xs
xsm
sm
md
lg

“ข้าวหมาก” กับคุณค่า “โปรไบโอติก” สไตล์ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าข้าวอยู่คู่กับวิถีการดำรงชีวิตคนไทยมาอย่างช้านาน ไม่เพียงแค่นำข้าวมาเป็นอาหารเท่านั้น แต่ด้วยคุณสมบัติพิเศษเกินตัวของข้าวจึงทำให้คนโบราณนำข้าวมาต่อยอดทางภูมิปัญญาเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการแปรสภาพข้าวให้เป็น “ข้าวหมาก” อาหารไทยโบราณที่ตอนนี้นับวันยิ่งจางหายไป
ข้าวหมาก (ในกระทง) และ หัวเชื้อยีสต์ปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการทำข้าวหมาก
** รู้จัก “โปรไบโอติก” แบบไทย
เมื่อเอ่ยถึง ข้าวหมาก จะว่าไปแล้วตั้งแต่เหนือจรดใต้ ในงานสำคัญ งานมงคลต่างๆ ต้องมีสิ่งนี้อยู่แทบจะทุกวาระสำคัญ แต่กับเด็กยุคปัจจุบันคงส่ายหน้าหากถามถึง และเพื่อความกระจ่างในข้อมูลที่น่าทึ่งเกี่ยวกับข้าวหมากนั้น

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาภูมิปัญญาไทย มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้ข้อมูลว่า ข้าวของไทยสามารถนำมาทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ซึ่งข้าวหมากก็เป็นภูมิปัญญาไทยในการแปรสภาพข้าวให้มีรสหวาน นำมาเป็นเครื่องปรุงรสกับอาหารหลายประเภท และด้วยความหลากหลายของสรรพคุณทำให้ในปัจจุบันมีการค้นพบ “โปรไบโอติก (Probiotics)” ในข้าวหมากขึ้น โดยมีลักษณะเป็นอาหารเสริมซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิต สามารถก่อประโยชน์ต่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่ โดยการปรับกลไกจุลินทรีย์ในร่างกายให้มีความสมดุล ทำให้ร่างกายสามารถสร้างเชื้อธรรมชาติในกระเพาะและลำไส้ที่ช่วยให้การย่อยดีขึ้น สร้างวิตามินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นตัวต้านสารอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต่างๆแก่ร่างกาย ทั้งยังช่วยป้องกันมะเร็งอีกด้วย

“ปัจจุบันมีการนำโปรไบโอติกบรรจุแคปซูลขายเพื่อส่งเสริมแก่ผู้รักสุขภาพ แต่ก็ต้องแลกด้วยราคาที่แพงไม่ใช่เล่น ซึ่งความเป็นจริงแล้วบ้านเราเองได้รับสารโปรไบโอติกมาอย่างช้านานจากข้าวหมากนั่นเอง ซึ่งคนโบราณอาจมีการนำแป้งข้าวหมากใส่เติมลงไปในยา หรือเป็นเครื่องปรุงในอาหารหลากหลายประเภท ดังนั้นคนไทยจึงมีการกินโปรไบโอติกมาตั้งแต่อดีต ซึ่งในต่างประเทศก็เช่นกัน อย่าง ญี่ปุ่น ก็จะอยู่ในรูปของถั่วเน่า หรือ นัตโตะ, เกาหลีก็อยู่ในกิมจิ หรือแม้กระทั่งอินเดียก็มีโยเกิร์ต โดยทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็คือโปรไบโอติกที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ
ภญ.ดร.สุภาภรณ์  ปิติพร
** เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ อธิบายต่อว่า ในอดีตเชื่อว่า ข้าวหมากจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการการเจริญเติบโตในเด็กให้ดีขึ้น จึงต้องกินตอนเช้าเพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายอบอุ่น และกระตุ้นให้แบคทีเรียภายในร่างกายทำงาน โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่แข็งแรง เหงื่อออกง่าย อ่อนเพลีย ตัวสั่น ก็มักจะให้กินข้าวหมาก และในผู้ใหญ่ที่เป็นไข้ ไม่มีแรง ผอมแห้ง หมอยาพื้นบ้านก็จะแนะนำให้คนไข้กินข้าวหมากกับน้ำต้มเคี่ยวของแก่นขี้เหล็ก ซึ่งหากมองในปัจจุบันก็จะพบว่าสิ่งเหล่านี้แทบจะไม่ถูกพูดถึง เนื่องจากแป้งข้าวหมากหายาก คนที่จะทำแป้งข้าวหมากก็ไม่มี

