xs
xsm
sm
md
lg

จากซีแอลยา ถึงกรณีปราสาทพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายคนที่ฟังนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ชี้แจงเรื่องปราสาทพระวิหารในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของรัฐสภาแล้ว คงได้ยินหลายคำที่รัฐมนตรีฯบอกว่า เจ้ากรมแผนที่ทหารได้ยืนยันเป็นเอกสารว่า ไทยไม่เสียดินแดนเลย อธิบดีกรมสนธิสัญญาก็ยืนยันว่า เราไม่เสียเปรียบ และกระทรวงต่างประเทศเป็นคนเสนอให้ทำแถลงการณ์ร่วมยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทเขาพระวิหารเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย ถ้ายูเนสโกยอมรับแผนที่ ที่กัมพูชาเสนอไปปีที่แล้ว จะทำให้ไทยเสียดินแดน ทุกอย่างนี้รัฐมนตรีนพดล เพียงทำตามคำเสนอของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น
ทั้งนายกรัฐมนตรี ก็ชี้แจงเหมือนกันว่าทหารเห็นชอบ กระทรวงต่างประเทศเป็นคนเสนอทั้งหมด ทั้งหมดที่ทำไปนั่นคือปัดความรับผิดชอบไปให้ข้าราชการทั้งหมด
เวลานักการเมืองจะทำอะไร วิธีการจะคล้ายๆกัน เพื่อเข้าใจวิธีการของนักการเมืองเราลองมาแกะรอยเทียบเคียงกรณีการยกปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา กับกรณียกเลิกซีแอลยา ว่ามีความเหมือนกันอย่างไร
ดังจะเห็นได้ว่า เพื่อการล้มซีแอลยา สิ่งแรกที่ทำ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงปลดเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ต่อมาเป็นประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม แล้วตั้งคนที่ตนสั่งได้มาดูแลทั้งสองหน่วยงาน
เมื่อมีคนถูกสั่งปลดไป 2 คน เป็นธรรมดาที่ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องสยบยอม เพราะกลัวถูกเชือดตามบ้าง คนที่ไม่ค่อยทำงาน ดีแต่ประจบสอพลอ ก็จะวิ่งเข้าหานักการเมืองทันที เพื่อเสนอวิธีการอะไรก็ได้ตามใจผู้มีอำนาจ โดยไม่ใช้วิชาการ และไม่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพื่อให้ได้รับความก้าวหน้า ดังที่มีหมอในกรมการแพทย์ เสนอให้รัฐมนตรีซื้อเครื่องฉายรังสีแจกทั่วประเทศ แทนการทำซีแอลยา ทั้งๆ ที่หมอรังสีมีไม่พอ และแม้แต่นักศึกษาแพทย์ทุกคนก็รู้ว่ามะเร็งที่รักษาด้วยเครื่องฉายรังสี กับมะเร็งที่รักษาด้วยยาเป็นมะเร็งคนละชนิดกัน
เมื่อปลดคนแล้ว หลังจากนั้นก็ทำงานแบบไม่ทำคือปล่อยไปเรื่อยๆ และตั้งคณะกรรมการสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา เพื่อซื้อเวลาโดยมีตัวแทนบริษัทยาข้ามชาติเข้ามาแย้งเรื่องการทำซีแอลยา แล้วจึงค่อยประกาศว่า ไม่จำเป็นต้องทำซีแอลยาแล้ว เพราะผู้ป่วยได้รับยาเพียงพอแล้ว เท่ากับภาระกิจล้มซีแอลยาทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
ดูจะไม่ต่างอะไรกันกับที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก มีความจำเป็นที่ต้องปลดคน 2 คน คือ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และอธิบดีกรมสนธิสัญญา แล้วจึงส่งคนที่ตนเองสั่งได้เข้าไปทำงาน เมื่อมีการเชือดไก่ให้ลิงดู แน่นอน สั่งอะไรย่อมได้ทั้งหมด จากท่าทีเดิมที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก ก็ต้องยอมทำตามนโยบายนักการเมือง
แน่นอน บรรยากาศการถกเถียงกันด้วยวิชาการก็จะหมดไป ทุกอย่างย่อมเป็นตามนายสั่ง เพื่อหลบการนำเรื่องนี้เข้าสภา คงมีบางคนที่รู้ดีเสนอให้หลีกเลี่ยงไปใช้แถลงการณ์ร่วมแทน เท่านั้นแหละครับ ปราสาทเขาพระวิหารย่อมตกเป็นของกัมพูชาไปโดยปริยาย
