xs
xsm
sm
md
lg

มองประวัติศาสตร์ผ่านงานพระราชพิธีฯ ส่งเสด็จครั้งสุดท้ายก่อนทรงสู่นิรันดร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก่อนจะถึงพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในวันพรุ่งนี้ พสกนิกรชาวไทยได้รับชมพระราชพิธีพระศพอันยิ่งใหญ่สมพระเกียรติต่อเนื่องมาแล้วถึง 5 วัน พระราชพิธีเก่าแก่และยิ่งใหญ่นี้มีคติความเชื่อเป็นมาอย่างไร คำตอบนั้นถูกฉายภาพผ่านงานพระราชพิธี ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งพราหมณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ให้ทราบกัน

จากพระเมรุมาศถึงสุสานหลวง

พระเมรุมาศ หรือที่เรียกว่า เมรุกลางเมืองนั้น ใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์หรือพระศพที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพลิงกลางเมือง เป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยชั้นสูง พระเมรุมาศเป็นอาคารก่อสร้างแบบชั่วคราว จัดเป็น “กุฎาคาร” กล่าวคือ เป็นอาคารที่มียอดแหลมเรียวสูง เรียกว่า “เรือนยอด” ซึ่งอาจเป็นเรือนยอดทรงมณฑป หรือยอดทรงปรางค์ก็สุดแล้วแต่สถาปนิกผู้ออกแบบ

การสร้างพระเมรุมาศมาจากคติความเชื่อในเรื่องจักรวาล โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นประธานและเป็นที่ประทับของพระอินทร์ เขาพระสุเมรุนี้ล้อมรอบด้วยทวีปใหญ่ๆ 4 ทวีป และทวีปเล็กๆ อีก 4 ทวีปอยู่ระหว่างทวีปใหญ่ นอกจากนี้ยังล้อมรอบด้วยภูเขาอีก 7 ลูก ถัดจากนั้นล้อมรอบด้วยสีทันดรสมุทร

คนไทยมีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นอวตารแห่งองค์พระนารายณ์ ดังนั้นสัญลักษณ์และสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์จึงได้จำลองมาจากสวรรค์ โดยเฉพาะเขาพระสุเมรุแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมตามความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ชั้นสูง อุบัติมาจากสวรรค์ เมื่อสิ้นพระชนม์หรือสวรรคตแล้วก็ต้องเสด็จกลับคืนสู่สวรรค์ ด้วยเหตุนี้จึงได้สร้างที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นรูปของเขาพระสุเมรุ และเรียกที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพนี้ว่า “พระเมรุมาศ”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อธิบายถึงภาพงานพระสุเมรุ หรือการทำศพเจ้านายชั้นสูงนั้นว่า ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อเกี่ยวกับการจัดการศพอยู่สามอย่าง คือ ความเชื่อดั้งเดิมที่ปรากฏในหมู่หลายชนชาติของอุษาคเนย์, ศาสนาฮินดู และพระพุทธศาสนา ทั้งสามส่วนนี้ประกอบพิธีขึ้นโดยผสมกลมกลืนกันแต่ความเชื่อดั้งเดิมเป็นแกนหลัก ส่วนอื่นประกอบเข้ามาในภายหลังและค่อนข้างจะอยู่ที่ผิวนอกของพิธีกรรมเป็นส่วนใหญ่

โดยนักประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับผู้หนึ่งเสนอความเห็นว่า การสร้างพระเมรุมาศเพื่อ "ทำศพ" เจ้านายชั้นผู้ใหญ่นั้น คงเริ่มมีมาแต่รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งรับเอาประเพณีของเขมรเข้ามาหลายอย่าง แต่แทนที่จะสร้างด้วยศิลาขนาดใหญ่ ก็ทำเป็นเครื่องไม้ให้อลังการแทน จำลองเขาพระสุเมรุในพระราชพิธีขึ้นตามคติความเชื่อดั้งเดิมทางศาสนา

