ขอกล่าวสวัสดีปีใหม่กับคนอ่านทุกคน ปีฉลูหรือปีวัวที่ผ่านมาถึงแล้วนี้ ใครๆก็ว่าเป็นวัวหน้าโหด โหดทั้งเรื่องสภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม การเมือง ที่ย่อมส่งผลถึงสภาพจิตใจของคนด้วยเช่นกัน
การเริ่มต้นปีใหม่ด้วยสิ่งที่เป็นสิริมงคล จึงน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี เช่นการทำบุญไหว้พระ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่เราเคารพ หาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้เข้มแข็ง เมื่อจิตใจเข้มแข็งดีแล้ว ก็อย่าลืมยึดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องของความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต เท่านี้ก็น่าจะใช้ชีวิตผ่านปีวัวที่ว่าโหดไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ด้วยเหตุนี้เราจึงได้นำเส้นทางไหว้พระ 5 เส้นทางในกรุงเทพมหานคร โดยอ้างอิงจากคอลัมน์ลุยกรุง ที่เขียนโดยคุณหนุ่มลูกทุ่ง มาให้ได้เดินทางไปกราบไหว้กันตามศรัทธา ซึ่งเส้นทางเหล่านี้ก็เป็นเส้นทางไหว้พระใหม่ๆ นอกเหนือไปจากเส้นทางไหว้พระ 9 วัด ที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว
เส้นทางไหว้ 9 พระธาตุ
พระธาตุที่ว่านี้ก็คือพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้แก่ กระดูก ฟัน และเถ้าที่เหลือหลังจากการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระองค์ที่เมืองกุสินารา
สำหรับ 9 พระบรมสารีริกธาตุนั้นก็เริ่มจากที่ "วัดพระศรีรัตนศาสนาดาราม" หรือ "วัดพระแก้ว" ที่พระบรมสารีริกธาตุนั้นประดิษฐานอยู่ใน "พระศรีรัตนเจดีย์” ที่ตั้งอยู่บนฐานไพทีใกล้เคียงกับพระมณฑปและปราสาทพระเทพบิดร โดยพระศรีรัตนเจดีย์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่รัชกาลที่ 4 ทรงได้มาจากลังกา ภายในเป็นพระเจดีย์องค์เล็กซึ่งมีลักษณะเหมือนกับพระศรีรัตนเจดีย์องค์ใหญ่ที่ครอบไว้ทุกประการ และภายในเจดีย์องค์เล็กนั้นก็เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ จะเปิดให้เข้าชมเฉพาะในวันสำคัญๆ เท่านั้น
ที่ "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" หรือ "วัดโพธิ์" ก็ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว ซึ่งประดิษฐานอยู่ตรงมุมพระวิหารคดทั้งสี่ด้าน หมู่เจดีย์ประกอบไปด้วยพระเจดีย์ใหญ่ตรงกลาง และล้อมรอบด้วยพระเจดีย์เล็กอีกสี่องค์อยู่บนฐานเดียวกัน และภายในเจดีย์ก็บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ทุกองค์ด้วย
"วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์" ฟังจากชื่อก็รู้แล้วว่าวัดนี้ต้องมีพระบรมสารีริกธาตุแน่นอน และสำหรับผู้ที่ต้องการกราบไหว้พระธาตุ ก็ต้องไปที่ "พระมณฑป" ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระอุโบสถ ซึ่งภายในมณฑปนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทองศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้
ส่วนพระเจดีย์ที่เพิ่งบูรณะเสร็จสดๆร้อนๆ ก็คือที่ "วัดบวรนิเวศวิหาร" ซึ่งมี "พระเจดีย์" สีทองสุกใสที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แล้วเสร็จในรัชกาลที่ 4 โดยภายในคูหากลางองค์เจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์กะไหล่ทอง ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย
ใกล้กับศาลเจ้าพ่อเสือ หรือที่ "วัดมหรรณพาราม" ก็มีองค์พระเจดีย์ทอง ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างขึ้นด้านหลังไว้ด้านพระอุโบสถ และบนยอดเจดีย์นั้นก็บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วยเช่นกัน
ที่ "วัดราชนัดดา" ซึ่งมี "โลหะปราสาท" ซึ่งเป็นโลหะปราสาทองค์สุดท้ายที่เหลืออยู่เพียงองค์เดียวในโลก บนชั้นบนสุดของโลหะปราสาทเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ สามารถเดินขึ้นไปสักการะ และชมทิวทัศน์ด้านบนกันได้
