ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่กำหนดไว้วันที่ 14-19 พ.ย. 2551 นั้น ทางรัฐบาลได้จัดของที่ระลึกไว้หลายรายการ แต่หากจะเอ่ยถึงเฉพาะของที่ระลึกที่จัดสร้างขึ้นตามธรรมเนียมราชประเพณีโบราณตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์นั้น ทานวัตถุที่จัดถวายพระสงฆ์ในงานพระราชพิธีเพื่อเป็นประโยชน์ในการศาสนา คือสิ่งอนุสรณ์สำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้น
ตามราชประเพณีการบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะมีการทำ “พัดรอง” และ “ย่าม” ที่ระลึกงานพระศพถวายแก่พระสงฆ์และบรรพชิตจีนนิกาย อนัมนิกายด้วย พัดรองและย่ามที่ระลึกนี้จะออกแบบสร้างจัดทำขึ้นโดยประณีต ลวดลาย สีสันที่ใช้ปักประดับล้วนมีความหมายเกี่ยวพันในพระองค์พระบรมศพทั้งสิ้น นอกจากนี้ สิ่งอนุสรณ์อีกอย่างหนึ่งที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นถวายเป็นที่ระลึกตามพระอารามหลวง เพื่อพระราชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลเพิ่มเติมคือ เครื่องสังเค็ด ตะลุ่มมุกหรือเตียบจัดเป็นสำรับสามหาบคาวหวาน
พัดรองที่ระลึก
พัดรอง คือพัดหรือตาลปัตรที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นถวายแก่พระสงฆ์เป็นที่ระลึกในการพระราชพิธีสำคัญ หรือที่ประชาชนสร้างขึ้นถวายในงานพิธีทำบุญต่างๆ ของราษฎรตามคติทางพุทธศาสนา ก็รวมเรียกว่า พัดรองด้วยเช่นกัน พัดรองเป็นพัดที่ทำขึ้นเพื่อถวายพระสงฆ์ในพิธีทำบุญทั่วไป จัดเป็นพัดสำรองแทนพัดยศ เพราะพัดยศใช้เฉพาะในงานพระราชพิธีเท่านั้น ในงานทั่วไปจึงนิยมสร้างพัดสำรองถวายพระสงฆ์ใช้ในงาน แต่ต่อมาคำเรียกดังกล่าวถูกกร่อนไปกลายเป็น พัดรอง
พัดรองโดยทั่วไปจะมีลักษณะทรงเป็นพัดหน้านาง คือเป็นรูปไข่คล้ายใบหน้าสตรี ปักลวดลายและอักษรตามต้องการ พัดรองสำหรับถวายพระสงฆ์ที่จัดทำขึ้นเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ครั้งนี้ ทางสำนักพระราชวังได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ โดยจัดสร้างพัดรองสำหรับถวายในงานพระราชพิธีไว้ 2 แบบคือ
หนึ่ง พัดรองพื้นกำมะหยี่ดำ ขอบกุ๊นผ้าสีแดง ใช้ในการพระราชพิธีออกพระเมรุมาศ และสอง พัดรองพื้นกำมะหยี่แดงขอบกุ๊นผ้าสีดำหรือน้ำเงินเข้ม ใช้ในงานพระราชกุศลพระอัฐิ ตัวพัดมีลักษณะเป็นพัดหน้านาง ทำด้วยผ้าไหมสีแดงสดตามสีวันพระราชสมภพ ขอบนอกขลิบหุ้มด้วยแถบสีฟ้า กลางพัดเป็นตราประจำพระองค์ อักษรพระนามาภิไธย กว ภายใต้พระเกี้ยว ตัวอักษรพระนามปักไหมสีทองบนพื้นสีฟ้า พระเกี้ยวปักดิ้นทองผสมเลื่อม ล้อมรอบด้วยสายสร้อยห้อยดวงตรามหาจักรี หมายถึง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพระบรมวงศ์ในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ตัวสายสร้อยและตรามหาจักรีปักไหมสลับตามสี
บริเวณเหนือพระนามาภิไธย คือพระสัปตปฎลเศวตฉัตร หมายถึง พระอิสริยยศที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉัตรปักด้วยไหมสีขาว ขอบระบายฉัตร อุบะ และยอดปักไหมสีทอง สองฝั่งซ้ายขวาประกอบไปด้วยฉัตรห้าชั้น เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ฉัตรปักไหมสีขาว ขอบระบายยอดริบบิ้นปักไหมสีทอง ล้อมกรอบด้วยลายดอกไม้ปักดิ้นสลับไหม
พัดรองสำหรับถวายบรรพชิตจีนนิกาย อนัมนิกาย ตัวพัดมีลักษณะคล้ายพัดเหลี่ยมมุมมน ซึ่งเป็นพัดยศของบรรพชิตจีนนิกาย อนัมนิกาย แต่แปลงทรงให้ป้อมขึ้น ลักษณะลวดลายและความหมายเหมือนพัดรองสำหรับถวายพระสงฆ์ แต่ตัวพัดมีขนาดย่อมกว่า และด้ามพัดสั้นกว่าพัดรองสำหรับถวายพระสงฆ์