พระเมรุมาศก็คือเขาพระสุเมรุอันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ "บรรพบุรุษ" ของชาวอุษาคเนย์ได้ถูกเปลี่ยนหรือถูกปรับให้สอดคล้องกับความเชื่อของเทพเจ้าของฮินดู-พุทธมานานแล้ว การนำเอาพระบรมศพขึ้นไปตั้งที่ยอดเขาพระสุเมรุก็คือ การส่งดวงวิญญาณคืนกลับไปสู่พระเป็นเจ้าโดยตรง หรือหากพูดด้วยภาษาความเชื่อดั้งเดิม คือการจำลองที่อยู่ของบรรพบุรุษขึ้นบนพื้นโลกแล้วนำพระบรมศพไปส่งถึงที่นั่นเอง ("วัฒนธรรมสุวรรณภูมิในงานพระเมรุ" กองทุนเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ ,2551)

ขณะที่นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียนหนังสือธรรมเนียมพระบรมศพ และพระศพเจ้านาย ฉายย้อนภาพงานพระราชพิธีงานพระเมรุว่า พระราชพิธีพระบรมศพและพระศพมีธรรมเนียมปฏิบัติหลายขั้นตอน แม้บางสิ่งจะปรับไปตามความเหมาะสม แต่จุดมุ่งหมายคงอยู่ที่การส่งเจ้านายพระองค์ที่ล่วงลับสู่สวรรคาลัย สำหรับเจ้านายที่มีพระกรุณาธิคุณอย่างสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงมีการถวายพระเกียรติสูงสุดตามโบราณราชประเพณี

นนทพรกล่าวว่า ลำดับพระอิสริยยศจะมีผลต่อการจัดขบวนและเครื่องสูงที่ใช้ในพระราชพิธีต่างๆ การที่เจ้านายแต่ละพระองค์สิ้นพระชนม์ บางพระองค์จะได้รับการเถลิงพระนามและเลื่อนพระอิสริยยศ สำหรับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ นั้นตามอิสริยยศชั้นเจ้าฟ้า ตามแบบแผนจะได้รับพระราชทานพระโกศทองน้อย แต่ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังถวายเกียรติสูงสุดตามโบราณราชประเพณี ดังนั้นพระโกศที่ใช้ในงานพระราชพิธีครั้งนี้ จึงเป็นโกศทองใหญ่ หรือพระลองทองใหญ่ อันเป็นโกศที่มีลำดับชั้นสูงสุด

ทั้งนี้ การจัดพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ไทยในอดีตนั้น อาจแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมในอดีตแต่ละยุค เช่น งานพระบรมศพของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย มิได้เป็นไปตามแบบแผนโบราณราชประเพณี ด้วยเพราะเหตุวิสัยจากสภาพการเมืองไทยในขณะนั้น

ส่วนขนบแบบแผนตามโบราณราชประเพณีก็มีการเปลี่ยนแปลงในบางส่วน เช่น การใช้พระโกศบรรจุพระบรมศพและพระศพได้กระทำต่อเนื่องจนถึงงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ.2527 เป็นครั้งสุดท้ายที่ดำเนินขั้นตอนตามกรรมวิธีแบบโบราณ โดยได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการสุกำพระศพ (การใช้ผ้าพระภูษาขาวพันและด้ายสายสิญจน์ผูกตราสังที่พระศพ แล้วนำพระศพบรรจุลงโกศไว้ในแนวตั้ง) ในบางขั้นตอน เนื่องจากการเปลี่ยนจากการเปลี่ยนจากการบรรจุพระบรมศพหรือพระศพจากการนั่งคุกพระชานุ ประนมพระหัตถ์ไปเป็นบรรทมหลับ

สำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและขั้นตอนดังกล่าว เริ่มในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมศพ และพระศพลงหีบพระศพ แทนการบรรจุโกศซึ่งสามารถทำได้ตามพระราชอัธยาศัย ได้แก่ พระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ.2538 และพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ในครั้งนี้

พิธีการอีกอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนไป นั่นคือ ในอดีตก่อนการถวายเพลิงพระสรีระ จะเริ่มจากการเผาพระบุพโพ (น้ำเหลือง) ก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้ปัจจุบันไม่ได้ปฏิบัติแล้ว เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยทำให้การรักษาสภาพศพดีขึ้น ซึ่งในอดีตการสุกำพระศพโดยใช้เครื่องสุกำทรงพระบรมศพไว้ หรือใช้ผ้าขาวห่อพระศพจำนวนมากก็สามารถซับพระบุพโพได้บางส่วน ซึ่งใต้พื้นของพระบรมโกศจะมีช่องสำหรับรองรับพระบุพโพ ส่วนสถานที่เผาพระบุพโพนั้นจะอยู่ตามวัดต่างๆ เป็นคนละส่วนกับการออกพระเมรุที่ท้องสนามหลวง

ภายหลังที่วิทยาการด้านการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น ประกอบกับการปรับเปลี่ยนวิธีการบรรจุเป็นใช้หีบพระศพแทน ทำให้หน้าที่ของพระโกศใช้เฉพาะเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศ ไม่ได้บรรจุพระบรมศพหรือพระศพจริง ดังนั้นจึงไม่ต้องเตรียมถ้ำพระบุพโพและเผาตามธรรมเนียมเดิมอีกต่อไป สำหรับขั้นตอนที่ยังคงอยู่ ได้แก่ การถวายซองพระศรีบรรจุเครื่องบูชาพระจุฬามณี และการถวายแผ่นทองจำหลักปิดที่พระพักตร์ ส่วนการถวายพระชฎาจากที่ต้องสวมพระเศียรเปลี่ยนเป็นวางข้างพระเศียรแทน ซึ่งวิธีการเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติถวายแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เช่นเดียวกับงานพระบรมศพของสมเด็จพระบรมราชชนนี

สำหรับธรรมเนียมการลอยพระอังคารและจัดเก็บพระบรมอัฐินั้น นนทพรกล่าวว่าประเพณีการลอยพระอังคารนั้น เป็นธรรมเนียมที่ได้รับมาจากฮินดู ปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 3 ก่อนจะเลิกไปในรัชกาลที่ 6 สมัยกรุงศรีอยุธยามีการสร้างวัดหลายแห่งเพื่อเก็บอัฐิเจ้านาย และได้ริเริ่มจัดเก็บพระบรมอัฐิไว้ในพระบรมมหาราชวังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงเพิ่มที่จัดเก็บพระบรมอัฐิไว้ที่มุขยอดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ก่อนรัชกาลที่ 6 จะโปรดฯ ให้มีการนำพระสรีรางคารในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ใต้ฐานพระพุทธชินราชที่วัดเบญจมบพิตรฯ ซึ่งต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดฯ ให้บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ไว้ ณ อนุสรณ์สถาน รังษีวัฒนา วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หรือที่เรียกกันว่าสุสานหลวง

ราชวงศ์จักรี ราชวงศ์แห่งเทพ

พระราชครูวามเทพมุนี ผู้นำคณะพราหมณ์ประจำสำนักพระราชวังกล่าวถึงคติเทวราชา ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นสมมติเทพ ว่าตามคติพราหมณ์นั้นวงศ์ที่ยกย่องที่สุดเท่าที่เข้ามาอยู่ในโลกคือ รามาวตาร ฉะนั้น พระมหากษัตริย์ที่ดีจึงทรงคุณธรรมเยี่ยงพระราม ในบ้านเราจึงยกย่องว่าพระมหากษัตริย์ของไทยว่าเป็นวงศ์ของพระราม มีคำต่อท้ายพระนามว่ารามาธิบดี

