xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยจุฬาฯ ศึกษาแบคทีเรียดื้อยา ช่วยหมอรักษา "โรคกระเพาะ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ธนิษฐา ฉัตรสุวรรณ
นักวิจัยจุฬาศึกษาการดื้อยาเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุ "โรคกระเพาะ" ช่วยแพทย์รักษาคนไข้ ระบุยาปฏิชีวนะที่แพทย์เลือกใช้รักษาผู้ป่วยมากที่สุด มีการดื้อยาเป็นอันดับสอง ขณะที่ยาซึ่งแพทย์เลือกใช้น้อยกลับมีการดื้อยาสูงอันดับหนึ่ง คาดอาจมีสาเหตุจากผู้ป่วยใช้ยาอื่นอยู่ก่อน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมูลนิธิกระจกอาซาฮี ร่วมจัดการประชุมสัมมนาพิเศษครั้งที่ 16 เรื่อง "วิทยาศาสตร์สุขภาพและวัสดุศาสตร์: ผลงานวิจัยจากทุนมูลนิธิกระจกอาซาฮี" เมื่อวันที่ 1 ก.ค.51 ณ อาคารจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตรได้เข้าร่วมภายในงาน ที่มีการมอบทุนจากมูลนิธิประจำปี 2551 และการบรรยายพิเศษของนักวิจัยที่ได้รับทุนปีที่ผ่านๆ มา

ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษของ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงผลงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากที่สุดประจำปี 2550 โดยได้บรรยายในหัวข้อ "วิทยาศาสตร์สุขภาพ: ยุทธศาสตร์เพื่อการวิจัยให้ได้ผลกระทบอ้างอิงสูงและยั่งยืน" (Health Science: Strategies for High Impact Factor and Sustainable Reserch)

สำหรับการนำเสนอผลงานของนักวิจัยทุนมูลนิธิกระจกอาซาฮี แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคืองานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยแต่ละกลุ่มได้แยกห้องบรรยายเพื่อนำเสนอผลงาน และผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เลือกฟัง การนำเสนอผลงานในกลุ่มวิทยาศาสตร์การแพทย์

ในกลุ่มงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผศ.ดร.ธนิษฐา ฉัตรสุวรรณ นักวิจัยจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับทุนจากมูลนิธิได้นำเสนองานวิจัยเรื่องการดื้อยาของเชื้อ "เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลรี" (helicobacter pylori) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคและแผลในกระเพาะอาหาร ทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารด้วย

หลังจากนำเสนอผลงานแล้ว ดร.ธนิษฐาได้ให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมว่าได้ศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการดื้อยาของเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ หลายชนิด อาทิ เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) อันเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วง เชื้อสเตปโตคอคคัส นิวโมนิอี (Steptococcus pneumonii) อันเป็นสาเหตุของโรคปอดบวม เป็นต้น และเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะก็เป็นเชื้ออีกชนิดที่สนใจ

เดิมที่มีความเข้าใจว่า โรคกระเพาะนั้นเกิดจากการหลั่งกรดในกระเพาะที่มากเกินไปแต่ ดร.ธนิษฐาระบุว่า ปัจจุบันเราทราบแล้วเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัด ว่าคนเราได้รับเชื้อดังกล่าวมาจากที่ใด เกิดจากการติดเชื้อคนสู่คนหรือสิ่งแวดล้อมสู่คน อีกทั้งไม่ใช่ทุกคนที่มีเชื้อดังกล่าวแล้วจะเป็นโรคกระเพาะ

ในการรักษาโรคกระเพาะนั้นแพทย์ต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 2 ชนิดร่วมกับยาลดการหลั่งกรด ซึ่งจากการศึกษาการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิดที่แพทย์ใช้ในการรักษาผู้ป่วย ดร.ธนิษฐาพบว่าแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ดื้อยาซิโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) มากที่สุดถึง 20.59% รองลงมาคือเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) 19.6% และคลาริธรีไมซิน (Clarithremycin) 8.82%

"ทั้งนี้แพทย์นิยมใช้เมโทรนิดาโซลในการรักษาผู้ป่วยโรคกระเพาะมากที่สุด ขณะที่ซิโปรฟลอกซาซินเป็นยาปฏิชีวนะที่แพทย์ไม่ค่อยเลือกใช้ ดังนั้นการพบว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยาชนิดหลังจึงมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นไปได้ว่าคนไข้อาจกินยานี้รักษาโรคอื่นจึงทำให้เกิดการดื้อยาขึ้น" ดร.ธนิษฐากล่าวและระบุว่าการศึกษาของเธอซึ่งยังอยู่ในขั้นต้นนั้นจะเป็นข้อมูลช่วยในการรักษาผู้ป่วย โดยแพทย์อาจวินิจฉัยว่าควรตรวจดูการดื้อยาหรือไม่หรือจะให้ยารักษาแก่ผู้ป่วยไปก่อน

นอกจากนี้ ดร.ธนิษฐาระบุอีกว่ายังศึกษาการกลายพันธุ์ของยีนในเชื้อแบคทีเรียซึ่งมีผลต่อการดื้อยาด้วย โดยได้ศึกษาการกลายพันธุ์ในยีนอาร์ดีเอกซ์เอ (rdxA) ซึ่งเป็นยีนที่สร้างโปรตีนเอนไซม์ไนโตรรีดัคเตส (nitroreductase) ทั้งนี้เอนไซม์ดังกล่าวจะเติมอิเล็กตรอนให้ยาปฏิชีวนะและทำให้ยาอยู่ในสภาพที่ทำงานได้เมื่อเข้าไปอยู่ในเซลล์ของแบคทีเรีย แต่เมื่อยีนกลายพันธุ์จะทำให้เอนไซม์มีสภาพเปลี่ยนไปและไม่สามารถจำกัดเชื้อแบคทีเรียได้

"อย่างไรก็ดียังสรุปไม่ได้ชัดเจนว่ากลไกอะไรบ้างที่ทำให้เชื้อดื้อยา และยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไป" ดร.ธนิษฐาสรุป.
กำลังโหลดความคิดเห็น