“นายเหน่ง คนขี้ยา อาศัยวัด อยู่เมืองสุโขทัย จำหุ่นไหหลำมาดัดแปลงเป็นหุ่นไทย และออกเชิดร้องเล่นหากิน จนต่อมา ม.ร.ว.เถาะ พยัคฆเสนา ผู้เคยได้ตามเสด็จกรมพระยาดำรงฯไปเห็นหุ่นกระบอกที่เมืองอุตรดิตถ์ จึงได้กลับมาสร้างหุ่น และตั้งคณะหุ่นกระบอกขึ้นเป็นคณะแรกในบางกอกเมื่อ พ.ศ.2436 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
นั่นคือ การสืบสาวประวัติและความเป็นมาของ “หุ่นกระบอกไทย” ที่ “อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต” ศิลปินแห่งชาติได้รวบรวมและบันทึกเอาไว้ในหนังสือ “หุ่นไทย” โดยนำหลักฐานอ้างอิงจากลายพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ที่ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือสาสน์สมเด็จมาถ่ายทอดให้กับผู้ที่ชื่นชอบในศิลปะการแสดงแขนงนี้ได้รับรู้
อย่างไรก็ตาม เส้นทางของหุ่นกระบอกไทยก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนับตั้งแต่มีการก่อตั้งคณะหุ่นกระบอกคณะแรกขึ้น ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ
**ฟื้นตำนานจากงานออกพระเมรุ
ย้อนกลับไปในยุคเริ่มแรก....
เมื่อมีการตั้งคณะหุ่นกระบอกคณะแรกขึ้นใน พ.ศ.2436 หรือตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หุ่นกระบอกก็ได้รับความนิยมเรื่อยมา โดยเรื่องที่นิยมเล่นกันมากคือ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ไกรทอง พระเวสสันดร และลักษณวงศ์ แต่เมื่อเวลาต่อๆ มามีมหรสพประเภทอื่นๆ มาแทนที่ตามแต่ยุคสมัยทำให้หุ่นกระบอกซบเซาลงไป มีเพียงคณะละครไม่กี่แห่งเท่านั้นที่สามารถเปิดการแสดงอยู่ได้
จวบจน พ.ศ.2522 คณะละครหุ่นกระบอกของไทย มีโอกาสเปิดการแสดงในสหภาพโซเวียตในละครเรื่องพระอภัยมณี จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูหุ่นกระบอกของกรมศิลปากรอย่างจริงจัง โดยพัฒนาบทจากละครนอก โดยทำการจำลองหุ่นขึ้นมาใหม่ให้มีขนาดใหญ่กว่าหุ่นดั้งเดิมในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ประชาชนสามารถมองเห็นตัวหุ่นได้ชัดเจนมากขึ้น นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงมหรสพที่สามารถเล่นได้ทั่วทุกงานในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หุ่นกระบอกเป็นอีกหนึ่งมหรสพที่ถูกสั่งให้งดการแสดงในงานสมโภชพระเมรุตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการแสดงเลยระหว่างนั้น เพราะยังมีคณะละครต่างๆ ยังทำการแสดงอยู่เรื่อยมา แต่ในงานออกพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์นั้นกลับได้รับการงดเว้นมิให้มีการแสดงใดๆ
จวบจนเมื่อครั้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พ.ศ.2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดฯ ให้มีการรื้อฟื้นการประโคมดนตรี และการแสดงมหรสพ เพื่อมิให้บรรยากาศเงียบเหงา อีกทั้งยังเป็นการรักษาแบบแผนประเพณีดั้งเดิมไว้อีกด้วย หุ่นกระบอกจึงได้กลับมาร่วมแสดงในงานสมโภชพระเมรุอีกครั้ง
และในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่จะถึงในวันที่ 15 พ.ย.นี้ หุ่นกระบอกก็เป็นหนึ่งในมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุที่กรมศิลปากรกำหนดให้จัดการแสดง ณ เวทีที่ 3 ด้านศาลอาญา ซึ่งจะเริ่มการแสดงระหว่างเวลา 19.00-21.30 น.ของวันที่ 15 พ.ย.ในท้องเรื่อง “พระอภัยมณี ตอนรักจำพราก” โดยเนื้อหาสอดคล้องเกี่ยวเนื่องกับความรัก และการลาจากกับบุคคลอันเป็นที่รัก
