เป็นระยะเวลากว่า 8 เดือน ที่พสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่าถูกปกคลุมด้วยอารมณ์แห่งความโศกเศร้า อาลัย กับการสิ้นพระชนม์ใน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ข้าแผ่นดินทั้งประเทศต่างสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนอย่างหาที่สุดมิได้
และในระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.2551 ที่จะถึงนี้ ก็จะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพขึ้น โดยมีพระราชพิธีสำคัญ 6 พระราชพิธี คือ วันที่ 14 พ.ย.จัดงานพระราชกุศลออกพระเมรุ วันที่ 15 พ.ย.การเชิญพระโกศออกพระเมรุ วันที่ 16 พ.ย.การถวายพระเพลิงพระศพ วันที่ 17 พ.ย.การเก็บพระอัฐิ วันที่ 18 พ.ย.การพระราชกุศลพระอัฐิ และวันที่ 19 พ.ย.การบรรจุพระสรีรางคาร
นอกจากนั้น ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพครั้งนี้ยังจัดให้มี “งานมหรสพสมโภชในการพระเมรุ” ขึ้นอีกด้วย ซึ่งแต่ละมหรสพเป็นสิ่งที่หาชมได้ยาก ด้วยเหตุนี้ การจัดแสดงมหรสพดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ช่วยทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยากให้คงอยู่ต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและประเพณีเกี่ยวกับงานมหรสพในการพระเมรุให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง สถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ จึงร่วมกับวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และอีกหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดกิจกรรม “โครงการบรรยายประกอบการสาธิต มหรสพสมโภชในการพระเมรุสมัยรัตนโกสินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ขึ้น
** กำเนิดมหรสพในการพระเมรุ
ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า เท่าที่ได้มีการศึกษา สืบค้นได้นั้น พบว่า งานมหรสพสมโภชในการพระเมรุ มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยงานสมโภชที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ใช้เฉพาะกับงานพระเมรุเท่านั้น งานฉลองต่างๆ ก็มีมหรสพเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโขน, ระเบง, โมงครุ่ม ที่มีมาตั้งแต่โบราณ และในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี การแสดงมหรสพจากต่างประเทศก็เข้ามาอิทธิพลอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากคณะรำญวน งิ้ว ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมในยุคนั้น
เมื่อมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การแสดงก็ยิ่งมีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงมีพระราชปรารภถึงมหรสพสมโภชในการพระเมรุ ว่า ในการพระเมรุแต่ละครั้งจะมีการสร้างพระเมรุใหญ่กลางเมืองเหมือนเช่นโบราณนั้นเป็นการใช้เงินที่ฟุ่มเฟือย ใช้กำลังแรงคนมหาศาล จึงรับสั่งให้ลดทอนพิธีการต่างๆ ลง ที่สำคัญคือ ก่อนที่พระองค์จะสวรรคตได้มีพระราชกระแสรับสั่งไม่ให้จัดพระราชพิธีพระบรมศพของพระองค์ให้ใหญ่โต ดังนั้น การออกพระเมรุในครั้งนั้นจึงได้ลดทอนขั้นตอนประเพณีลง ซึ่งรวมถึงงานมหรสพด้วย
** ถึงยุคพลิกฟื้นมหรสพในการออกพระเมรุ
ดร.อนุชา ให้ข้อมูลต่อว่า จนกระทั่งมาถึงคราวงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชปรารภที่จะฟื้นการละเล่นมหรสพกลับมาในการพระเมรุอีกครั้ง เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่ไม่ให้หายไป แต่ก็มีการละเล่นมหรสพหลายอย่างเลือนหายไปจนไม่สามารถหาหลักฐาน หาข้อมูลได้ถึงรูปแบบและวิธีการเล่นได้
