xs
xsm
sm
md
lg

“อัมมาร” เห็นดีเพิ่มค่าปรับแพทย์แทนใช้ทุน เซ็งแพทยสภาพูดเอาแต่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อัมมาร” เห็นดีเพิ่มค่าปรับแพทย์แทนใช้ทุน ชี้ปรับแค่ 4 แสนจ่ายหรือไม่จ่ายก็ไม่แตกต่าง ย้ำสธ. พิจารณาค่าปรับใหม่ แต่ต้องรอบคอบเพราะยังไม่มีผลการศึกษารองรับ หวั่นเกิดความไม่เป็นธรรมกับนร.แพทย์ โวยเซ็งแพทยสภา พูดเอาแต่ได้ค้านขึ้นค่าปรับ ด้านประธานชมรมแพทย์ชนบท เสนอแก้ปัญหารอบด้าน ขึ้นทั้งค่าปรับและค่าตอบแทน พร้อมให้สวัสดิการ เกียรติยศ ขณะที่ "หมอปิยะสกล" อธิบดีม.มหิดล ชี้ขึ้นค่าปรับต้องมีเหตุผลชัดเจนเหมาะสม


วานนี้ (22 ก.ค.) ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมปรับเพิม่ค่าชดเชยแทนการใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ในกรณีที่ลาออกจากราชการก่อนการใช้ทุนครบ 3 ปี นั้น ว่า เห็นด้วยในหลักการของการเพิ่มเงินค่าปรับ เพราะอัตราค่าปรับที่สธ. เรียกเก็บในปัจจุบันถือว่าน้อยมาก ต่ำกว่าต้นทุนที่รัฐได้สนับสนุนค่าเล่าเรียนและเงินอุดหนุนต่างๆ ให้ให้นักศึกษาแพทย์ นอกจากค่าเล่าเรียนแล้วยังมีโครงการลงทุนต่างๆ เช่น การก่อสร้างอาคาร เป็นต้น ซึ่งนำมาคิดรวมกันแล้วเป็นมูลค่าที่รัฐบาลลงทุนผลิตแพทย์มากกว่าคนละ 1.8 ล้านบาท ดังนั้นค่าปรับเพียงคนละ 4 แสนบาทจึงแทบไม่มีผลอะไรเลย ในทางตรงข้าม นักศึกษาแพทย์กลับคิดว่า การจ่ายเงินค่าปรับเพียง 4 แสนบาท ถือเป็นการออกจากระบบที่ถูกต้อง เป็นการใช้เงินซื้อจิตสำนึกที่ควรจะมีและเมื่อไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนก็ได้ค่าตอบแทนที่สูงใกล้เคียงค่าปรับที่จ่ายไปมาก

ศ.ดร.อัมมาร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในเรื่องรายละเอียดของการดำเนินการ สธ. จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทั้งจำนวนเงินค่าปรับที่เหมาะสม และระยะเวลาในการบังคับใช้การจ่ายค่าปรับอัตราใหม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นธรรมกับนักศึกษาแพทย์ได้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ตนเห็นว่า สธ. ควรบังคับใช้อัตราค่าปรับใหม่เฉพาะนักศึกษาแพทย์ใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนในปีการศึกษาหน้า และสธ. ควรประกาศเรื่องเพิ่มค่าปรับใหม่ให้นักเรียนแพทย์ทั่วไปได้ทราบก่อน เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของผู้ที่จะสมัครเป็นโครงการขอใช้ทุนการศึกษา

“ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนักศึกษาแพทย์ที่ใช้ทุนบางคนได้วางแผนการดำเนินการไว้แล้วว่าจะขอทุนรัฐเรียนและเมื่อเรียนจบจะจ่ายเงินชดเชยค่าปรับ 4 แสนบาททันที เพื่อไม่ต้องใช้ทุน แต่หากสธ. ประกาศขึ้นค่าปรับวงเงินเป็นหลักล้านขึ้นกะทันหันในระหว่างที่ยังเรียนอยู่ อาจทำให้นักศึกษาแพทย์เหล่านั้นต้องทำงานใช้ทุนในชนบท เพราะไม่มีเงินมากพอที่จ่ายค่าปรับ ซึ่งทำให้เขาเหล่านั้นเกิดความรู้สึกเหมือนติดกับมากกว่าการเต็มใจทำงาน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบ” นายอัมมารกล่าว

