xs
xsm
sm
md
lg

เตือนกินเมนูหมูดิบ เสี่ยงตายเฉียบพลัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผย เมนูยอดนิยม เช่น ลาบ หลู้ หมูดิบ รับประทานไม่ระวังอาจได้รับเชื้อแบคทีเรีย สเตรปโตคอกคัส ซูอิส อันตรายถึงขั้นหูหนวก อัมพาต และเสียชีวิต แนะบริโภคเนื้อหมูต้องปรุงให้สุก อย่ากินดิบหรือสุกๆ ดิบๆ อย่างเด็ดขาด ส่วนผู้ชำแหละหรือสัมผัสหมู ควรสวมถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ลาบ หรือหลู้ จากหมูดิบ มักผสมเลือดหมูสดคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน จัดเป็นอาหารพื้นบ้านดั้งเดิมที่มีรสชาติถูกปากผู้บริโภคในภาคเหนือ แต่อาหารชนิดนี้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและชีวิตผู้บริโภคอย่างคาดไม่ถึง ประชาชนโดยทั่วไปยังขาดความรู้ และไม่ตระหนักถึงพิษภัยดังกล่าว จึงมักมีข่าวผู้เสียชีวิตและพิการเกิดขึ้นเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ จากข้อมูลปี 2550 พบว่า จังหวัดพะเยามีผู้ป่วยได้รับเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส จากการบริโภคลาบหลู้หมูดิบในงานศพ 300 ราย มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดหัว มีไข้ขึ้นสูง และมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ขณะที่รายงานจากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544-2550 จังหวัดลำพูนพบผู้ติดเชื้อเฉลี่ยปีละ 20 ราย เชียงใหม่ 10 ราย โดยพบมากในช่วงฤดูฝน

ล่าสุด ในระหว่างวันที่ 2-8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ ได้รับตัวอย่างจากโรงพยาบาล 4 แห่ง ของจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ และน่าน ซึ่งเป็นตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์ที่แยกได้จากคนไข้ รวม 52 ราย เป็นชาย 45 ราย หญิง 7 ราย ที่บริโภคลาบหมูดิบ ซึ่งแพทย์สันนิษฐาน ว่า ทั้งหมดป่วยจากการได้รับเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส และจากการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain Rcaction) พบว่า เป็นเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส โดยเป็นชนิดสายพันธุ์ 2 จำนวน 46 ราย ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวจัดเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงสูง

เชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในหลายภูมิภาคของโลกที่มีการเลี้ยงหมู มักพบบริเวณโพรงจมูก ต่อมน้ำลาย หรือต่อมทอนซิลของหมู บางครั้งอาจพบที่ช่องคลอด สำหรับคนที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆดิบๆ และผู้ที่สัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งจากหมูมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อและเจ็บป่วยได้ โดยจะแสดงอาการหลังจากที่รับประทานหมูดิบภายใน 1-3 วัน อาการในระยะแรกจะคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คอแข็ง ปวดกระบอกตา เดินเซ การได้ยินลดลงจนถึงไม่ได้ยิน ในรายที่ติดเชื้อรุนแรง เชื้อจะแพร่กระจายไปในกระแสเลือด จนเกิดการชักเกร็งและเสียชีวิต ประมาณการได้ว่าผู้ป่วยร้อยละ 50 ที่มีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เมื่อหายป่วยจะสูญเสียการได้ยินจนถึงขั้นหูหนวกและสูญเสียการทรงตัวจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ดังนั้น หากพบอาการดังกล่าวให้สงสัยว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อและควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า เพื่อความปลอดภัยจากการได้รับเชื้อดังกล่าว ประชาชนควรเลิกบริโภคหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ รวมทั้งระมัดระวังอาหารที่ใช้เนื้อหมูเป็นส่วนประกอบ เช่น หมูกระทะ หมูจุ่ม หมูปิ้ง ต้องให้แน่ใจว่าสุกจริงก่อนบริโภค ซึ่งโดยปกติเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส เมื่อถูกความร้อนที่ 70 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที จะถูกทำลายจนหมด และอาหารนั้นจะสามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย สำหรับผู้ชำแหละหรือผู้สัมผัสเนื้อหมูควรสวมถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามหากมีเหตุการณ์ที่น่าสงสัยว่าเนื้อหมูจากแหล่งใดอาจปนเปื้อนเชื้อนี้จนน่าจะเป็นอันตราย สามารถประสานงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ตรวจสอบ หรือนำตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น