ดูจะเป็นสูตรสำเร็จเลยสำหรับนักการเมือง กล่าวคือ ปลดคนที่ขวางทาง หาคนที่ยอมตามโดยไม่ต้องถามเหตุผล แล้วจึงสั่งการได้ทุกอย่าง
อีกอย่างที่เหมือนกันคือ ตอนที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ถูกค้านเรื่องการปลดเลขาธิการอย. ตอนแรกก็บอกว่า เพราะมีปัญหาเรื่องไม่ไปตรวจไส้หมู แต่พอถูกแย้งว่าเพิ่งสั่งได้ 2 วันเอง ก็บอกว่าเพราะปลัดกระทรวงเป็นคนเสนอ นี่ล่ะครับวิธีการของนักการเมือง เมื่อจนแต้มก็ย่อมโยนภาระรับผิดชอบต่อให้กับข้าราชการ เหมือนกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าเป็นเพราะเจ้ากรมแผนที่ทหาร และอธิบดีกรมสนธิสัญญาเสนอมา ถ้าไม่ถูกต้องเหมาะสมข้าราชการคงไม่เสนอมาอย่างนั้น การทำเช่นนี้ตรงกับวลีที่ว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล”
น่าเห็นใจเสมอสำหรับข้าราชการย่อมเป็นเบี้ยล่างของนักการเมือง เพราะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา จะถูกสั่งอะไรก็ได้ ถ้าไม่ยอมทำตามก็จะถูกโยกย้ายไปในตำแหน่งที่ต่ำลง ถ้าพลาดก็โยนความผิดให้ซึ่งดูจะไม่แปลกอะไรนัก แต่หลังจากนั้นถ้ามีโอกาสก็จะรีบปูนบำเหน็จให้แพะรับบาปคนนั้นเป็น 2 เท่า เป็นธรรมดาที่ข้าราชการย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี มีทั้งคนที่ทนต่อความยั่วยวนใจในลาภยศ ตำแหน่งได้ และคนที่ทนต่อสิ่งยวนใจไม่ได้ เมื่อมีคนมาให้สิ่งล่อใจย่อมอดไม่ได้
ถ้าระบบการเมืองป่วย ย่อมส่งผลให้ระบบข้าราชการอ่อนแอไปด้วย ดังที่มีคนสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลนี้ถึงไม่มีผลงานที่เข้าตาออกมาบ้าง คงเป็นเพราะกลจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนระบบต่างๆ เป็นอัมพาต ข้าราชการที่ดีมีผลงานถูกปลด และปูนบำเหน็จแต่คนที่ไม่สมควรได้ แล้วอย่างนี้ใครหน้าไหนจะอยากทำงานที่เป็นประโยชน์ สู้เดินตามนักการเมือง คอยทำแต่สิ่งที่สั่งมา โดยที่นักการเมืองก็ไม่รู้ว่า อะไรที่ควรทำ เพราะไม่มีวิชาการกำกับ เลยพาลทำงานที่มีแต่ออกข่าวไปวันๆ หาอะไรที่เป็นแก่นสารไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผลลัพธ์เหล่านั้นย่อมสะท้อนกลับไปที่รัฐบาลเอง คือไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศไทย ความเสื่อมจึงเข้าใกล้มาเรื่อยๆ
สมัยนี้คงหมดยุคสมัยบริหารด้วยปาก แต่เป็นยุคสมัยที่ต้องทำงานด้วยยุทธศาสตร์และใช้คนที่มีศักยภาพ งานจึงจะสำเร็จได้
จากวิกฤติที่คนในชาติถามหาความชอบธรรมของกรณีเขาพระวิหาร จึงอยากเรียกร้องให้ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ปลดแอกจากการตกเป็นทาสของนักการเมือง ออกมาบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติในกรณีปราสาทเขาพระวิหาร เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของข้าราชการกระทรวงบัวแก้ว และอยากจะเรียกร้องให้ข้าราชการทุกคนอย่าสยบยอมต่ออำนาจที่ไม่ชอบธรรม ไม่สนต่อเหยื่อล่อในลาภ ยศ ตำแหน่งที่สูงขึ้น ไม่สนถ้าจะถูกย้ายถูกปลด ถ้านักการเมืองสั่งให้ทำสิ่งที่ดีก็ควรทำ แต่ถ้าสั่งให้ทำสิ่งที่ไม่ดี ต้องไม่ยอมทำ เพราะศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการคือการได้ทำเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เพื่อเวลาที่เมื่อเราเกษียณอายุแล้ว เราก็พร้อมจะตอบกับตัวเองและลูกของเราได้ว่า
"ภาคภูมิใจที่ชีวิตนี้ได้เป็นข้าราชการที่มีศักดิ์ศรี ใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์
เลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท
กำลังโหลดความคิดเห็น