xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำให้การนักศึกษาแพทย์ ขึ้นค่าปรับเบี้ยวใช้ทุนแก้ผิดจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนแพทย์ โดยเฉพาะในระบบราชการ ซึ่งปัจจุบันมีแพทย์ทั่วประเทศประมาณ 32,000 คน ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 11,000 คน แถมในจำนวนนี้บางส่วนลาศึกษาต่อแพทย์เฉพาะทาง ทำให้เหลือแพทย์ปฏิบัติงานจริงประมาณ 8,300 คน เท่านั้น

ด้วยเหตุและปัจจัยดังกล่าว ทำให้แพทย์ตกอยู่ในภาวะที่ต้องทำงานหนัก ดูแลประชาชนเฉลี่ยคนละ 4,000-5,000 คน ขณะที่ต่างประเทศ แพทย์ 1 คน ดูแลประชาชนเฉลี่ยเพียง 700-800 คน

ดังนั้น หลายฝ่ายจึงมีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ โดยข้อเสนอที่กลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดขณะนี้ ก็คือ การเพิ่มค่าปรับแพทย์ที่ออกก่อนใช้ทุนครบ 3 ปี

“ศุภโชค เกิดลาภ” นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย สะท้อนอีกมุมมองหนึ่งจากใจของผู้ที่จะเป็นแพทย์ในอนาคต ว่า เห็นด้วยหากจะมีการเพิ่มค่าปรับแพทย์ที่ออกก่อนใช้ทุนครบ แต่คงจะต้องศึกษาว่า ค่าใช้จ่ายในการผลิตแพทย์ต่อคน เป็นเท่าไหร่ คงต้องดูว่าค่าปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ 10 ล้าน เยอะเกินไปหรือไม่สมเหตุสมผลสอดคล้องกันหรือไม่ เมื่อก่อนการคิดค่าปรับใช้เกณฑ์อะไร และควรมีการหารือกันอย่างเปิดเผย นำข้อมูลเก่ามาเปรียบเทียบกับข้อมูลใหม่

“ที่สำคัญคงต้องดูวัตถุประสงค์ที่ปรับขึ้น เพราะหากปรับขึ้นเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อ ก็ไม่มีปัญหา ยอมรับได้ ดังนั้น น่าจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำเพราะอะไรและจะเริ่มใช้กับนักศึกษาแพทย์เมื่อไหร่ หรือเพิ่มระยะเวลาที่ใช้ทุนด้วยหรือไม่ แต่ตอนนี้ผมไม่แน่ใจวัตถุประสงค์ว่าขึ้นเพราะอะไร อยากให้แพทย์ใช้ทุนต่างจังหวัดมากขึ้นหรือเปล่า”

“ผมไม่เห็นด้วยเลย ถ้าจะมีการเพิ่มค่าปรับ เพราะต้องการให้แพทย์ใช้ทุนครบ 3 ปีหรืออยู่ในระบบนานขึ้น เนื่องจากเชื่อว่านักศึกษาจะไม่มีเงินจ่ายคืนแล้วต้องใช้ทุนต่อไป ซึ่งการดำเนินการลักษณะแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นการแก้ผิดจุด”

ศุภโชค ให้ภาพระบบแพทย์ใช้ทุนด้วยว่า ตอนนี้แพทย์ใช้ทุนไม่เหมือนในอดีตแต่ก่อนแพทย์ใช้ทุนที่ต้องไปทำงานในต่างจังหวัด จบแล้วก็ต้องมานั่งแท่นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลยทันที ทั้งๆ ที่ยังงงกับระบบราชการ โรงเรียนแพทย์สอนให้รักษาเป็นหลัก การเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม่ได้มีอยู่ในหลักสูตร ดังนั้น จึงมักไม่รู้เรื่องการบริหารงาน ที่สำคัญหลายคนไม่ได้อยากเป็นหมอนักบริหาร

ไม่เพียงเท่านั้น บางครั้งต้องทำทุกอย่างในโรงพยาบาลเพราะมีอยู่คนเดียว บางคนจึงรู้สึกว่าต้องถึงขนาดนี้เลยหรือ ต้องวิ่งไปหา อบต.อบจ.ขอร้องให้ช่วยนั่นนี่ ทั้งๆ ที่ตั้งใจจบมาดูแลช่วยเหลือคนป่วย ขณะเดียวกัน พอเจอกับผู้ป่วยจริงๆ ส่วนใหญ่ที่มาหาหมอก็กลายเป็นโรคทั่วไป เช่น ปวดหัว เป็นไข้ หรือบางคนรู้สึกว่าอยู่ตรงนี้แล้วไม่ก้าวหน้า

ขณะที่ปัจจุบันแพทย์ทุกโรงพยาบาลมีแพทย์ประจำอยู่แล้ว ปัญหาความขาดแคลนต่างๆ น้อยลง มีรุ่นพี่ มีระบบพี่เลี้ยง มีการให้คำแนะนำ คำปรึกษาที่ดี ทำให้แพทย์ใช้ทุนโดยสมัครใจมากขึ้น แต่ก็ไม่100% และถึงแม้จะอยู่ต่างจังหวัดคนก็ยังอยากอยู่ส่วนกลาง ในโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลจังหวัด

“ต้องยอมรับว่า ถึงจะเรียนมา 6 ปี แต่ยังไม่มีประสบการณ์มากพอในการรักษาทุกๆ โรคได้ อาชีพแพทย์ต้องฝึกใช้ทักษะไม่ใช่แค่ 1-2 ปี แต่อาจต้องเป็น 10 ปี หรือนานกว่านั้น การใช้ทุนจึงถือเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แต่หากในช่วง 3 ปี ถึงแม้จะใช้ทุนครบแล้ว แพทย์บางส่วนก็ไม่อยากอยู่ในระบบราชการต่อเพราะสภาวะแวดล้อมไม่เอื้อให้อยู่ ไม่มีอะไรสนับสนุนมีแต่ความขาดแคลน แต่ปัจจุบันเท่าที่ได้สัมผัสโรงพยาบาลชุมชนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก พี่ๆ ที่อยู่ที่นั้นอยู่แล้วใช้ทุนมากขึ้น เราไม่ได้โดดเดี่ยว ขณะที่บางคนอาจเรียนต่อ และมีแนวโน้มในการกระจายตัวมากขึ้น เรียกว่าดีกว่าเมื่อก่อน”

นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย เล่าต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีหลายลู่ทางให้นักศึกษาแพทย์ที่จบออกไปแล้วได้เลือกมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ทุนแค่ปีเดียว จากนั้นอาจไปเรียนต่อในสาขาเฉพาะทางที่มีความสนใจเพื่อเป็นการเพิ่มทักษะแต่ต้องจ่ายเงินใช้ทุน 2 ปี จากนั้นกลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ใช้ทุนไปด้วยทำงานไปด้วย แต่อาจไม่กระจายแพทย์ไปสู่ชนบท

อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้แพทย์ที่เรียนต่อเฉพาะทางกลับมาทำงานในชุมชนต่อ ไม่ให้รั่วออกไปก็เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งตรงนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาดูแลด้วย เพราะหากแพทย์ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนจะได้รับเงินเดือนหรือผลตอบแทนมากกว่าอยู่โรงพยาบาลรัฐถึง 10 เท่า และกลายเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้แพทย์ตัดสินใจออกจากระบบราชการ

ดังนั้น การแก้ปัญหานอกจาก สธ.จะขึ้นค่าปรับแพทย์แล้ว ก็ควรขึ้นเงินเดือนแพทย์ไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งควรจัดระบบจัดสวัสดิการ เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน

ศุภโชค เล่าว่า ภาพที่เขาเห็น ขณะนี้คือ แพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลจังหวัด ก็เป็นทำงานเป็นแพทย์แบบพาร์ทไทม์ในโรงพยาบาลเอกชน และเป็นแพทย์ฟูลไทม์ในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งก็ยังดีเพราะยังช่วยให้แพทย์ยังคงอยู่ในระบบ ไม่ออกไปอยู่เอกชน 100%

“บางครั้งการใช้เงินเป็นสิบๆ ล้านให้คนอยู่ในระบบนานขึ้น ก็ไม่เท่ากับขวัญ กำลังใจ ในการทำงาน และคงเป็นไปได้ยากหากจะบังคับให้คนทำงานโดยไม่มีความสุขในการทำงานเลย” ศุภโชคแจกแจง

ด้าน น.ส.ปัณณสรณ์ เลิศสัจญาณ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต บอกว่า ถึงแม้ตนเองจะไม่ต้องเสียค่าปรับเพื่อชดใช้ทุน เนื่องจากเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน แต่ก็เห็นว่าการขึ้นค่าปรับใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขจะจัดเก็บจาก 4 แสนบาท เป็น 4-10 ล้านบาท ดูเหมือนจะเยอะเกินไป ควรจะมีการวิเคราะห์หาต้นทุนที่แท้จริง รัฐไม่ควรเอากำไรจากนักศึกษา ทั้งๆ ที่เป็นการผลิตแพทย์ให้กับประเทศอยู่แล้ว

“ขณะนี้ค่าใช้จ่ายในการเรียนแพทย์ 6 ปี เฉพาะในมหาวิทยาลัยเอกชน รวมค่าหน่วยกิจ ค่าธรรมเนียม ค่าหนังสือ อุปกรณ์ และอาจารย์ใหญ่แล้ว ประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อคน ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการกินอยู่แต่ละวัน อีกทั้งในปีต่อๆ ไป รุ่นน้องจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก เพราะค่าเทอมขยับขึ้นจาก 5 หมื่นบาทเป็น 8 หมื่นบาท” น.ส.ปัณณสรณ์ ให้ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการศึกษาคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งต่างกับมหาวิทยาลัยของรัฐอย่างมาก

...อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจะมีการระดมความคิดเห็นครั้งใหญ่จากหน่วยงานที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 ส.ค.นี้โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในวันนั้นน่าจะทำให้เห็นคำตอบและหนทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมและชัดเจนขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น