ย่ามที่ระลึก
ย่ามที่ระลึกสำหรับถวายพระสงฆ์และบรรพชิตจีนนิกาย อนัมนิกาย มีลักษณะอย่างเดียวกัน และแบ่งออกเป็นสองสีเช่นเดียวกันกับพัดรอง ได้แก่ ย่ามสีดำที่ระลึกสำหรับถวายในวันงานพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ และย่ามผ้าไหมสีแดง สำหรับถวายในวันการพระราชกุศลพระอัฐิ ใต้ตราพระนามาภิไธยและสายสร้อยห้อยดวงตรามหาจักรี ปักไหมเป็นวันเดือนปีที่ประกอบพระราชพิธี
เครื่องสังเค็ด
เครื่องสังเค็ด หมายถึงสิ่งของมีค่าที่เป็นทานวัตถุถวายสงฆ์ หรือพระภิกษุผู้เทศน์ หรือชักบังสุกุล เพื่ออุทิศเป็นบุญกุศลในงานศพ ซึ่งเกิดเป็นธรรมเนียมนิยมในการสร้างเครื่องสังเค็ดไปถวายตามวัดวาอารามต่างๆ มาตั้งแต่นับเนื่องจากงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังจัดเครื่องสังเค็ดอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงพระศพ ประกอบด้วยตู้สังเค็ดบรรจุหนังสือสารานุกรมสำหรับเยาวชน และหนังสืออื่นๆ จำนวน 30 ชุด สำหรับถวายพระอารามหลวง 30 พระอาราม
ลักษณะตู้สังเค็ด เป็นตู้ไม้สี่เหลี่ยมทาสีน้ำตาลแดง มีขาสำหรับรองรับน้ำหนัก 4 ขนาดกว้าง 82 เซนติเมตร ลึก 41 เซนติเมตร สูง 126 เซนติเมตร ขอบตู้ด้านล่างส่วนที่ติดกับขาตู้ประดับไม้แกะสลักลายปิดทอง ตัวตู้สังเค็ดเปิดด้านหน้าด้วยบานกระจก 2 บาน ผนังตู้แต่ละด้านกรุกระจกใส หน้ากระดานประดับพระนามาภิไธยย่อ กว. รูปหยดน้ำ
อาจารย์ณัฏฐภัทร จันทวิช นักโบราณคดี 10 ชช. ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากร กล่าวว่า ธรรมเนียมการจัดทำของที่ระลึกในงานพระเมรุหรืองานออกพระเมรุมาศนั้น มีสืบเนื่องมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ตามธรรมเนียมราชประเพณี ซึ่งขึ้นอยู่กับแล้วแต่ว่าพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยนั้นจะทรงโปรดฯ ให้จัดสร้างอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้น การออกแบบลวดลายต้องทำให้เห็นลักษณะชัดเจนว่า เป็นเชื้อพระวงศ์หญิงหรือชาย และต้องสัมพันธ์กับองค์พระบรมศพ
ครั้นมาถึงพระราชพิธีพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แม้พระองค์จะประสูติในวันอาทิตย์เช่นเดียวกับพระราชมารดา แต่สีประจำพระองค์ที่ทรงโปรดคือสีฟ้า จึงใช้สีแดงประกอบในการจัดสร้างฉากบังเพลิงที่กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบบางส่วน โดยเป็นภาพพวงดอกแก้วกัลยาบนพื้นหลังสีแดง ขณะที่ฉากบังเพลิงที่เป็นรูปเทวดาเล่นดนตรีนั้นจะใช้พื้นสีฟ้าเป็นหลัก ด้านบนประดับอักษรพระนามาภิไธยย่อ กว. รูปหยดน้ำ
“เครื่องสังเค็ดซึ่งเป็นหนังสือที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้เป็นหนังสือที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ ทรงนิพนธ์ และโปรดให้มีหนังสือที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับศิลปะ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ที่ทรงโปรด”
สำรับภัตตาคารสามหาบ
สามหาบ หมายถึง อาหารคาวหวาน 3 คู่ ที่ถวายพระสงฆ์เมื่อเวลาเก็บอัฐิ
ที่มาของการจัดสร้างเครื่องใส่สำรับสามหาบ ตามประเพณีวันเก็บพระบรมอัฐิแต่กาลก่อนนั้น ก่อนที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเก็บพระบรมอัฐิ จะโปรดเกล้าฯ ให้ราชสกุลชั้นหม่อมหลวง หม่อมราชวงศ์ และราชนิกุลฝ่ายหน้านุ่งขาวทั้งชุด ประดับราชอิสริยาภรณ์ เดินสามหาบ คือ การถือหม้อข้าวตั้งบนเชิงกราน, ถือผ้าไตรที่จะสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ และหาบสาแหรกไม้คานหุ้มผ้าขาววางตะลุ่มหรือเตียบบรรจุถ้วยชามมีอาหารคาวหวาน ถวายพระสงฆ์ที่นิมนต์มาสำหรับพระบรมศพ โดยจัด 3 ชุด ชุดหนึ่งมีพระสงฆ์ 3 รูป 3 ชุด จึงเป็นพระสงฆ์รับสามหาบ 9 รูป