ยกตัวอย่างเช่น เทพทอง ซึ่งเป็นการแสดงเพลงพื้นบ้าน อีกทั้งมอญรำ หรือแม้กระทั่ง แทงวิไสย โดยในปัจจุบันที่แสดงอยู่ก็เป็นการประดิษฐ์ท่าทางในการแสดงขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยหลักฐานอ้างอิงที่ใกล้เคียงกับของจริงเท่านั้น ยกเว้นการแสดงบางอย่าง เช่น โมงครุ่ม, กุลาตีไม้ ซึ่งเป็นการแสดงที่สืบทอดกันมาในวิทยาลัยนาฏศิลป ฉะนั้น ในปัจจุบันจึงยังคงอยู่
“การออกพระเมรุถือเป็นงานปลดทุกข์ หลังจากที่ไว้ทุกข์มาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในอดีตมักจะจัดออกพระเมรุในหน้าแล้ง เพราะต้องการหลีกเลี่ยงอุปสรรคจากพายุ ฝน การนำเอามหรสพสมโภชมาเล่น ก็เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและเป็นการออกทุกข์ในเวลาเดียวกัน อย่าลืมว่าเมื่อเจ้านายสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์ลง จะเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ สุดท้ายในงานถวายพระเพลิง ก็เหมือนเป็นการส่งเสด็จ ซึ่งก็เป็นเวลาที่ต้องสมโภช” ผอ.สถาบันไทยคดีศึกษา ให้ข้อมูล
ดร.อนุชา อธิบายเพิ่มว่า ณ เวลานี้ในส่วนของการพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯนั้น พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณที่ทรงอุปถัมภ์วงดนตรีสากล คณะหุ่นละคร มากมาย ฉะนั้น การออกพระเมรุในครั้งนี้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่บรรดาคณะเหล่านั้นจะได้ร่วมแสดงถวายอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย โดยมหรสพต่างๆ นั้นจะมีหมายรับสั่งออกมาอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีพระราชประสงค์ให้สิ่งไหนปรากฏในงานบ้างเพราะการออกพระเมรุเป็นเรื่องส่วนพระองค์
** เทิดพระเกียรติกับมหรสพอันทรงคุณค่า
ในส่วนรายละเอียดของงานมหรสพสมโภชในการพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้น อ.ประเมษฐ์ บุญยะชัย ครูเชี่ยวชาญวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม แจกแจงว่า ประเด็นของการมหรสพสมโภชในการพระเมรุตั้งแต่อดีต จนกระทั่งปัจจุบันนั้นมีอยู่ 2 ประเด็นหลัก คือ มหรสพที่เป็นเรื่องราว และ มหรสพที่เป็นการละเล่น
ในส่วนของมหรสพที่เป็นเรื่องราวมีความสำคัญและขาดไม่ได้ที่จะต้องมี หนังใหญ่ โขน ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ละคร ก็มีหลายประเภท เช่น ละครใน เป็นละครที่เล่นในวัง ละครนอก เป็นละครชาวบ้าน อีกทั้งยังรวมไปถึงการแสดง หุ่น ซึ่งภายในงานพระเมรุนั้นจะมีความหลากหลายของการแสดง
ส่วนที่มีการแสดงรื่นเริงในงานศพนั้นเพราะการคิดแบบชาวตะวันออก ซึ่งหากเป็นตะวันตกงานศพคืองานที่ต้องเศร้าโศก เสียใจ แต่ไทยได้รับอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ที่สอนให้รู้จักความพอดี คือ ไม่เสียใจมาก และก็ไม่ดีใจมากเกินไปเช่นกัน
ขณะเดียวกัน นัยสำคัญที่ต้องมีมหรสพในงานศพนั้น ยังเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย หากแต่เป็นพระมหากษัตริย์ หรือ เจ้านายชั้นสูง ก็หมายความว่าเป็นครั้งสุดท้ายที่ข้าแผ่นดินจะสามารถ สนองพระมหากรุณาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ เทิดพระเกียรติ จึงมีการจัดมหรสพต่างๆ ขึ้น และคนไทยถือว่าพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพนั้นเป็นงานออกทุกข์ ฉะนั้น ในช่วงชีวิตหนึ่งสิ่งเดียวที่ข้าแผ่นดินจะทำได้ต้องยิ่งใหญ่ที่สุด