พระราชครูวามเทพมุนีอธิบายต่อไปว่า ราชวงศ์จักรี เป็นวงศ์ของพระรามอวตาร เมื่อในสายของพระองค์ท่านก็จะได้รับความดีถ่ายทอดมาในสายเลือดตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ได้รับการยกย่องจากวรรณะพราหมณ์ สำหรับในงานพระเมรุจะจำลองภาพสวรรค์คือเขาพระสุเมรุมาในโลกมนุษย์ โดยจำลองภาพจักรวาลมาจากไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและพราหมณ์ฮินดู เป็นศูนย์กลางพิธี เมื่อมีพระสุเมรุแล้วจึงส่งเสด็จฯ ด้วยพระมหาพิชัยราชรถซึ่งเป็นราชรถทรงของพระอาทิตย์ เพื่อส่งเสด็จพระองค์สู่สรวงสวรรค์ มีความสำคัญที่ความเที่ยงตรง เพราะพระอาทิตย์ไม่เคยสาย ขึ้นฉายแสงอรุณในตอนเช้าและลาลับไปในตอนเย็นเสมอ

ด้านความเชื่อในการเชิญพระศพเข้าสู่ในพระโกศเชื่อว่าเป็นสวรรค์ชั้นดุสิต ไปสู่เขาพระสุเมรุซึ่งสถาปัตยกรรมมีแนวคิดหลายแบบ ในคติของพราหมณ์การชำระด้วยไฟเพื่อความบริสุทธิ์ จึงเชิญพระอัคนีถวายพระบรมศพ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องการลอยอังคารเพื่อให้พระแม่คงคารับ ซึ่งวิธีการจัดการกับเถ้าอัฐิมีหลายแบบ คนธรรมดาอาจจะลอยน้ำ แต่ถ้าบุคคลมีความสำคัญจะเก็บไว้ในโกศเพื่อให้ระลึกได้ถึงอยู่เสมอ

ทั้งนี้ พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าคณะพราหมณ์ผู้ประกอบพระราชพิธีพระบรมศพกล่าวว่า สิ่งสำคัญในวันพระราชพิธี คือผู้ร่วมขบวนพิธีอัญเชิญทำด้วยแรงใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชักลากพระยานมาศสามลำคานอัญเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระมหาพิชัยราชรถ เลื่อนพระโกศขึ้นบนจิตกาธาน ต่างสำรวมส่งเสด็จด้วยใจ คนที่เข้าไปอยู่ในพิธีกรรมทั้งหมด จึงถูกสมมติว่าเป็นเทวดาอัญเชิญพระองค์ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยตามคติแบบพราหมณ์

หัวหน้าคณะพราหมณ์กล่าวว่า การอัญเชิญพระองค์เสด็จสู่สวรรค์ เป็นการระลึกถึงความดีของพระองค์ ขบวนแห่ทั้งหลายก็คือการเดินตามรอยพระบาท รอยความดีของพระองค์ ซึ่งเป็นวงศ์รามาวตาร ดังนั้นอยากให้ประชาชนมองภาพพระราชพิธีที่เห็นว่าไม่ใช่แค่การยกย่อง แต่ตระหนักรู้คุณธรรมของและเดินตามแนวทางนั้น

"ราชรถนั้นก็วิจิตร เพราะทำจากใจ คนลาก คนชัก คนเดินตามทำด้วยใจทั้งนั้น เราเป็นคนดูก็ส่งใจไปได้ด้วยจิตเป็นกุศล ซึ่งภาวะที่ส่งสามารถส่งได้ทุกภพภูมิโดยอ้างเทวทูตทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้ช่วยนำจิตกุศลนั้นไปน้อมส่งเสด็จพระองค์กลับสู่สวรรค์"