ต่อมาในปีพ.ศ.2484 มีงานเมรุหลวงพระราชทานเพลิงที่หน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ได้เลิกประเพณีการเดินสามหาบเวียนเมรุ เปลี่ยนเป็นทำสำรับภัตตาหารสามหาบตั้งถวายพระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ครั้นถึงงานพระเมรุมาศท้องสนามหลวงถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ถวายพระเพลิงสมเด็จพระศรีวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และถวายพระเพลิงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 จึงได้งดการเดินสามหาบเวียนเมรุมาศเช่นเดียวกัน
พระราชพิธีเก็บพระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทางสำนักพระราชวังได้จัดผ้าไตรตามราชประเพณีสามหาบทูลเกล้าฯ ถวายทรงทอดสดับปกรณ์พระอัฐิ ส่วนสำรับภัตตาคารสามหาบจัดเป็นโตกไม้เครื่องเขินสีดำริมขอบเขียนลายทอง กลางโตกและขาโตกมีอักษรพระนามาภิไธยย่อ กว รูปหยดน้ำสีทอง โดยหนึ่งชุดประกอบไปด้วยโตกใหญ่ (เครื่องคาว) โตกกลาง (เครื่องหวาน) และโตกเล็ก ภาชนะเป็นเซรามิกสีฟ้าน้ำทะเลตามสีประจำพระองค์สำหรับบรรจุอาหารคาวหวาน ริมขอบภาชนะขลิบทอง ที่ฝาภาชนะมีอักษรพระนามาภิไธยย่อ กว รูปหยดน้ำสีทอง
หนังสือพระพี่นางฯ
นอกจากเครื่องสังเค็ดถวายพระภิกษุ วัด และศาสนสถานต่างๆ แล้ว ยังมีของที่ระลึกหลักๆ เช่นหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ รวมทั้งรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จัดพิมพ์น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายอีกจำนวนหนึ่ง
โดยสำนักราชเลขาธิการ จัดทำสื่อขึ้นมา 2 รายการ คือ แผ่นพับพระประวัติ พระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวนพิมพ์ 2,000,000 ฉบับ อีกรายการเป็น หนังสือพระประวัติ และพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พิมพ์ 80,000 เล่ม
สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ทำเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ ดีวีดี สารคดีพระประวัติและพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทำขึ้น 50,000 ชุด
ด้าน สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ทำหนังสือ ศิลปกรรมพระประวัติ และพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดพิมพ์ 20,000 เล่ม
สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์หนังสือ พระประวัติและพระกรณียกิจสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ฉบับอักษรเบรล จำนวน 2,000 เล่ม เพื่อให้คนตาบอดได้รับทราบพระประวัติ และพระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
ส่วน กรมศิลปากร รับหน้าที่จัดทำหนังสือ 4 รายการ บวรเวท รุ่งรุจี ผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เล่าถึงรายละเอียดของหนังสือที่ทางกรมจัดพิมพ์ว่า
เล่มแรก ชื่อ พระปิยโสทรเชษฐภคินี : ร้อยกรองน้อมสำนึกพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พิมพ์จำนวน 10,000 เล่ม มีสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
"แนวคิดของหนังสือเล่มนี้ คือ แสงหนึ่งคือรุ้งงาม พูดถึงพระจริยวัตร และพระกรณียกิจต่างๆ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ”