นายอัมมาร กล่าวถึงข้อเสนอของนพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ที่ให้เพิ่มเงินเดือนแพทย์แทนการเพิ่มค่าปรับเพื่อป้องกันแพทย์ออกจากระบบไปอยู่ภาคเอกชนว่า ว่า ไม่เห็นด้วย หากจะเพิ่มเงินเดือนให้แพทย์ควรจะเป็นเหตุผลอื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่า เพราะหากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของนักเรียนแพทย์ที่ขอทุนกับค่าปรับแล้วถือว่ารัฐใจกว้างมาก เพราะนอกจากจะให้เงินกู้เรียนฟรีแล้ว ยังจะต้องให้เงินเดือนที่สูงขึ้น ยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับภาครัฐที่ต้องรับผิดชอบค่าเล่าเรียนของนักศึกษาแพทย์ขอทุนเพิ่มขึ้นอีก

“การที่นพ.สมศักดิ์ ออกมาพูดเช่นนี้ถือเป็นการพูดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ไม่ถูกต้อง เพราะแพทยสภา มีกรรมการ รวมถึงตัวนายกแพทยสภา ก็มาจากโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากปัญหาโรงพยาบาลรัฐขาดแคลนแพทย์ และเมื่อโรงพยาบาลเอกชนมีแพทย์เยอะสามารถเพิ่มศักยภาพให้บริการทั้งผู้ป่วยในประเทศและผู้ป่วยต่างชาติ ที่สามารถเรียกเก็บค่าบริการในราคาสูง ถือเป็นโอกาสในการแสวงหากำไรมหาศาล โดยที่โรงพยาบาลเอกชนไม่ต้องลงทุนผลิตบุคลาการแพทย์เอง แต่ใช้วิธีซื้อตัวแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐแทน”

ขณะที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ควรจะทำทั้งระบบ และทำทั้งในด้านบวก คือมาตรการเพิ่มค่าตอบแทน เพิ่มแรงจูงใจในการทำงานให้ภาครัฐ โดยอัตราที่เหมาะสมคือ ไม่ควรน้อยกว่าแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน มากกว่า ร้อยละ 40 คือประมาณ 60,000 บาทต่อเดือน โดยปัจจุบันแทพย์จบใหม่ทำงานใช้ทุนจะมีรายได้ คนละประมาณ 30,000-40,000 บาทต่อเดือน ขณะที่แพทย์จบใหม่ในโรงพยาบาลเอกชนจะมีรายได้ คนละประมาณ 80,000-100,000 บาทต่อเดือน สำหรับส่วนต่างอีก ร้อยละ 40 สามารถชดเชยด้วยสวัสดิการต่างๆ ที่ภาครัฐจัดให้ เช่น บ้านพักฟรี ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาลตนเองและครอบครัว และที่สำคับคือเกียรติยศ ความภาคภูมิใจ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถชดเชยความรู้สึกได้

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนมาตรการในด้านลบคือ เพิ่มค่าปรับสำหรับแพทย์ที่ไม่ต้องการใช้ทุนครบ 3 ปี ซึ่งวิธีนี้จะช่วยถ่วงจิตใจให้แพทย์จบใหม่ใช้ทุนครบ 3 ปีได้มากขึ้น ส่วนอัตราค่าปรับที่เพิ่มขึ้นควรจะมากกว่างบประมาณที่รัฐลงทุนในการผลิตแพทย์ต่อคน เพราะยังมีโครงการลงทุนต่างๆ ที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเลขที่รัฐลงทุนได้อีกจำนวนมาก ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ควรจะนำมาคำนวณด้วย และจะต้องคิดอัตราค่าปรับแยกเป็น 2 ระดับ คือแพทย์จบใหม่ เสนอให้เพิ่มค่าปรับเป็น 2 เท่าของงบประมาณผลิตแพทย์ลงทุน คือประมาณ 3.6-4 ล้านบาทต่อคน และแพทย์เฉพาะทาง เช่น ศัลยแพทย์ กุมารแพทย์ พยาธิแพทย์ ซึ่งแพทย์กลุ่มนื้ สธ. มีปัญหาขาดแคลนอย่างมาก หากจะเพิ่มค่าปรับควรเพิ่มให้สูงกว่าแพทย์ทั่วไป คือประมาณ 6 ล้านบาทต่อคน

