห็น