xs
xsm
sm
md
lg

ส่งเสด็จพระพี่นางฯสู่สวรรคาลัย ณ ทุ่งพระเมรุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
พระเมรุในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันที่ชาวไทยทั้งประเทศจะร่วมถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นครั้งสุดท้าย ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-19 พฤศจิกายน นี้ ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งฉันเชื่อว่าคงต้องมีประชาชนเป็นจำนวนมากไปร่วมส่งเสด็จพระองค์สู่สวรรคาลัยอย่างแน่นอน

พูดถึงงานพระเมรุครั้งที่ผ่านมาในอดีต ก็จัดขึ้นที่ท้องสนามหลวงมาโดยตลอด หากว่าสนามหลวงพูดได้ เราคงจะได้ฟังเรื่องเล่าที่น่าสนใจมากมาย เพราะสนามหลวงนั้นถือเป็นสถานที่ที่อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวังซึ่งถือเป็นใจกลางของพระนคร และได้ผ่านงานพระราชพิธีที่สำคัญและพระราชพิธีพระศพมาหลายต่อหลายครั้ง จนถูกเรียกว่าเป็น "ทุ่งพระเมรุ" แต่ในเมื่อท้องสนามหลวงพูดไม่ได้ วันนี้ฉันจึงขอถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับทุ่งพระเมรุมาเล่าให้ทุกคนฟังแทน
พระเมรุในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพของ ร.4
บริเวณทุ่งพระเมรุในอดีตนั้น เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมเป็นเพียงท้องนาหน้าวัดมหาธาตุ แต่ท้องนาธรรมดาๆนี้ก็ได้ถูกใช้เป็นสถานที่สร้างพระเมรุขึ้นครั้งแรกก็คืองานพระเมรุพระบรมอัฐิพระชนกแห่งรัชกาลที่ 1 และถูกใช้ในการจัดพระราชพิธีพระศพขึ้นอีกหลายครั้ง ชาวบ้านจึงเรียกทุ่งแห่งนี้ว่า "ทุ่งพระเมรุ" มานับแต่นั้น

แต่พอมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าการที่ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่าทุ่งพระเมรุนั้นฟังดูไม่เป็นมงคล พระองค์จึงทรงออกประกาศเกี่ยวกับการเรียกชื่อของทุ่งพระเมรุนี้ว่า "ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่ง และเป็นการอวมงคลมาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ทุ่งพระเมรุ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไป ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้นให้เรียกว่า ท้องสนามหลวง"

พื้นที่ของสนามหลวงในอดีตนั้นไม่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน โดยสนามหลวงแต่ดั้งเดิมนั้นมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของสนามหลวงปัจจุบันเท่านั้นเอง แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงรื้อป้อมปราการต่างๆในเขตพื้นที่วังหน้าออก และขยายสนามหลวงให้กว้างขวางขึ้น อีกทั้งยังได้ปลูกต้นมะขามไว้โดยรอบสนามหลวงจำนวน 365 ต้น ซึ่งต้นมะขามเหล่านั้นก็เติบโตแผ่กิ่งก้านให้ความร่มรื่นรอบสนามหลวงมาจนถึงปัจจุบัน
พระเมรุในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพของ ร.8
หน้าที่ของทุ่งพระเมรุหรือท้องสนามหลวงจากอดีตมาจนปัจจุบันนั้นถือว่ามีความหลากหลายมากทีเดียว เพราะมีตั้งแต่การเป็นท้องนาปลูกข้าว ไปจนถึงเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีพืชมงคลและพิธีพิรุณศาสตร์ จนเมื่อมีการเลิกทำนาในท้องสนามหลวงไปในสมัยรัชกาลที่ 5 ท้องสนามหลวงก็ยังได้ใช้เป็นที่ประกอบพิธีต่างๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปในพ.ศ. 2440 จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 สนามหลวงก็ยังใช้เป็นสนามแข่งม้า สนามกอล์ฟอีกด้วย

มาจนปัจจุบันนี้ ท้องสนามหลวงก็ยังคงเป็นสถานที่จัดงานสำคัญของชาติอยู่เช่นเคย ไม่ว่าจะเป็น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ งานเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ไปจนถึงงานของประชาชนอย่างการงานเทศกาลว่าวและกีฬาไทย หรือแม้กระทั่งการชุมนุมทางการเมือง
ความงดงามของพระเมรุยามค่ำคืน
แม้จะมีประกาศให้เลิกเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าทุ่งพระเมรุมานานแล้วก็ตาม แต่หน้าที่ของสนามหลวงในความเป็น "ทุ่งพระเมรุ" ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม โดยได้ใช้จัดงานถวายพระเพลิงพระบรมศพและพระศพมาหลายต่อหลายครั้ง เช่น งานพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอในอดีต และพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์

ส่วนงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในท้องสนามหลวงที่คนในยุคนี้พอจะได้เคยมีโอกาสเห็นและร่วมไว้อาลัย ก็คงจะเป็นงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า

