"โนวาตีส" ร่วมวิจัย "ไบโอเทค" 3 ปี พบสารออกฤทธิ์จากจุลินทรีย์ในธรรมชาติได้หลายชนิด เล็งพัฒนายารักษาโลกเขตร้อน ควบคู่ยาต้านมะเร็ง และยังเดินหน้าค้นคว้าต่อ ผอ.ไบโอเทคเผย เป็นโอกาสดีให้นักวิจัยไทยได้เรียนรู้กระบวนการแปลกใหม่จากภาคเอกชน
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยบริษัทโนวาร์ตีส สวิตเซอร์แลนด์ เผยความสำเร็จระยะแรก ของโครงการร่วมกันพัฒนายารักษาโรคจากสารธรรมชาติ พร้อมกับประกาศเดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 2 ต่อทันที ในงานแถลงข่าว ณ โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.51 ที่ผ่านมา โดยผู้จัดการวิทยาศาสตร์ และสื่อมวลชนอีกหลายสาขาเข้าร่วมงาน
ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผอ.ไบโอเทค เผยว่า จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จึงมีความน่าสนใจที่จะศึกษาหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เพระยาปฏิชีวนะเกือบทั้งหมด ล้วนได้มาจากจุลินทรีย์ ขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ประมาณได้ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่พบบนโลก มีอยู่ในประเทศไทยแล้วประมาณ 10%
"เฉพาะจุลินทรีย์ที่เป็นรา ในประเทศไทยมีรายงานการค้นพบแล้ว 6,000 ชนิด และยังเหลือที่รอการค้นพบอีกจำนวนมาก คาดว่ามีโอกาสพบเชื้อราในประเทศไทยได้มากถึง 150,000 ชนิด" ดร.กัญญวิมว์แจง และกล่าวว่า ในส่วนของไบโอเทคได้เริ่มสำรวจและค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับจุลินทรีย์มานานหลายปีแล้ว และมีการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลต่างๆ ของจุลินทรีย์ เอาไว้ในธนาคารจุลินทรีย์ เพื่อสะดวกในการจะนำมาใข้ประโยชน์ในครั้งต่อๆ ไป
สำหรับความร่วมมือกับโนวาร์ตีส ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 3 ปี ดร.กัญญวิมว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเป็นการประเมินศักยภาพของจุลินทรีย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะเชื้อรา รวมทั้งประเมินฤทธิ์ของสารสกัดจากจุลินทรีย์ว่าจะสามารถนำไปพัฒนายาใหม่ๆ ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งในความร่วมมือที่ผ่านมาทำให้ไบโอเทคได้ค้นพบจุลินทรีย์เพิ่มอีกกว่า 2,000 ชนิด
ด้าน ดร.แฟรงค์ ปีเตอร์เซ่น ผอ.ฝ่ายผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ สถาบันเพื่อการวิจัยด้ายชีวการแพทย์ของโนวาร์ตีส กล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก โดยเฉพาะความหลากหลายของจุลินทรีย์ ทั้งราและแบคทีเรีย จึงคาดว่าน่าจะมีโอกาสสูงที่จะค้นพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพชนิดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้หลายชนิด
โนวาร์ตีสสนใจพัฒนายารักษาหลายโรค ทั้งยาต้านมะเร็ง, โรคหัวใจ ที่พบได้ทั่วโลกและมีมูลค่าการแข่งขันด้านการตลาดสูง ตลอดจนยารักษาโรคที่เป็นปัญหาในเขตร้อน เช่น มาลาเรีย, ไข้เลือดออก, วัณโรค และโรคติดเชื้อชนิดต่างๆ
ทั้งนี้ โนวาร์ตีสจะนำจุลินทรีย์และสารสกัดต่างๆ ไปทดสอบในห้องแล็บของโนวาร์ตีส ที่ตั้งอยู่หลายแห่งทั่วโลก ทั้งในสวิตเซอร์แลนด์, สิงคโปร์ และสหรัฐฯ โดยการสกรีนสารสกัดจากจุลินทรีย์กับการออกฤทธิ์ต้านโรคต่างๆ ซึ่งก็พบว่า มีจุลินทรีย์หลายชนิดมีศักยภาพในการสร้างสารออกฤทธิ์ชนิดใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครพบมาก่อน
แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า สารสำคัญตัวไหนเป็นสารออกฤทธิ์ที่แท้จริง ซึ่งยังต้องใช้เวลาศึกษาและทดสอบต่ออีกหลายปีกว่าจะได้ตัวยาสัก 1 ชนิด
ส่วนความร่วมมือในโครงการระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.51 ไปจนถึง พ.ค 54 นั้น ผอ.ไบโอเทค เผยว่า จะประเมินศักยภาพของจุลินทรีย์ต่อเนื่อง จากระยะแรก โดยเปรียบเทียบจุลินทรีย์ในกลุ่มต่างๆ และมีการขยายขอบเขตชนิดของจุลินทรีย์ ที่จะศึกษาให้กว้างมากขึ้น ที่น่าสนใจคือจุลินทรีย์ในกลุ่ม แอคติโนมัยซิส (Actinomyces) เพราะที่ผ่านมาก็มียาหลายชนิด ที่ได้มาจากจุลินทรีย์ประเภทนี้ จึงน่าจะมีโอกาสพบสารออกฤทธิ์ใหม่ๆ ได้อีกมาก
นอกจากนี้ ไบโอเทคยังมุ่งเน้นสร้างความสามารถของนักวิจัยด้วย ซึ่ง ดร.กัญญวิมว์ เผยว่า มีทั้งนักวิจัยจากโนวาร์ตีสมาอบรมให้นักวิจัยไทย และให้ทุนนักวิจัยไทยไปเรียนรู้กับทางโนวาร์ตีส ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งดำเนินการไปแล้วจำนวน 6 ทุน
"สิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับจากความร่วมมือกับบริษัทยาของต่างชาติ คือได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นอกเหนือไปจากเทคนิคที่ใช้ในงานวิจัย ซึ่งสามารถทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาได้ ตลอดจนกระบวนการทำงาน, กระบวนการคิด และการตัดสินใจของภาคเอกชนว่าเขาทำกันอย่างไร จึงประสบความเร็จได้"
"เพราะบริษัทเอกชนลักษณะนี้จะมีความลับเยอะมาก ต่อให้เรามีเงินมากแค่ไหน เขาก็คงไม่ยอมให้เราเข้าไปเรียนรู้การทำงานกับเขาได้ง่ายๆ" ผอ.ไบโอเทค เผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์ที่เกิดจากความร่วมมือกันของ 2 องค์กรนี้ ดร.ธนิต ชังถาวร ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเทคโนโลยีชีวภาพของไบโอเทค กล่าวว่า จุลินทรีย์และสารที่สกัดได้จากจุลินทรีย์ ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้อยู่แล้ว
"แต่หากไบโอเทคหรือโนวาร์ตีส สามารถพัฒนาต่อยอดจนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ ก็สามารถยื่นขอจดสิทธิบัตรได้ และสิทธิบัตรนั้นก็เป็นของฝ่ายที่พัฒนาองค์ความรู้นั้นขึ้นมา ซึ่งจะไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรร่วมกัน เพราะต่างฝ่ายต่างทำงานวิจัยแยกกัน" ดร.ธนิตอธิบาย
"แต่โนวาร์ตีสจะต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ไทย หากนำเอาจุลินทรีย์และสารสกัดจากจุลินทีย์ของไทย ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดเชิงพาณิชย์" ดร.ธนิตกล่าว
ทางด้าน ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสของไบโอเทค กล่าวเสริมว่า การที่โนวาร์ตีสจะผลิตยา ที่ได้จากสารออกฤทธิ์ที่พบในจุลินทรีย์ของไทย เป็นเรื่องในอนาคตอีกยาวไกลหลายสิบปี เพราะยังต้องใช้เวลาศึกษา และทดสอบหลายขั้นตอน กว่าจะได้ยาแต่ละชนิดออกมา ส่วนราคายาก็คงต้องขึ้นอยู่กับทางบริษัทที่ผลิต แต่เชื่อว่าหากเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ก็น่าจะทำให้การเจรจาต่างๆ ง่ายขึ้นได้
นอกจากนี้ ศ.ดร.มรกต ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางไบโอเทคยังได้สนใจค้นหายาปฏิชีวนะใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้กับสัตว์ด้วย เนื่องจากว่าประเทศไทยมีจุดเด่นด้านเกษตรกรรม และมีการเพาะเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิด ซึ่งเมื่อสัตว์มาอยู่รวมกันในฟาร์มเพาะเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ก็มีโอกาสเกิดโรคได้ง่ายกว่าในธรรมชาติ.