ผู้ที่มาร่วมประพันธ์บทร้อยกรองมีเช่น คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ, ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง, อดุล จันทรศักดิ์, พระมหาสมหวัง ธีเรสโก (สาระภะ), พรเทพ โตชยางกูร และ บุญเตือน ศรีวรพจน์ เป็นต้น
ส่วนเล่มที่สองคือ จดหมายเหตุพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดพิมพ์ 5,000 ชุด ชุดละ 2 เล่ม หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รับผิดชอบการจัดทำ
ผอ.สำนักวรรณกรรมฯ พูดถึงหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นการรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับงานพระราชพิธีทั้งหมด มีคณะทำงาน 1 ชุด เก็บข้อมูลตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระชนม์ จนถึงเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
เล่มต่อมา คือ เครื่องประกอบพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พิมพ์ทั้งหมด 20,000 เล่ม
"เมื่อครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคต กรมศิลปากรได้จัดทำหนังสือเรื่องราชรถ คราวนี้จะถือเป็นเล่มต่อเนื่อง เนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องประกอบอื่นๆ ในขบวนแห่เครื่องพระอิสริยยศ ยกตัวอย่าง เช่น มีราชรถใหญ่ ราชรถน้อย มีเครื่องประกอบ เครื่องสูง ฉัตร เป็นต้น เน้นในส่วนของราชรถ ไม่ใช่ส่วนของพระเมรุ แต่คงต้องพูดถึงบ้างในภาพกว้าง ไม่ได้ลงรายละเอียดนัก" ผอ.บวรเวทขยายความ
เล่มสุดท้าย เป็น จดหมายเหตุประชาชน : ข่าวสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ จากหนังสือพิมพ์ พิมพ์ 10,000 ชุด ชุดละ 2 เล่ม ได้หอสมุดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานดูแล
เน้นการรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ที่นำเสนอข่าวสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สิ้นพระชนม์ นำข่าวมาร้อยให้เป็นเรื่องเดียวกันตามลำดับเวลา เป็นการทำจดหมายเหตุคล้ายคลึงกับที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงจัดทำขึ้น เมื่อครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคต
"หนังสือจดหมายเหตุที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงทำขึ้นนั้นเป็นเล่มใหญ่ ท่านมีรับสั่งว่า อยากรู้ว่าประชาชนรู้สึกอย่างไรต่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จะสื่อทางไหนก็ต้องสื่อทางสื่อมวลชน เพราะเป็นการสะท้อนภาพรวมของประชาชน" ผอ.บวรเวทเล่า
หนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่นอกเหนือไปจากนั้น จะแจกจ่ายไปตามหน่วยงานต่างๆ ห้องสมุด และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพราะคงไม่สามารถแจกให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ต้องใช้วิธีแบ่งปันความรู้ด้วยการแบ่งปันกันอ่าน
เว้นแต่ แผ่นพับพระประวัติ พระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ประชาชนจำนวนมากสามารถไปรับได้
ประโคมเพลง ประเลงถวาย
ทางสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำซีดีรวมบทเพลงแสดงความ อาลัย เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ เพื่อน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ และพระเกียรติคุณ ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เพื่อเป็นที่ระลึกใน งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "ซีดีชุด ประโคมเพลงประเลงถวายนี้ รายการดนตรีคลาสสิก สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ และเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์ ในด้านดนตรีคลาสสิกให้ปรากฏสืบไป อีกทั้งเพื่อใช้เป็นของที่ระลึกสำหรับแจกจ่ายให้แก่ผู้ได้รับเชิญไปร่วมเฝ้าฯ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ในนามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"
ซีดีชุด ประโคมเพลง ประเลงถวาย นี้ เป็นชุดประวัติศาสตร์เพราะได้รวบรวมบทเพลงคลาสสิกของ 7 ศิลปินเอกในวงการดนตรี คลาสสิกไทย ประกอบด้วย ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร, ทฤษฎี ณ พัทลุง, ณัฐ ยนตรรักษ์, ณรงค์ ปรางเจริญ, อภิสิทธิ์ วงศ์โชติ, ศรสันติ์ นิวาสานนท์ และ สมเถา สุจริตกุล ที่ประพันธ์ขึ้นภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ เพื่อแสดงความอาลัยอย่างสุดซึ้งด้วยบท เพลงอันทรงคุณค่าทางศิลปะ รังสรรค์ขึ้นด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และกำกับไว้ด้วยชั้นเชิงแห่งศาสตร์และศิลป์ของศิลปะดนตรีชั้นสูง อันเป็นประจักษ์พยานแห่งความก้าวหน้าของวงการดนตรีคลาสสิกร่วมสมัย ที่ประเทศเราได้บ่มเพาะสืบทอดต่อกันมาในช่วงเวลา ประมาณ 30 ปี โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีส่วนเป็นกำลังสำคัญ ของความสำเร็จและความก้าวหน้านี้
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ผู้ประพันธ์บทเพลงเอก เพลงถวายปฏิญญาของวงดุริยางค์ ซิมโฟนีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "เพลงนี้เกิดจากความตั้งใจที่จะประพันธ์บท เพลงเพื่อถวายแด่พระองค์โดยเฉพาะ และเป็นบทเพลงอลังการทางศิลปะด้วยการอ่านทำนอง เสนาะ การอ่านบทกวี และการขับร้องที่กล่าวถึงคำมั่นสัญญาที่จะธำรงรักษาซึ่งปณิธานที่จะสืบ สานงานศิลปะ ตามที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงวางแนวทางไว้"
ส่วนบทเพลงแสงดาวนั้น สำหรับวงดุริยางค์เครื่องสาย ที่จะถ่ายทอดความรู้สึกของผู้ประพันธ์ที่มีต่อพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อ ประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเสียงดนตรีแห่งความเศร้าที่บอกถึงการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่
ด้าน นรอรรถ จันทร์กล่ำ วาทยกรบทเพลงถวายปฏิญญา กล่าวว่า "รู้สึกภาคภูมิใจ และเป็นเกียรติมากที่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานครั้งนี้ และเพื่อเป็นการแสดงร่วมความอาลัยแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์"
อาจารย์สมเถา สุจริตกุล ประธานมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพฯ (Bangkok Opera) กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้เคยประพันธ์เพลง "กัลยานี ซิมโฟนี" เป็นของขวัญน้อมเกล้าฯถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในโอกาสที่เจริญพระชนมายุครบ 79 พรรษา"
สำหรับซีดีชุดประวัติศาสตร์นี้จะจัดทำขึ้นเพียง 10,000 ชุด และจะทำการมอบให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดการพระราชทานเพลิงพระศพต่อไป
บทเพลงทั้งหมด สามารถติดตามฟังได้จาก รายการเพลงคลาสสิก ดำเนินรายการโดย สีส้ม เอี่ยมสรรพางค์ และ สดับพิณ รัตนเรือง ทางสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย FM 101.5 MHz เวลา 21.30 - 24.00 น. ทุกวัน
*********************