ในคติของพราหมณ์ พราหมณ์ผู้ทำหน้าที่ท้ายขบวนพระมหาพิชัยราชรถเพื่อภาวนาส่งเสด็จ ในการทำพิธีนี้พราหมณ์จะปล่อยผม ไม่ได้เกล้ามุ่นเป็นมวย เพื่อเป็นการส่งเสด็จพระองค์ขึ้นสู่สวรรค์ หลังจากส่งขึ้นพระเมรุเสร็จแล้วจึงจะมุ่นมวยกลับ ด้วยทางพราหมณ์เชื่อว่ามุ่นมวยผมคือที่สถิตของเทพยดา จึงขอให้เทวดาช่วยส่งเสด็จ

พิธีกรรมพระราชพิธีพระบรมศพสมัยอดีตกับปัจจุบันนั้นหลักการเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดอาจจะมีการปรับให้กระชับ สำหรับวิธีการส่งเสด็จนั้นยังเหมือนเดิมทุกประการ ไม่เปลี่ยนแปลง คติความเชื่อที่อยู่เบื้องหลังพระราชพิธี ทางคณะพราหมณ์รับและปฏิบัติมาโดยสายเลือดที่บรรพบุรุษทำหน้าที่ดูแลพระผู้เป็นเจ้า และกษัตริย์ตลอดจนพระราชวงศ์ที่เป็นสมมติเทพ และมีปณิธาณที่เข้มแข็งสืบทอดต่อมาในตระกูล จึงมอบหมายให้บุตรทำหน้าที่ในการปฏิบัติดูแลพระผู้เป็นเจ้า

ทั้งนี้ พระราชครูวามเทพมุนีได้ให้ข้อคิดในการเข้าร่วมหรือรับชมพระราชพิธีไว้ว่า ในความคิดที่พสกนิกรมีความรู้สึกถึงสมเด็จกรมหลวงฯ ที่พระองค์ได้ทรงงานมูลนิธิต่างๆ เราในฐานะประชาชนควรระลึกและปิติยินดีขอให้พระองค์ไปสู่ภพสรวงสวรรค์ อีกประการหนึ่งคือภาพขบวนต่างๆ ในพระราชพิธีนั้นคือวัฒนธรรม ไม่ว่าจะขบวนนำก็ดี หรือขบวนตามส่งเสด็จก็ดี เราควรจะตามรอยพระบาทในสิ่งที่เป็นมงคล

"ทั้งในด้านที่สมเด็จกรมหลวงฯ พระองค์ทรงมีวิริยะในการศึกษามาตลอดจนถึงปัจจุบัน เราได้เห็นพระประวัติพระจริยวัตรของพระองค์ท่าน ดังนั้นไม่ว่ามีโอกาสทำงานจะอยู่ในสายงานอาชีพใด ก็ขอให้ทำในด้านนั้นให้เต็มที่ และน้อมนำจิตกุศลที่เราปฏิบัติดีถวายพระองค์ท่านส่งกลับสู่สวรรค์"

*เรียบเรียงจากกิจกรรมและเอกสารประกอบการเสวนา "งานพระเมรุ - ฉายภาพผ่านพราหมณ์ พระราชพิธี ของชำร่วย และภาพยนตร์" จัดโดย มิวเซียมสยาม

พระบรมศพสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ กษัตริย์กรุงกัมพูชา ในพระหัตถ์ทั้งสองข้างทรงถือซองพระศรีบรรจุเครื่องบูชาพระจุฬามณี พร้อมกับทรงแผ่นทองคำหลักปิดพระพักตร์
ลายเส้นจำลองลักษณะของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระโกศทองใหญ่ ภายหลังเสด็จสวรรคตใน พ.ศ.2409 ภาพนี้อยู่ในหนังสือเดินทางรอบโลกของเคาน์โบวัว ชาวฝรั่งเศส

พระโกศทองใหญ่ ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการใช้พระฉากกั้นบริเวณภายในพระที่ประดิษฐานพระบรมศพ (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระโกศทองใหญ่ ทรงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น กางกั้นพระโกศเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศ ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท


กำลังโหลดความคิดเห็น