xs
xsm
sm
md
lg

โขนดิจิตอล ศิลปะประยุกต์บนคอมพิวเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"โขน" นาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยอีกแขนงหนึ่งที่เต็มไปด้วยศิลปะและรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย บ่งบอกถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าออกมาได้ จากหลักฐานเกี่ยวกับโขนที่เป็นลายลักษณ์อักษรอันได้แก่ จดหมายเหตุของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่ระบุได้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาโขนได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ขณะที่ในปัจจุบัน เรามักจัดให้มีการแสดงโขนในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น เป็นมหกรรมบูชาในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระศพ พระบรมอัฐิ หรือจัดมหรสพสมโภชในงานฉลองปูชนียสถาน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ฯลฯ นอกจากนั้น โขน ยังสามารถจัดแสดงเป็นมหรสพเพื่อความบันเทิงทั่วไปได้อีกด้วย

สิ่งหนึ่งที่โขนสามารถสะกดตาของผู้ชมไว้ได้เป็นอย่างดีนอกจากบทร้อง และท่ารำ แล้วก็คือ เครื่องแต่งกาย เครื่องแต่งกายของผู้แสดงโขน เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย ฝีมือครูช่างไทยผู้ทุ่มเทออกแบบ แถมผู้ปักลวดลายยังต้องใช้จินตนาการสูง ทั้งการเลือกสีด้าย หรือวัสดุตกแต่ง เพื่อเปลี่ยนจากแบบร่างบนกระดาษ มาเป็นชุดที่สวยงามเสร็จสมบูรณ์ ความประณีตดังกล่าวส่งผลให้ระยะเวลาในการผลิตเครื่อง แต่งกายโขนบางชุดกินเวลาถึง 3 ปีเลยทีเดียว

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ หลายครั้งที่ความประณีตในการปักลวดลายไม่สามารถใช้ได้จริงบนเวทีการแสดง เช่น หากปักลายถี่เกินไป เมื่อมองจากระยะไกลกลับเห็นแต่ความแวววาววิบวับของชุดแทน

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิก ทำให้ในวันนี้ ศิลปะโขนได้มีโอกาสจับมือทำงานร่วมกับความไฮเทคได้อย่างลงตัว เมื่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย ดร.พิษณุ คนองชัยยศ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ได้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบชุดโขนขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย

"โครงการพัฒนาโปรแกรมออกแบบชุดโขนเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณต้นปีที่แล้ว (พ.ศ. 2550) เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการ ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาช่วยในการออกแบบชุดโขน ลักษณะการทำงานของโปรแกรม เป็นซอฟต์แวร์แบบ CAD ซึ่งในวงการวิศวกรรมจะใช้งานกันอยู่ทั่วไป เพราะช่วยให้นักออกแบบได้เห็นผลงานที่สร้างขึ้นก่อนในลักษณะสามมิติ และสามารถปรับแก้ได้ก่อนจะลงมือสร้างจริง"

ก่อนเริ่มต้นพัฒนาโปรแกรม จำเป็นต้องมีการศึกษาหาความรู้เรื่องลายผ้า ซึ่งทางทีมงานของ ดร.พิษณุได้รับความอนุเคราะห์จากครูช่างของกรมศิลปากรให้เข้าไปชมชุดโขนและเก็บข้อมูลต่าง ๆ อย่างถูกต้อง

"ปัญหาที่ได้รับทราบมาจากครูช่างก็คือ ในอดีตการแสดงโขนจะถอดแบบเครื่องแต่งกายมาจากเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีความประณีตมาก แต่กับชุดโขนนั้น หากปักลายถี่เกินไป เมื่อมองจากที่นั่งชมซึ่งอยู่ไกลออกไปอาจจะมองไม่เห็นรายละเอียด ดังนั้นเพื่อลดความผิดพลาดในการตัดเย็บ ซอฟต์แวร์ตัวนี้จะเป็นเสมือนเครื่องมือตัวหนึ่งในการจำลองภาพชุดที่ครูช่างได้ร่างเอาไว้ และมีฟีเจอร์เพิ่มเติมด้านการปรับแสงไฟบนเวที ซูมภาพเข้า-ออก หรือทดลองให้ตัวหุ่นร่ายรำได้ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชิ้นงานที่ผลิตออกมามีความสวยงามตรงกับความต้องการของผู้ออกแบบมากที่สุดครับ"