และมาในครั้งนี้ ทุ่งพระเมรุก็ต้องรับหน้าที่ในการเป็นสถานที่ในการจัดงานพระศพอีกครั้ง โดยจะมีการพระราชทานเพลิงพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อีกครั้งหนึ่ง
ร่วมถวายความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯได้ในช่วงวันที่ 14-19 พ.ย.นี้
สำหรับงานพระราชทานเพลิงพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯนั้น สิ่งสำคัญที่หลายๆคนให้ความสนใจก็คือ "พระเมรุ" โดยคติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างพระเมรุนั้นก็สืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่าจักรวาลนั้นมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง และในสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เราก็ยังถือคติเทวนิยม คือเชื่อว่าพระ มหากษัตริย์สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า เป็นพระนารายณ์อวตารลงมาปกครองประชาชน ดังนั้นเมื่อกษัตริย์เสด็จสวรรคตก็จึงต้องประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเพื่อส่งเสด็จคืนสู่เทวพิภพ ณ ดินแดนเขาพระสุเมรุ ดังนั้นอาคารที่ถวายพระเพลิงจึงถูกจัดจำลองและประดับตกแต่งให้เหมือนดังเขาพระสุเมรุ

งานพระเมรุหรืองานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินของไทยนั้นไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีขึ้นเมื่อใด แต่พบบันทึกการสร้างพระเมรุมาศของสมเด็จพระนเรศวร ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งงานพระเมรุมาศของสมเด็จพระนเรศวรครั้งนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันต่อมาจนถึงสมัยนี้
สัตว์หิมพานต์ที่ประดับบนฐานพระเมรุ
สำหรับองค์พระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯที่เสร็จสมบูรณ์พร้อมสำหรับงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแล้วนั้น เป็นพระเมรุทรงปราสาทจัตุรมุข ย่อมุมไม้สิบสอง ยอดปักพระสัปตปฏลเศวตฉัตร สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ฐานพระเมรุจัดทำเป็น 2 ระดับ ระดับแรกเรียกว่า ฐานชาลา ประดับด้วยรูปเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก ตรงกลางเป็นโคมไฟ ด้านในมีรูปเทวดาประทับยืนถือฉัตรเครื่องสูงรายรอบ ระดับที่สอง หรือฐานบนเรียกว่า ฐานพระเมรุ เป็นฐานสิงห์ มีรูปสัตว์หิมพานต์ตั้งประดับอยู่ด้านละ 1 คู่ แสดงความเป็นป่าหิมพานต์ตามคติไตรภูมิ

โถงกลางใหญ่ตั้งพระจิตกาธานขนาดใหญ่สำหรับประดิษฐานพระโกศ ด้านทิศเหนือมีรางยื่นออกไปนอกมุขเป็นสะพานเกริน เพื่อใช้เป็นที่เคลื่อนพระโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นบนพระเมรุ ตัวองค์พระเมรุทั้งด้านในและด้านนอกประดับตกแต่งด้วยผ้าทองย่นเกือบทั้งหมด โดยใช้สีทองและสีแดงเป็นสีหลัก และภายในบางส่วนตกแต่งด้วยลวดลายจิตรกรรมไทย
การซ้อมใหญ่ริ้วขบวนงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
นอกจากนี้ก็ยังมีอาคารประกอบอื่นๆ เช่น พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารโถงสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับทรงธรรมและทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระศพ รวมทั้งมีที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หอเปลื้อง สถานที่สำหรับเก็บพระโกศหลังจากได้ เชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธานแล้ว และใช้เป็นที่เก็บสัมภาระต่างๆในการพระราชพิธี เช่น ฟืน ดอกไม้จันทน์ ขันน้ำ ซ่างหรือสำส้าง เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ตลอดงานพระเมรุ และอีกหลายอาคารด้วยกัน

ในวันนี้ที่พระเมรุที่สร้างเสร็จสมบูรณ์และเตรียมพร้อมสำหรับงานพระราชพิธีแล้ว ก็มีประชาชนหลายคนแวะเวียนไปชมและถ่ายภาพประวัติศาสตร์นี้เก็บไว้เพื่อเป็นที่ระลึก และไม่ว่าใครที่ได้ไปเห็นก็ต้องชื่นชมในความงดงามสมพระเกียรติของพระเมรุสำหรับส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สู่สวรรค์
เตรียมพร้อมก่อนวันงานพระศพจริง
สำหรับคนที่อยู่ไกลไม่มีโอกาสได้มาชมพระเมรุก่อนวันพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธี รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าชมความงดงามของพระเมรุ เป็นระยะเวลา 1 เดือน ในเวลาราชการ และจะมีการนำภาพเขียนโดยศิลปิน 84 คน รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการพระประวัติ พระกรณียกิจ และเครื่องประกอบพระอิสริยศบางส่วนของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้รับชม

กว่า 84 ปี ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯได้ประสูติขึ้นในราชจักรีวงศ์ และกว่าครึ่งชีวิตของพระองค์ก็ได้ทรงงานเพื่อปวงชนชาวไทย เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว สิ่งที่เราจะทำได้เพื่อเป็นการถวายความอาลัยแด่พระองค์เป็นครั้งสุดท้ายก็คือการร่วมส่งเสด็จพระองค์สู่สวรรคาลัยนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น