แต่หากอยากชมทิวทัศน์ที่สูงกว่านั้นก็ต้องมาที่ "ภูเขาทอง" แห่ง "วัดสระเกศ" เพราะมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ที่เจดีย์ด้านบน เชื่อว่าน่าจะเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่อยู่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ อีกด้วย
ที่ "วัดโสมนัสวิหาร" ก็มีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ด้านหลังพระวิหาร โดยรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทอดกฐินที่วัดโสมนัสวิหาร และทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ทรงได้รับมาจากอินเดียไว้ที่เจดีย์องค์ใหญ่นี้
และวัดสุดท้าย มากันที่ "วัดประยุรวงศาวาส" ที่เมื่อเร็วนี้ได้มีการซ่อมแซม "พระบรมธาตุมหาเจดีย์" ทำให้พบพระบรมสารีริกธาตุถึงสององค์ด้วยกันที่บรรจุอยู่ภายใน อีกทั้งยังมีพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากประเทศศรีลังกาเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาอีกด้วย
เส้นทางไหว้ 9 พระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาทก็เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนถือเป็นสิ่งควรกราบไหว้ด้วยเช่นกัน โดยความเชื่อที่ว่า “รอยพระพุทธบาท” หมายถึงรอยเท้าของพระพุทธเจ้า เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้าก่อนที่จะมีการสร้างพระพุทธรูป อีกทั้งยังแสดงถึงความเป็นดินแดนสิริมงคล ที่พระพุทธองค์ได้ดำเนินไปถึง
สำหรับรอยพระพุทธบาทที่วัดในกรุงเทพฯนั้นก็มีอยู่มากหลาย ซึ่งเราขอคัดมาเพียง 9 วัด เริ่มกันที่
“วัดอินทรวิหาร” ย่านบางขุนพรหม ซึ่งมีจุดเด่นคือหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางอุ้มบาตรองค์ใหญ่ยักษ์ ซึ่งด้านหลังขององค์หลวงพ่อโตมีมณฑปรอยพระพุทธบาทจำลองที่สร้างด้วยหินอ่อนสวยงาม
ที่ “วัดชนะสงคราม” หากเดินเลาะพระอุโบสถไปยังด้านหลังก็จะพบรอยพระพุทธบาทจำลองที่ตั้งประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง มีผู้คนมากราบไหว้อยู่เสมอ
“วัดบวรนิเวศวิหาร” นอกจากจะมีพระบรมสารีริกธาตุแล้วก็ยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่ในศาลาบริเวณด้านข้างพระอุโบสถด้วยเช่นกัน ความพิเศษคือเป็นรอยพระพุทธบาทคู่ ต่างจากที่อื่นๆที่มักเป็นรอยพระพุทธบาทเพียงข้างเดียว
ส่วนที่ “วัดจักรวรรดิราชาวาส” หรือ “วัดสามปลื้ม” ก็มีมณฑปพระพุทธบาทอันสวยงาม ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองที่มีลักษณะลึกกว่าวัดอื่นๆ
และหากใครจะมาที่พระอุโบสถของ “วัดสุทัศนเทพวราราม” ก็จะต้องเดินผ่านรอยพระพุทธบาทจำลองที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าประตูทางเข้าพระอุโบสถทางซ้ายมือ หากจุดธูปเทียนไหว้พระแล้วก็อย่าลืมไหว้พระพุทธบาทไปพร้อมๆกัน
ที่ “วัดโพธิ์” ก็มีรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถวายไว้ในพระอารามแห่งนี้ โดยรอยพระพุทธบาทนั้นประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป ซึ่งเป็นวิหารที่อยู่รอบพระมณฑปนั่นเอง สามารถเข้าไปกราบไหว้กันได้
ตรงข้ามกับวัดโพธิ์คือ “วัดอรุณราชวราราม” ซึ่งมีมณฑปพระพุทธบาทจำลอง ตั้งอยู่ระหว่างเจดีย์ 4 องค์ และพระวิหารใหญ่ ฐานของมณฑปเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่ออิฐถือปูนประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสีต่างๆ ใครจะไปไหว้ก็ต้องเดินขึ้นบันไดไปด้านบน
และที่ “วัดอมรินทราราม” ใกล้กับรพ.ศิริราช ก็มีมณฑปพระพุทธบาทจำลองที่ถือว่าเป็นมณฑปที่สวยงามแห่งหนึ่งเลยทีเดียวแม้ปัจจุบันจะดูทรุดโทรมตามกาลเวลาก็ตาม แต่หากใครอยากจะเข้าไปกราบสักการะก็ต้องรองานประจำปีของวัด
และมากราบรอยพระพุทธบาทจำลองแห่งสุดท้าย ที่ “วัดพิชยญาติการาม” หรือวัดพิชัยญาติ โดยรอยพระพุทธบาทนั้นประดิษฐานอยู่บนพระปรางค์ขนาดใหญ่ด้านหลังวัด โดยองค์ปรางค์ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกนั้นประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองในตู้กระจกไว้ถึง 4 รอยด้วยกัน แทนพระพุทธเจ้าทั้ง 4 องค์