อีกทั้งมหรสพยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในสังคม เช่น สังคมการเกษตร ก็จะมีการละเล่นเพลงพื้นบ้านที่เล่นหลังฤดูเก็บเกี่ยว ในส่วนมหรสพที่ได้รับการปรุงแต่งให้เป็นของหลวง ที่มีความละเอียดอ่อน ประณีต และสืบทอดกันมายาวนาน ก็จะเป็นสิ่งสะท้อนถึงความเชื่อ คติต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในการแสดงทั้งสิ้น อย่างเช่น การแสดงโขน ที่เป็นการรวบรวมเรื่องราวในการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ เพราะโขนจะเล่นเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งรามเกียรติ์นั้นเป็นมหากาพย์ที่ว่าด้วยอวตารของพระนารายณ์ซึ่งเป็นดั่งสมมติเทพ เช่นเดียวกับที่พสกนิกรเทิดทูนให้พระมหากษัตริย์ไทยเปรียบได้ดังสมมติเทพเช่นกัน ฉะนั้นเรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นการส่งเสริมพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์
อ.ประเมษฐ์ บอกอีกว่า นอกจากสาระสำคัญของการแสดงในงานมหรสพสมโภชในการพระเมรุที่ต้องมีหนังใหญ่, โขน, ละคร, หุ่น แล้วนั้น ก็จะมีการละเล่นต่างๆ ที่ยึดตามแบบแผนที่มีมาตั้งแต่โบราณ เฉพาะที่ยังศึกษาหาข้อมูลได้ เช่น โมงครุ่ม, กุลาตีไม้, ระเบง, แทงวิไสย, กะอั้วแทงควาย, รำโคมญวน, รำโคมบัว เป็นต้น ซึ่งพระราชนิยมแต่ละสมัย จะไม่เหมือนกัน เช่น รำโคมญวนนั้นเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ดังนั้น จึงได้นำรำโคมญวนมาใส่ลงในมหรสพในการออกพระเมรุตั้งแต่นั้นมา เป็นต้น
** “ดนตรีสากล” สิ่งทรงโปรด เพิ่มในมหรสพการออกพระเมรุ
เหมือนเช่นในสมัยนี้ ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงโปรด ดนตรีสากล (ออร์เคสตรา) ดังนั้น ในการออกพระเมรุ จึงมีการเพิ่มสิ่งที่พระองค์ทรงโปรดลงไปในมหรสพการออกพระเมรุ โดยสามารถแบ่งเป็น เวทีที่ 1.มีการแสดงหนังใหญ่ และ โขน เวทีที่ 2.การแสดงของหุ่นกระบอก โดยมีการเชิญหุ่นละครโจหลุยส์ ที่อยู่ในพระอุปถัมภ์ฯ มาทำการแสดง อีกทั้งยังมีละครใน-นอก และในเวทีที่ 3.เป็นเวทีการแสดงของวงดุริยางค์สากล วงดนตรีคลาสสิก ที่พระองค์ทรงโปรด และทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์ฯ หลายต่อหลายวง มาทำการแสดง ซึ่งมหรสพในการออกพระเมรุจะมีขึ้นในวันถวายพระเพลิงตลอดทั้งคืนวันที่ 16 พฤศจิกายน 2551
อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งในส่วนของมหรสพที่กล่าวมานี้ต้องนำขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงพระราชวินิจฉัยอีกครั้ง
“การแสดงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้โดยวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ซึ่งปัจจุบันนี้จะเห็นว่าหลายๆ สถาบันได้อนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้เป็นอย่างดี สิ่งที่พยายามจะทำคือการรักษาสิ่งที่มีอยู่นี้ไม่ให้หายไปอีก การจะรักษาไว้นั้นไม่ใช่เพียงแค่นำมาซ้อม แต่การอนุรักษ์คือการสร้างผู้ชม ไม่ใช่สร้างผู้เล่นเพียงอย่างเดียว จึงอยากให้เกิดผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ ที่จะหันมาสนใจศิลปวัฒนธรรมไทย และอยากเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมงาน เพราะงานนี้เหล่าพสกนิกรทุกหมู่เหล่า จะได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ ที่ทรงสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล นอกจากนี้จะได้เห็นถึงจารีต ประเพณีต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่อดีต ที่เป็นวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของไทย โดยจะสืบทอดไปยังรุ่นสู่รุ่น” อ.ประเมษฐ์ ฝากทิ้งท้าย