“ส่วนที่แพทยสภาคัดค้านเรื่องนี้ ก็ไม่น่าแปลกเพราะแพทยสภามีผลประโยชน์ทับซ้อนจากเรื่องนี้ กรรมการแพทย์สภาเกือบทั้งหมดก็มาจากตัวแทนของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งจะเป็นผู้เสียประโยชน์หากรัฐจะเพิ่มค่าปรับอาจทำให้แพทย์ไม่อยากออกระบบมากขึ้นก็ได้ เพราะไม่ต้องการจ่ายค่าปรับราคาแพง แต่หากสธ. ไม่ทำอะไรเลย ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาแพทย์ขาดแคลนได้ เพราะมีโรงพยาบาลเอกชนได้ที่เป็นผู้ได้ประโยชน์ค่อยเอาช้อนตักแพทย์ออกจากระบบไปจำนวนมาก โดยที่ไม่ได้เป็นคนลงทุนผลิตแพทย์เองเลย”ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการเพิ่มค่าตอบแทนของแพทย์ รวมถึงบุคลากร สธ. ทำได้ยากเพราะมีฐานะเทียบเท่าข้าราชการทั่วไป หากขึ้นเงินเดือนแพทย์ก็ต้องขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการทุกระดับทั่วประเทศให้เท่าเทียมกันด้วย ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าการจัดลำดับความสำคัญของอาชีพแพทย์ให้อยู่เท่าเทียมกับข้าราชการทั่วไปถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะแพทย์เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน และแพทย์มีหน้าที่ดูแลประชาชนทั้งประเทศจึงควรคิดค่าตอบแทนที่แตกต่าง เหมือนกับระบบของค่าตอบแทนของนิติกรทั่วไป ที่แตกต่างจากค่าตอบแทนของวงอัยการ ผู้พิพากษา ดังนั้นการเพิ่มค่าปรับจึงดูเหมือนเป็นวิธีที่สธ. สามารถทำได้มากกว่า

ด้าน ศ.คลินิก นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การขึ้นค่าปรับแพทย์แทนการใช้ทุนถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งเห็นด้วยหากมีการปรับเพิ่มแต่จะขึ้นเท่าไหร่นั้นจะต้องมีเหตุผลที่มีความชัดเจน ซึ่งจะต้องมีการศึกษารายละเอียดก่อน เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าปรับย่อมส่งผลกระทบต่อแพทย์และระบบการบริการทางการแพทย์อย่างแน่นอนเพียงแต่จะมากหรือน้อยเพียงใดเท่านั้น

“ปัจจุบันอาชีพแพทย์เกิดปัญหาการฟ้องร้องเป็นจำนวนมาก ทำให้มีผู้เรียนแพทย์ลดลงขณะเดียวกันแพทย์ก็ยังขาดแคลนอยู่ ประเด็นการพิจารณาขึ้นค่าปรับจึงมีมาก แต่ต้องยอมรับว่า การที่แพทย์ใช้ทุนในต่างจังหวัดเป็นผลดีต่อส่วนรวม แพทย์ได้ทำงานบริการรับใช้ประชาชนเป็นเวลา 3 ปี แต่ถ้าไม่ทำก็เสียค่าปรับ ซึ่งค่าปรับนั้นก็กลับเข้าสู่ระบบนำไปใช้พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเช่นกัน ประกอบกับไม่มีการขึ้นอัตราค่าปรับมานานมากแล้ว จึงมีเหตุเหมาะสมที่อาจทำได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใด" ศ.คลินิก นพ. ปิยะสกล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น