xs
xsm
sm
md
lg

“วิชาญ” นัดถกหมอ ค้านขึ้นค่าปรับหมอใช้ทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิชาญ” นัดถกหมอ ค้านขึ้นค่าปรับหมอใช้ทุน ชี้ บีบบังคับเกินไปด้าน สช.-สวรส.เชื่อแค่เพิ่มค่าปรับไม่ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบท เสนอต้องแก้ทั้งระบบ

วันที่ 21 กรกฎาคม นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเสนอปรับเพิ่มค่าชดเชยแทนการใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ในกรณีที่ลาออกจากราชการก่อนการใช้ทุนครบ 3 ปี โดยขอเพิ่มเป็นคนละ 4-10 ล้านบาท จากเดิมที่ สธ.เรียกเก็บเพียงคนละ 4 แสนบาท เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในระบบ และป้องกันแพทย์ลาออกไปอยู่ภายเอกชน ว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาแพทย์จบใหม่ ประมาณร้อยละ 15 เลือกจะไม่ทำงานใช้ทุน ส่วนหนึ่งเพราะถูกดึงตัวจากภาคเอกชน ส่วนหนึ่งตั้งใจจะไม่ใช้ทุน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแพทย์ขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหา เช่น ในส่วนของ กทม.มีการอุดหนุนเงินเพิ่มให้แพทย์ ใกล้เคียงกับภาคเอกชน เพื่อรักษาให้แพทย์อยู่ในระบบ โดยแนวทางนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับสำนักงบประมาณว่าจะอุดหนุนงบประมาณเพิ่มได้อย่างไร แต่เห็นว่าควรมีการปรับค่าตอบแทนเพิ่มเพื่อให้แพทย์อยู่ในระบบต่อไป

นายวิชาญ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทยสภา ผู้แทนจากโรงพยาบาลเอกชน มาหารือ เรื่องความน่าจะเป็นและมาตรฐานของรายได้แพทย์ โดยดูจากประสบการณ์ของแพทย์ ความชำนาญ ไม่ใช่ใช้การดึงตัวกันไปมาทำให้อัตราค่าจ้างแพทย์สูงมาก เชื่อว่า ภาคเอกชนคงไม่อยากจ่ายอัตราค่าจ้างที่สูงเกินไปเช่นกัน จึงควรเอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนหารือแนวทางที่จะเป็นไปได้ เพราะรัฐบาลต้องแบกรับภาระประชาชนที่มีรายได้น้อยจำนวนมาก จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

“การกำหนดเงินค่าปรับแทนการใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้น เห็นว่า เป็นการบีบบังคับมากเกินไป เพราะหากแพทย์ตั้งใจจะไม่ใช้ทุนการเพิ่มเงินค่าปรับมากขึ้นก็คงรั้งไว้ไม่ได้และทำให้เกิดความอึดอัดมากขึ้น ซึ่งคงต้องวิเคราะห์ปัญหาใหม่ทั้งระบบ ว่า ความจริงแล้วแพทย์ขาดแคลนหรือไม่ เพราะจากการที่เปิดเมดิคอลฮับ ทำให้ภาคเอกชนบางแห่งตั้งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางและดูแลคนต่างประเทศ และเก็บค่าบริการสูงซึ่งประชาชนทั่วไปไม่สามารถ ซึ่งต้องเอารายละเอียดเหล่านี้มาวิเคราะห์” นายวิชาญ กล่าว

ด้านนพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า รัฐบาลมีมาตรการให้แพทย์จบการศึกษาใหม่ทุกคนต้องทำงานใช้ทุนในชนบทเป็นเวลา 3 ปี มาตั้งแต่ปี 2510 หากไม่ทำงานใช้ทุนต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 4 แสนบาท ซึ่งอัตรานี้ใช้มาตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งใช้มานานแล้ว 35 ปี โดยเงินค่าปรับเหล่านี้คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นผู้ได้รับ ซึ่งหลักจากแพทย์ใช้ทุนครบ 3 ปี ก็จะลาออกไปศึกษาต่อ หรือย้ายเข้ามาทำงานในเมือง หรือกรุงเพทฯ หรือโรงพยาบาลเอกชน

“แต่ระยะหลังเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีแพทย์จบใหม่ลาออกจากระบบก่อนที่จะทำงานใช้ทุนครบ 3 ปีเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2547 มีแพทย์ลาออก 200 คน จากนั้นในปี 2548 เพิ่มเป็น 450 คน และในปี 2549 และ 2550 ลาออกประมาณ 500 คน และแนวโน้มในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ขณะที่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีแพทย์ลาออกจากระบบปีละไม่ถึง100 คนถือว่าอัตรการลาออกสูงขึ้น 3-4 เท่า” นพ.อำพล กล่าว