เส้นทางเที่ยววัดประจำรัชกาล
ในกรุงเทพฯนั้นมีอยู่หลายวัดด้วยกันที่เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ทรงสร้าง หรือทรงทำนุบำรุงจนรุ่งเรืองเป็นศาสนสถานอันงดงาม ในภายหลังเราจึงยกย่องให้วัดซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีความผูกพันเหล่านี้เป็นวัดประจำรัชกาลของแต่ละพระองค์
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น ก็ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม วัดเก่าแก่ใกล้พระบรมมหาราชวังขึ้นเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือวัดโพธิ์มาจนปัจจุบันด้วย และเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต ก็ได้นำพระบรมอัฐิมาประดิษฐานไว้ใต้ฐานชุกชีของพระประธานในพระอุโบสถ วัดโพธิ์จึงเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1
ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มี “วัดอรุณราชวราราม” เป็นวัดประจำรัชกาล โดยเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 1 ที่ประทับของพระองค์จะอยู่ที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี และวัดที่อยู่ใกล้กับพระราชวังเดิมที่สุดก็คือวัดอรุณฯ พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณ และยังได้ทรงลงมือปั้นหุ่นพระพักตร์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วยพระองค์เองอีกด้วย และเมื่อสวรรคต พระบรมอัฐิของพระองค์ก็ถูกนำมาไว้ที่วัดอรุณแห่งนี้
สำหรับวัดประจำพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ก็คือ “วัดราชโอรสาราม” หรือเดิมชื่อวัดจอมทอง เพราะเมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในรัชกาลที่ 2 มีข่าวว่าข้าศึกจะยกทัพเข้ามา พระองค์จึงยกทัพออกไปตั้งรับผ่านไปทางคลองด่าน และได้ทำพิธีเบิกโขลนทวารที่วัดนี่ด้วย อีกทั้งได้ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากมีชัยชนะกับศึกครั้งนี้เมื่อไร จะกลับมาบูรณะวัดให้เจริญรุ่งเรือง แต่สุดท้าย ข้าศึกก็ไม่เข้ามา ดังนั้นเมื่อขึ้นครองราชย์พระองค์จึงเข้ามาบูรณะวัดแห่งนี้
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์ ก็ได้ทรงสร้าง “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม” ขึ้น เพื่อให้มีวัดธรรมยุตินิกายอยู่ใกล้ๆ พระบรมมหาราชวัง โดยภายในวัดนั้นก็มีพระวิหารหลวง และพระเจดีย์ประดับด้วยหินอ่อน ภายในพระวิหารมีพระประธานมีนามว่า “พระพุทธสิหังคปฏิมากร” ซึ่งหล่อจำลองมาจากพระพุทธสิหิงค์ ภายในพระพุทธอาสน์บรรจุพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ 4 ไว้ด้วย วัดแห่งนี้จึงเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4
ส่วนวัดประจำรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” ที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อคู่กับวัดของพระราชบิดาซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม คือวัดราชประดิษฐ์ ศิลปวัตถุที่นี่งดงามหาชมได้ยาก พระอุโบสถภายนอกเป็นศิลปะไทย แต่ภายในเป็นแบบฝรั่งโกธิคน่าชมมากทีเดียว
เมื่อมาถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่ได้สร้างวัด แต่สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวงหรือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยขึ้นแทน แต่บางคนก็ว่าวัดประจำรัชกาลของพระองค์คือ “วัดบวรนิเวศวิหาร” เนื่องจากพระองค์เคยผนวชอยู่ที่นั่น
ในสมัยของรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิได้มีการสร้างวัดเช่นกัน แต่พระองค์ท่านได้ปฏิสังขรณ์วัดของพระราชบิดา หรือรัชกาลที่ 5 แทน จึงถือว่า “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” เป็นวัดประจำทั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 เช่นกัน
สำหรับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ก็ไม่ได้มีการสร้างวัดเช่นกัน เนื่องจากมีช่วงรัชสมัยที่สั้นมาก แต่หลายคนยกให้ “วัดสุทัศนเทพวราราม” เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดความเงียบสงบของวัดแห่งนี้ และยังได้เสด็จมาทำสมาธิที่นี่บ่อยๆ อีกด้วย และใต้ฐานพระพุทธบัลลังก์ของพระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารนั้นก็ได้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 8 ไว้ และบริเวณพระระเบียงยังมีพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์อีกด้วย
เส้นทางไหว้ 7 พระยืน
พระพุทธรูปในอิริยาบถยืนนั้นไม่ค่อยจะได้เห็นบ่อยสักเท่าไร แต่ก็ถือเป็นปางที่ดูสง่างามไม่น้อย และหากใครจะถือว่ามาไหว้พระยืน เพื่อชีวิตที่ยืนยาวยั่งยืนตลอดไป ก็เป็นสิริมงคลแก่ตัวเองไม่น้อย
เริ่มจากวัดแรกที่ “วัดโพธิ์” อีกเช่นเคย พระพุทธรูปยืนที่มีนามว่า “พระพุทธโลกนาถ” ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารทิศตะวันออก เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ขนาดสูง 20 ศอก เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ในกรุงศรีอยุธยา แต่ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่นี่ในสมัยรัชกาลที่ 1
มาถึงพระยืนอีกวัดหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อ นั่นก็คือ "วัดบวรสถานสุทธาวาส" หรือ "วัดพระแก้ววังหน้า" ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในพื้นที่ของวิทยาลัยนาฏศิลป์ เชิงสะพานปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร ตัววัดสร้างขึ้นในสมัยกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 และพระองค์ยังได้ทรงสร้างพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางห้ามสมุทรไว้สำหรับประดิษฐานในพระอุโบสถทรงจัตุรมุขขนาดใหญ่นี้ด้วยเช่นกัน
มาต่อกันที่ “วัดสระเกศ” นอกจากจะมีภูเขาทองเป็นจุดเด่นที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดีแล้ว ก็ยังมีพระพุทธรูปยืนนามว่า "พระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร" เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติขนาดสูง 5 วา 1 ศอก 10 นิ้ว ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดวิหารทอง จังหวัดพิษณุโลก แต่ต่อมารัชกาลที่ 3 โปรดฯให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดสระเกศ
ส่วนที่ "วัดอินทรวิหาร" ก็มีพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไปด้วยเช่นกัน พระพุทธรูปองค์นี้มีนามว่า "พระศรีอริยเมตไตรย" หรือที่คนนิยมเรียกท่านว่า "หลวงพ่อโต" โดยเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่สูงที่สุดในโลก คือมีความสูงประมาณ 32 เมตร และบนยอดเกตุของหลวงพ่อโตก็มีพระบรมสารีริกธาตุที่รัฐบาลประเทศศรีลังกามอบให้รัฐบาลไทยประดิษฐานอยู่ ส่วนองค์ของหลวงพ่อโตนั้นก็ประดับด้วยกระจกโมเสกทองคำแท้จากประเทศอิตาลีทั้งองค์
ที่ "วัดราชโอรสาราม" โดยพระวิหารที่อยู่ทางด้านซ้ายของพระอุโบสถซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนนั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ตามปกติแล้วพระวิหารนี้จะไม่เปิดให้เข้าชม ยกเว้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งทางวัดจะจัดงานประจำปีขึ้น
ส่วน "วัดเครือวัลย์วรวิหาร" วัดซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับกรมอู่ทหารเรือ ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีพระพุทธรูปยืนเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระยาอภัยภูธรและเจ้าจอมเครือวัลย์ในรัชกาลที่ 3 ผู้เป็นธิดาได้ปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระประธานในพระอุโบสถนั้น เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติอันงดงามไม่แพ้วัดไหน
