xs
xsm
sm
md
lg

เผยร่าง พรบ. คุ้มครองภูมิปัญญาไทย ป้องกันต่างชาติฉวยโอกาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักกฎหมายไบโอเทคร่วมอาจารย์จุฬาฯ วิจัยการออกกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ป้องกันคนนำไปใช้ในทางเสื่อม หรือต่างชาติหยิบฉวยไปจดสิทธิบัตร และแสวงหาประโยชน์ทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิมและงานวิจัยต่อยอด

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) แถลงผลงานวิจัยเรื่อง "การศึกษาวิจัยแนวทางการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น" ซึ่งไบโอเทคร่วมศึกษาวิจัยกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อวางแนวทางการออกกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศไทยไม่ให้ถูกละเมิดหรือนำไปใช้ในทางเสื่อม

ดร.ธนิต ชังถาวร นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา และนักวิจัยด้านกฎหมายเทคโนโลยีชีวภาพของไบโอเทค เผยว่า ประเทศไทยมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่หลากหลาย และอุดมสมบูรณ์ เป็นจุดเด่นดึงดูดให้ต่างชาติสนใจและนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์

แต่บางคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงนำไปใช้ในทางที่เสื่อมเสีย เช่น ชาวต่างชาตินำเศียรพระพุทธรูปจำลองไปใช้ในการแสดงสินค้าต่างๆ, นำหัตถ์ของพระพุทธรูปไปทำเป็นที่เขี่ยบุหรี่ หรือภาชนะวางสบู่ในห้องน้ำ, นำตู้พระธรรมไปทำเป็นตู้ใส่รองเท้า เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นการดูหมิ่นวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอย่างยิ่ง รวมทั้งการขาดผู้สืบทอดภูมิปัญญา ขาดการส่งเสริมการใช้หรือศึกษาวิจัยต่อยอด

"ที่สำคัญคือขาดกฎหมายคุ้มครอง จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาหยิบฉวยภูมิปัญญาของไทยไปวิจัยต่อยอดและจดสิทธิบัตรในต่างประเทศ เช่น กวาวเครือ, เปล้าน้อย หรือกรณีที่บริษัทต่างชาตินำท่าแม่ไม้มวยไทยไปดัดแปลงเพียงเล็กน้อย แล้วจดสิทธิบัตรเป็นท่าทางการออกกำลังกายท่าใหม่ โดยที่เจ้าของภูมิปัญญาเดิมไม่ได้รับประโยชน์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมีกรณีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วยชื่อฤาษีดัดตนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหากมองอีกแง่มุมหนึ่งอาจไม่มีความผิด เพราะเป็นการนำชื่อของภูมิปัญญาไทยไปแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้นำเอาองค์ความรู้ไปใช้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นช่องโหว่ของกฎหมายอีกเช่นกันที่จะต้องมีการคุ้มครององค์ความรู้และชื่อของภูมิปัญญานั้นๆ ด้วย เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางเสื่อมเสีย" ดร.ธนิต แจง

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวประกอบด้วย 3 โครงการ ได้การ โครงการศึกษากรอบความคิดการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย ซึ่งนักวิจัยได้ศึกษากฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทย และกฎหมายนานาชาติต่อการคุ้มครองภูมิปัญญา, โครงการวิจัยภาคสนามการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย โดยนำโครงการแรกไปหารือร่วมกับครูภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยทั่วทุกภูมิภาค และสุดท้ายจึงดำเนินเป็นโครงการยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

รศ.สุกัญญา สุจฉายา ผู้อำนวยการศูนย์คติชนวิทยา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า จากการที่ได้วิจัยภาคสนามร่วมกับครูภูมิปัญญาท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ รวมแล้วกว่า 100 คน ทำให้พบว่าการขาดผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และการนำไปใช้ในทางไม่เหมาะสม เช่น ภูมิปัญญาทางด้านศิลปะชั้นสูง และด้านศาสนา เป็นปัญหาที่คนท้องถิ่นต้องการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยให้ชาวบ้านได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

ส่วนความไม่รู้ขอบเขตในการถ่ายทอดภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นก็มีส่วนทำให้เกิดปัญญาการละเมิดภูมิปัญญาโดยชาวต่างชาติหรือถูกนำไปจดสิทธิบัตรในต่างประเทศได้ เช่น การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ที่ชาวต่างชาติมีโอกาสเข้าถึงภูมิปัญญาชาวบ้านได้ง่าย

อย่างไรก็ดี คำว่า "ภูมิปัญญา" ยังเป็นเรื่องสับสนในคนกลุ่มต่างๆ ดังนั้นจึงต้องมีการให้นิยามของคำว่า "ภูมิปัญญา" ให้ครอบคลุมภูมิปัญญาทุกอย่างในประเทศไทยและเป็นที่เข้าใจตรงกันทุกคน ซึ่ง ศ.พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินทร์ ภาคีสมาชิกสำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวรรณกรรมพื้นเมือง ราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย ได้ให้คำนิยามไว้ว่า "ภูมิปัญญา หมายถึง องค์ความรู้ที่กำเนิดหรือมีอยู่ภายในท้องถิ่นต่างๆ ในราชอาณาจักรไทย ซึ่งได้รับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอด พัฒนา เผยแพร่ หรือใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิต และมีคุณค่าเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป"

"นานาชาติเริ่มให้มีการขึ้นทะเบียนและจดทะเบียนภูมิปัญญากันแล้ว ซึ่งก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายให้ความคุ้มครองภูมิปัญญาของประเทศไทยจะช่วยแก้ปัญหาการละเมิดภูมิปัญญาไทยที่เคยมีมาได้" ดร.ประคอง เผย ซึ่ง ดร.ธนิต เพิ่มเติมว่า แม้แต่องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลกหรือไวโป (WIPO) ยังดำเนินการเพื่อหากฎหมายแม่แบบในการคุ้มครองภูมิปัญญาด้วยเช่นกัน

หลังจากดำเนินการวิจัยเป็นเวลา 1 ปี คณะนักวิจัยได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ซึ่งประกอบด้วย 6 หมวด 39 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ เช่น การส่งเสริมภูมิปัญญาโดยการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอดภูมิปัญญา การจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญา การขึ้นทะเบียนภูมิปัญญาที่สำคัญโดยคณะอนุกรรมการผู้ชำนาญเฉพาะสาขา การคุ้มครองภูมิปัญญาและชื่อของภูมิปัญญาที่ต้องขออนุญาติก่อนนำไปใช้เชิงการค้าหรือศึกษาวิจัย ห้ามนำไปใช้ในทางที่เสื่อมเสีย ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา และบทลงโทษสำหรับผู้ที่ละเมิดกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญา โดยกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดร.ธนิต กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาแล้ว การนำภูมิปัญญาไปใช้ศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่นำไปสู่การจดสิทธิบัตร เริ่มต้นก่อนการวิจัยจะต้องมีการขออนุญาตเจ้าของภูมิปัญญาเสียก่อน จึงจะสามารถจดสิทธิบัตรได้ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นการละเมิดภูมิปัญญา และมีความผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี การออกกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญานั้นจำดำเนินการโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป.


กำลังโหลดความคิดเห็น