“หมอประเวศ” ชี้ ปัญหาแพทย์สมองไหลต้องแก้เชิงระบบ มากกว่าเพิ่มค่าปรับแพทย์ออกก่อนใช้ทุน เสนอให้นักวิชาการวิเคราะห์ต้นทุนทั้งระบบ ตีแผ่ให้สังคมรับรู้ พร้อมแนะ รพ.เอกชน ตั้งโรงเรียนผลิตแพทย์ พยาบาลเหมือน “ฮาร์วาร์ด” ขณะที่ นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย รับได้ถ้าขึ้นค่าปรับตามภาระเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ไม่เห็นด้วยช่วยให้หมออยู่ในระบบนานขึ้น
นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ยังไม่มีใครมาดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องมองในเชิงระบบที่ใหญ่กว่าการเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ กรณีที่ลาออกก่อนใช้ทุนครบ ซึ่งนักวิชาการจะต้องวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังให้สังคมได้รับรู้ หลังจากนั้นจึงมาคิดหารูปแบบวิธีการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับสังคม
“จะต้องวิเคราะห์รายละเอียดต่างๆ อาทิ ต้นทุนที่รัฐต้องลงทุนไปกับการผลิตแพทย์แต่ละคนเป็นจำนวนเท่าใด แหล่งเงินทุนที่รัฐสนับสนุนมาจากไหน มาจากภาษีรัฐหรือไม่ ภาษีดังกล่าวเป็นภาษีทางตรงของผู้มีรายได้มาก หรือภาษีทางอ้อมที่ส่วนใหญ่ 70-80% ของภาษีทั้งหมดเป็นภาษีทางอ้อม ที่คนจนเป็นผู้จ่ายเวลาซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ แต่เมื่อผลิตแพทย์กลับไม่ได้ให้บริการคนจนผู้เป็นแหล่งเงินภาษี” นพ.ประเวศ กล่าว
นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีการใช้หลักการค้าเสรี ทางด้านสุขภาพไทยก็ต้องการให้เป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพ โรงพยาบาลเอกชนจึงเปิดเป็นเขตการค้าเสรี ชาวต่างประเทศก็นิยมมาใช้บริการทางด้านสุขภาพกับไทย เพราะมีราคาถูก ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเห็นว่าเม็ดเงินนี้เป็นรายได้ของประเทศ โดยที่เป็นการกระทบกระเทือนการภายในของประเทศโดยยอมจ่ายเงินเป็น 10 เท่าของเงินเดือนภาครัฐ ดึงแพทย์ออกจากระบบการให้บริการคนจน ซึ่งมาจากระบบทุนนิยม
“คงจะต้องคำนวณรายได้ และกำไรของสถานพยาบาลเอกชน ว่า มีรายได้เท่าใด และเป็นธรรมหรือไม่ที่ภาคเอกชนจะมาดูดทรัพยากรเช่นนี้โดยที่ไม่ต้องเสียอะไรเลย จึงต้องให้นักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์ เพื่อให้ข้อมูลประชาชนให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นธรรมหรือไม่ หากเห็นว่าไม่เป็นธรรมจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นพ.ประเวศ กล่าว
นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ขอเสนอให้โรงพยาบาลเอกชนควรมีส่วนร่วมในการผลิตแพทย์ โดยโรงพยาบาลเอกชนอาจรวมตัวกันตั้งเป็นโรงเรียนผลิตแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสำหรับโรงพยาบาลเอกชน เหมือนอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดหรือสถาบันผลิตแพทย์ในต่างประเทศก็ล้วนเป็นของเอกชนทั้งสิ้น
ด้านนายศุภโชค เกิดลาภ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยหากมีการขึ้นค่าปรับแพทย์ที่ออกก่อนใช้ทุนครบ แต่การคำนวณการขึ้นค่าปรับจะต้องมีความชัดเจนตรงไปตรงมาสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตแพทย์ที่เป็นจริง โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับเพื่อให้เป็นไปตามสภาวะเงินเฟ้อ อัตราค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น แต่หากปรับเพื่อให้แพทย์ใช้ทุนจนครบ 3 ปี หรือให้อยู่ในระบบ เห็นว่า ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เพราะหากต้องการให้นักศึกษาแพทย์อยากอยู่ในระบบควรสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ดี ตั้งแต่ช่วงการฝึกหาประสบการณ์ในโรงพยาบาลชุมชน มีสิ่งแวดล้อมที่ดี สวัสดิการ รวมถึงเงินเดือน ไม่ใช่ให้ไปทำงานใช้ทุนแต่โรงพยาบาลไม่มีความพร้อมอะไรเลยซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
“การขึ้นค่าปรับแพทย์จะต้องตอบคำถามนักศึกษาแพทย์ได้ว่าขึ้นเพราะอะไร ไม่ใช่ตั้งให้สูงเป็นกำแพงภาษี เหมือนการขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่ เพราะจะไม่ช่วยให้แพทย์ทำงานอยู่ในระบบนานขึ้น แต่กลับยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้แพทย์ออกจากระบบมากขึ้น เพราะเหมือนถูกบังคับมากเกินไป ดังนั้น แทนที่จะขึ้นค่าปรับเพิ่มจึงควรหาวิธีการทำอย่างไรให้แพทย์ใหม่ไม่กลัวที่จะต้องลงไปทำงานในพื้นที่ต่างจังหวัด และสร้างทัศนคติ ว่า การไปใช้ทุนนั้นให้อะไรมากมาย และการที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีจะช่วยให้แพทย์มีความผูกพันกับชุมชน และอยากทำงานในต่างจังหวัดด้วยความเต็มใจเอง” นายศุภโชค กล่าว