ปิดท้ายวัดพระยืนวัดสุดท้ายที่ "วัดดุสิดารามวรวิหาร" บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้าฝั่งธนบุรี วัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่รวมเอาพื้นที่ของวัดเก่า 3 วัดรวบเข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน คือวัดดุสิดาราม วัดน้อยทองอยู่ และวัดภุมรินราชปักษี แลละพระพุทธรูปยืนที่พูดถึงนี้ก็อยู่ในเขตของวัดภุมรินราชปักษีเก่า ซึ่งยังคงมีอุโบสถและวิหารหลงเหลืออยู่ โดยบริเวณด้านหลังของวิหารนั้นจะมีพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ด้วย
เส้นทางไหว้ 5 พระนอน
จากพระยืน เรามาปิดท้ายเส้นทางไหว้พระกันด้วยพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์ 5 องค์ที่มีความงดงามแตกต่างกัน มากันที่ “วัดโพธิ์” อีกครั้งหนึ่ง พระพุทธไสยาสน์ที่วัดโพธิ์นี้งดงามจนได้รับยกย่องให้เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่งามเป็นเอกแห่งยุครัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังเป็นพระนอนที่มีขนาดยาวที่สุดในกรุงเทพฯ และเป็นอันดับสามของประเทศไทย คือมีความยาวถึง 46 เมตร เป็นพระนอนปางโปรดอสุรินทราหู และจุดเด่นที่ต้องไม่พลาดชมของพระนอนองค์นี้ก็คือ ลายประดับมุกเป็นมงคล 108 ประการที่พื้นพระบาทของพระไสยาสน์
ใน “วัดบวรนิเวศวิหาร” ก็มีพระพุทธไสยาสน์เก่าแก่และมีความงดงาม นั่นคือ “พระไสยา” พระนอนที่ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเดียวกับพระศรีศาสดา พระไสยานั้นเป็นพระศิลาลงรักปิดทอง ปางปรินิพพาน เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระพายหลวง ในเมืองสุโขทัย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในขณะที่ยังทรงผนวชอยู่ได้โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญมาไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ไม่ว่าใครที่ได้มากราบไหว้ก็ต้องชื่นชมในความงดงามอ่อนช้อยของพระไสยาทุกครั้งไป
และหากใครอยากกราบไหว้พระนอนที่งดงามด้วยศิลปะแบบกรีก คือเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะคล้ายคนธรรมดา ก็ต้องมาที่ “วัดราชาธิวาส” โดยพระพุทธรูปองค์นี้มีนามว่า “พระนิพพานทรงญาณ” เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริด ปางทรงพระสุบิน ศิลปะประยุกต์แบบกรีก มีพระวรกายคล้ายคนธรรมดา ห่มจีวรที่พลิ้วไหวเป็นริ้วบางเบาคล้ายผ้าจริง พระเนตรหลับพริ้ม แม้กระทั่งลักษณะการวางพระบาท ก็เป็นไปในลักษณะสมจริง งดงามจนอยากให้ทุกคนได้ไปชมกันที่ห้องประชุมตึกไชยันต์ โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส
ส่วนที่ “วัดมหาพฤฒาราม” นั้น ก็มีพระพุทธไสยาสน์องค์งามอยู่เช่นกัน โดยในพระวิหารนั้นประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งมีขนาดใหญ่ไม่น้อย โดยในหมู่พระปางไสยาสน์ด้วยกันนั้น พระพุทธไสยาสน์ของวัดมหาพฤฒารามนั้นจะมีขนาดเป็นรองก็แค่พระพุทธไสยาสน์ที่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)เท่านั้น แต่ก่อนนั้นพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ไม่ได้มีความยาวดังในปัจจุบัน แต่รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้ปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปให้ใหญ่ขึ้นคือมีความยาว 19.25 เมตรด้วยกัน
ส่วนพระนอนองค์สุดท้าย ถือว่ามีความแปลกแตกต่างจากพระนอนอีก 4 องค์ที่ว่ามาแล้ว เพราะเป็นพระนอนหงายที่หาชมได้ยากยิ่ง ที่ “วัดราชคฤห์” เท่านั้น ชาวบ้านนิยมเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อนอนหงาย” พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ที่เบื้องปลายพระบาทนั้นมีพระสาวก คือ พระมหากัสสปะนั่งประนมมือ ซึ่งสร้างโดยพระยาพิชัยดาบหัก
และนี่ก็คือ 5 เส้นทางไหว้พระในช่วงเทศกาลปีใหม่ ใครมีศรัทธาในเส้นทางใด ก็จงไปตามเส้นทางนั้นเถิด