สำหรับวิธีการทำแป้งข้าวหมากนั้นอาจมีขั้นตอนที่ยุ่งยากแต่ก็สามารถทำได้ภายในครอบครัวโดยการ นำข้าวเจ้าไปแช่น้ำและตำให้ละเอียด แล้วนำมาคลุกกับเชื้อยีสต์ จากนั้นนำสมุนไพรที่มีทั้ง ข่า, ขิง, ชะเอม, อบเชย และ ดีปลี บดให้ละเอียดนำมาคลุกกับข้าวที่เตรียมไว้ จากนั้นบ่มทิ้งไว้ 2 วัน ขณะเดียวกันก็นำข้าวเหนียวมานึ่งแล้วมาล้างน้ำให้สะอาด นำแป้งผสมหัวเชื้อที่บ่มไว้คลุกลงในข้าวเหนียวที่นึ่งปิดฝาทิ้งไว้ระยะหนึ่งเชื้อยีสต์ก็จะเจริญเติบโตในข้าวเหนียวที่นำไปคลุก และจะได้มาเป็นข้าวหมากในที่สุด

“ตอนนี้อาหารการกินได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง อาหารที่ได้มาจากธรรมชาติหมดไป แทนที่ด้วยอาหารสำเร็จรูปที่อุดมไปด้วยสารเร่งต่างๆ ซึ่งเด็ก เยาวชนเองก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของอาหารเหล่านี้ ที่ทำให้พวกเขาต้องกินข้าว และให้เวลากับการดูแลสุขภาพน้อยลง อีกทั้งการที่เด็กได้รับแต่ของหวานจากอาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยวทั้งหลายเป็นประจำ จะส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวขึ้น ซึ่งยืนยันได้จากผลการวิจัยในต่างประเทศที่พบข้อมูลที่สำคัญนี้ ดังนั้น ทุกคนควรหันกลับมากินข้าวให้มากขึ้น เพราะข้าวนั้นยังมีสาร GABA ที่ทำให้เกิดการผ่อนคลาย นอนหลับ ป้องกันอัลไซเมอร์ และยังช่วยกระชับริ้วรอยต่างๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เราจะได้รับเมื่อเราหันมากินข้าวไทย”
ข้าวนานาพันธุ์
** อนุรักษ์ของไทยก่อนเลือนหายไป
ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ให้ภาพเพิ่มเติมว่า ณ เวลานี้ข้าวหมากมีขายตามร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า หรือตามตลาดสดอนุรักษ์ทั่วไป แต่ปัจจุบันจะมีการแต่งสี กลิ่น เพื่อให้รสชาติดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้หาข้าวหมากสูตรโบราณได้ยาก โดยกลุ่มคนที่ยังกินและรู้จักข้าวหมากจะอยู่ที่วัยกลางคนขึ้นไป แตกต่างจากเด็กรุ่นใหม่ที่แทบจะกินไม่เป็น อีกทั้งการที่มีการรณรงค์ให้งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ข้าวหมากก็พลอยได้รับผลนั้นตามไปด้วย เพราะในกระบวนการทำข้าวหมากนั้นจะมียีสต์ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลทำให้มีบางส่วนเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์บ้างเล็กน้อย

“จะเห็นได้ว่า ข้าวนั้นใช่ว่าจะมีคุณค่าในมิติของอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตเพียงอย่างเดียว แต่ข้าว ยังประกอบด้วย วิตามิน เกลือแร่ต่างๆ และเมื่อมองไปยังมิติด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ก็จะมีข้าวเป็นส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น และไทยเราก็มีข้าวที่หลากหลายสายพันธุ์จึงอยากให้คนรุ่นหลังเห็นความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์ ซึ่งจะกลายเป็นมรดกของชาติสืบต่อไป ดังนั้นเพื่อสร้างความตระหนักในส่วนนี้ภายในงาน “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 5” จึงได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ข้าวไทย ชีวิตไทย ชีวิตโลก” ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้ทุกมิติในเรื่องราวของข้าวกับสังคมไทย และยังรวมไปถึงความสำคัญของอาหารไทย สมุนไพรไทย แพทย์แผนไทย และองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพอีกมากมาย โดยงานจะมีขึ้นในวันที่ 3-7 กันยายนนี้ ณ ฮอลล์ 7-8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี... คนไทยที่รักษ์ความเป็นไทยจึงไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง” ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ทิ้งท้ายพร้อมทั้งเชิญชวน
กำลังโหลดความคิดเห็น