เพื่อไม่ให้การเข้ามาของเทคโนโลยีสร้างความลำบากใจให้แก่ครูช่าง โปรแกรมจึงมีหลักในการทำงานที่เรียบง่าย เพียงแค่นำแบบที่ครูช่างวาดลงบนกระดาษมาสแกนเป็น ไฟล์ดิจิตอล จากนั้นจึงนำมาขึ้นรูปอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้สามารถกำหนดลวดลาย ที่ต้องการ รวมถึงสามารถกำหนดสีด้าย วิธีการปัก การใช้เลื่อม รวมถึงแสงไฟบนเวทีได้ ผลลัพธ์คือภาพจำลองเสมือนจริงของชุดยามที่อยู่บนเวที

หากเปรียบโปรแกรมเป็นเสมือนเครื่องมือ อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่จะลืมไม่ได้ก็คือ ฐานข้อมูล ดร.พิษณุ เล่าว่า "ในช่วงนี้มีการทำฐานข้อมูลลายไทย วัสดุที่ใช้ตกแต่ง และเนื้อผ้าเอาไว้แล้ว รวมถึงสามารถกำหนดการเคลื่อนไหวของหุ่นในอิริยาบถต่างๆ เช่น ขยับตัว ยกแขนขา โดยสามารถมองเห็นรอยยับ-รายละเอียดเนื้อผ้าได้ ส่วนในอนาคตเรามีแผนจะเก็บข้อมูลท่ารำของศิลปะโขน เพื่อนำมาประยุกต์กับการจำลองชุดด้วย ซึ่งเราหวังว่าจะทำให้หุ่นสามารถแสดงท่ารำต่างๆ ได้จริงๆ ขณะสวมใส่ชุดด้วยครับ"

ปัจจุบัน ชิ้นส่วนต่างๆ ของชุดโขนจำนวน 22 ชิ้น ได้รับการแปลงเข้าสู่โปรแกรมแล้วเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความร่วมมือกับทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยถอดแบบให้ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านการแปลงศิลปะลายไทยเป็นสามมิติมากกว่า

เกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร ให้ความเห็นว่า "การทำงานของโปรแกรม ที่สามารถสร้างภาพจำลองสามมิติเครื่องแต่งกายโขนนั้นมีส่วนช่วยได้มาก เพราะเราสามารถออกแบบ ใส่ลวดลาย สีสัน รวมถึงการจำลองสภาพแสงได้ ภาพที่ปรากฏออกมาบนหน้าจอทำให้นักออกแบบสามารถปรับแก้ได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางกรมศิลปากรกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะร่วมมือกันฝึกอบรมการใช้งานโปรแกรมสำหรับเจ้าหน้าที่ต่อไป"

จากการออกสนาม เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะเครื่องแต่งกายโขนเพื่อการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว ดร.พิษณุเปิดเผยว่า ทำให้ได้เห็นถึงคุณค่าของภูมิปัญญาไทยได้เป็นอย่างดี

"อาจารย์ได้มีโอกาสเห็นชิ้นงานหลายชิ้น เช่น ช่างฝีมือสามารถทำลายนูนด้วยการ นำสำลี หรือด้ายบรรจุไว้ข้างใน ก่อนจะปักลายทับด้านบน เมื่อมองแล้วจะเห็นเป็นมิติ หรือ ลายปักบางลาย เมื่อปักด้วยฝีมือช่าง กลับเต็มไปด้วยความสวยงามและดูเป็นธรรมชาติกว่าเครื่องจักร เหล่านี้ทำให้เข้าใจได้ดีถึงสิ่งที่เรียกว่า ภูมิปัญญาไทย ทั้งหมดนี้เป็นวัฒน-ธรรมเป็นสิ่งที่มีเอกลักษณ์ในตัวของตัวเอง หากจะเปรียบในด้านคุณค่า เครื่องจักรชั้นดีก็สู้ฝีมือคนไม่ได้ เพราะเครื่องจักรยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถคิดเองได้ ขณะที่บ้านเรามีองค์ ความรู้หลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ แต่เรามักจะมองข้ามไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่วัฒนธรรมของเราไม่ได้รับการเผยแพร่มากเท่าที่ควรครับ"


กำลังโหลดความคิดเห็น