นพ.อำพล กล่าวว่า การผลิตแพทย์ในประเทศไทยมี 3 ระบบ คือ 1.จากการสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ปีละ 2,000 คน 2.โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ปีละ 500 คน และ 3.รับตรงจากพื้นที่ตามโควตาหนึ่งอำเภทหนึ่งแพทย์ ปีละ 200 คน รวมแล้วมีแพทย์เข้าสู้ระบบปีละ 2,700 คน แต่ปัจจุบันมีแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน 700 แห่งทั่วประเทศเพียง 2,900 คน คิดเป็น ร้อยละ 10 ของแพทย์ทั้งประเทศ และกว่าครึ่งเป็นแพทย์ที่อยู่ระหว่างทำงานใช้ทุน

“ที่ผ่านมา สธ.ได้พยายามพัฒนาแรงจูงใจด้านอื่นให้กับแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่ชนบทมาตลอด ทั้งความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ค่าตอบแทน โดยปัจจุบันแพทย์จบใหม่ได้รับค่าตอบแทนทุกประเภทรวมกันประมาณ เดือนละ 50,000-60,000 บาท และมีบ้านพัก สวัสดิการอื่นๆ ด้วย แต่ก็ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับการทำงานในเมือง หรือโรงพยาบาลเอกชน” นพ.อำพล กล่าว

นพ.อำพล กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2549 สธ.ได้เคยเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอเพิ่มค่าปรับแพทย์ใช้ทุนที่เข้าศึกษาตามโครงการที่ 2 และ 3 โดยโครงการที่ 2 จากเดิมทำงานใช้ทุน 3 ปี หรือเสียค่าปรับ 4 แสนบาท เพิ่มเป็นต้องทำงานใช้ทุน 6 ปี หรือเสียค่าปรับ 1.8 ล้านบาท และโครงการที่ 3 จากเดิมทำงานใช้ทุน 12 ปี หรือเสียค่าปรับ 2 ล้านบาท โดยเพิ่มเฉพาะค่าปรับเป็น 2.6 ล้านบาท แต่ ครม.ไม่ได้อนุมัติให้ เนื่องจาก สธ.ได้เพิ่มเงื่อนไขในส่วนของเงินค่าปรับจากเดิมที่คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเป็นผู้ได้รับเงิน แต่ สธ. เสนอให้เงินค่าปรับทั้งหมดนำไปจัดตั้งเป็นกองทุนแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ชนบท โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกองทุน ซึ่งขณะนั้น สธ.ได้รับการคัดค้านจากคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ จำนวนมาก ทาง ครม.จึงให้ สธ.กลับไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

“เห็นด้วยกับการปรับเพิ่มระยะเวลาการทำงาน และค่าปรับเพิ่มขึ้นในส่วนของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบท หรือแพทย์ในพื้นที่ เพราะเป็นโครงการที่ต้องการให้คนในพื้นที่ได้ทำงานในท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งปัญหาการขาดแคลนแพทย์เป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายปี แต่ในส่วนของนักเรียนแพทย์ที่มาจากการสมัครตามปกติไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มค่าปรับตามที่ สธ.เสนอ คือ 4-10 ล้านบาทต่อคน เพราะเป็นตัวเลขที่สูงและปรับเพิ่มแบบก้าวกระโดด แต่หากมีที่มาหรือฐานตัวเลขของการคิดอัตราค่าปรับใหม่ว่าคำนวณจากอะไร และสอดคล้องกับความเป็นจริง สามารถตอบคำถามสังคมก็ถือว่าเป็นอัตราค่าปรับที่รับได้” นพ.อำพล กล่าว

ด้านนพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการเพิ่มค่าปรับเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาให้รอบด้าน หรือใช้มาตรการควบคู่ คือ ทั้งเพิ่มค่าปรับ และการช่วยเหลือด้านค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้าในอาชีพ รวมถึงเกียรติยศ ความภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมยังไม่ให้ความสำคัญเท่าไร ทั้งๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้แพทย์อยากทำงานในชนบทมากขึ้น

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้แพทย์ไม่อยากทำงานในชนบท เพราะภาระงานหนักกว่าโรงพยาบาลในเมือง หรือโรงพยาบาลเอกชน แถมยังมีความกัดดันเรื่องความเป็นไปได้ของการเกิดความผิดพลาดในการรักษาโรคให้กับผู้ป่วย จนทำให้เกิดปัญหาการห้องร้องแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าสำคัญอย่างมาก และ สธ.ควรเร่วงแก้ปัญหา เพราะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างแพทย์ในชนบทกับแพทย์ในเมืองที่มีรายได้เท่าเทียมกัน แต่ภาระงานของแพทยืในมืองน้อยกว่า ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่เลือกที่จะทำงานในเมืองมากกว่าในชนบท” นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น