****เบื้องหลังหุ่นกระบอกงานพระเมรุพระพี่นาง
อ.เผด็จพัฒน์ พลับกระสงค์ ในฐานะผู้ประพันธ์บทและกำกับการแสดงละครหุ่นในงานออกพระเมรุ บอกว่า จุดประสงค์ของการนำหุ่นกระบอกมาเป็นหนึ่งในมหรสพเนื่องด้วย หุ่นกระบอกเป็นอีกการแสดงหนึ่งที่จัดอยู่ในศิลปะการแสดงสืบทอดราชประเพณี ซึ่งไม่ว่างานรื่นเริง งานบุญ กระทั่งงานศพก็สามารถชมได้ แต่เนื่องในปัจจุบันมีคณะละครหุ่นกระบอกเหลืออยู่ไม่กี่คณะ ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ในงานออกพระเมรุในครั้งนี้ ประชาชนจะได้รับชมการแสดงนี้อย่างพร้อมหน้ากัน
สำหรับในครั้งแรกนั้น ละครหุ่นกระบอกที่จะใช้แสดงในงานออกพระเมรุครั้งนี้ คือ ตำนานจระเข้ไกรทอง แต่มีเหตุให้ต้องปรับเพื่อความเหมาะสมจึงเปลี่ยนเนื้อเรื่องเป็นพระอภัยมณีเช่นเดียวกันกับในงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพียงแต่เนื้อหาในแต่ละตอนได้มีการเปลี่ยนแปลงให้มีความแตกต่างจากเดิมบ้าง
ผู้กำกับการแสดงหุ่นกระบอก เล่าถึงความหมายของการแสดงในงานออกพระเมรุครั้งนี้ ว่า พระอภัยมณีในตอนรักจำพรากนั้น ประกอบด้วย 3 ตอน คือ จำพรากรักดับชีวา ว่าด้วยการพลัดพรากจากของนางผีเสื้อสมุทรและพระอภัยมณี รักก็แสนรัก แต่จำใจต้องฆ่าเมียเพื่อตนจะได้เดินทางต่อไป ตอนที่ 2 สุดสาครตามหาบิดา กล่าวถึงการจำจากของนางเงือกและสุดสาคร และตอนที่ 3 นางละเวงก่อศึก ซึ่งเริ่มจากการสิ้นพระชนม์ของพระราชบิดาและพระเชษฐาของนาง ทำให้นางละเวงเกิดความแค้น จึงเป็นต้นเหตุของการเขียนรูปด้วยเวทย์มนตร์จนเป็นเหตุให้เกิดศึก 9 ทัพ
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า เนื้อเรื่องโดยรวมทั้ง 3 ตอนนั้นเกี่ยวเนื่องกับการพลัดพรากและความรักทั้งสิ้น กระนั้นด้วยความเป็นละครนอกจึงต้องมีมุขสอดแทรกตลอดเรื่องเพื่อมิให้ผู้ชมเบื่อหน่าย ซึ่งศิลปินส่วนใหญ่เป็นนักแสดงในสำนักการสังคีต สังกัดกรมศิลปากรทั้งสิ้น 22 คน
“เราใช้ผู้เชิดที่เคยเล่นเป็นตัวละครนั้นๆ ในละครนอกมาก่อน เช่นนางผีเสื้อสมุทรก็ใช้คนที่เคยเล่นละครเป็นนางผีเสื้อสมุทรมาก่อน แต่เนื่องจากว่าเราพัฒนาหุ่นให้ตัวใหญ่ขึ้น น้ำหนักหุ่นก็หนักกว่า 2 กิโลกรัม จึงพัฒนาให้หุ่นบางตัวต้องใช้คนเชิด 2 คนโดยถือแกน 1 คนและเชิดแขนให้รำอีก 1 คน ซึ่งจะคล้ายกับหุ่นละครเล็ก เพียงแต่หุ่นกระบอกคนดูจะไม่เห็นคนเชิดเท่านั้น ดังนั้น จึงเหมือนกับว่าหุ่นเหล่านั้นมีชีวิตและใกล้ชิดกับผู้ชมจริงๆ” ผู้กำกับการแสดง แจกแจง
อ.เผด็จพัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้ในงานออกพระเมรุจะมีบรรยากาศเศร้าโศก แต่เป้าหมายของมหรสพงานพระเมรุส่วนใหญ่ก็เพื่อให้ประชาชนได้ออกทุกข์ ดังนั้นการละเล่นของละครหุ่นจึงต้องแทรกความสนุกสนานเข้าไปด้วย โดยยังคงแก่นของเนื้อเรื่องซึ่งว่าด้วยความรัก และการพลัดพรากจากสิ่งที่รักไปอยู่
“เนื่องจากละครหุ่นกระบอกดัดแปลงมาจากละครนอก ละครเสภา พัฒนามาจากการละเล่นของสามัญชนในสมัยก่อน การแสดงจึงมีลูกเล่นมากกว่าละครใน มีมุขตลก ยิ่งปัจจุบันเราพัฒนาบทและตัวละครให้หลากหลายมากขึ้น มีฉากที่หลากหลายคนดูจะได้ไม่เบื่อ” อ.เผด็จพัฒน์ เล่าความเป็นมา
อ.เผด็จพัฒน์ เปิดเผยถึงความพร้อมสำหรับการแสดงละครหุ่นกระบอกในงานออกพระเมรุ ว่า นับตั้งแต่การดำเนินการเรื่องคัดเลือกบทละคร ประพันธ์ในเดือน มิ.ย.เรื่อยมาจนบัดนี้นั้นความพร้อมทางด้านผู้แสดงและบทนั้นนับว่าลงตัวแล้ว สิ่งที่จะต้องแก้ไขในขณะนี้ คือ การลดทอนเพลงและบทร้องให้พอดีกับเวลาที่กำหนด อีกทั้งยังต้องรอให้หุ่นที่จะใช้ในวันแสดงจริงซ่อมเรียบร้อยเสียก่อน สำหรับฉากและองค์ประกอบอื่นๆ นั้นคาดว่าจะเสร็จสิ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ และจะทำการซ้อมในละครโรงเล็กตั้งแต่วันที่ 8-12 พ.ย. นี้ โดยทำการซ้อมใหญ่วันที่ 13 พ.ย.นี้
“เราไม่สามารถไปซ้อมกับเวทีจริงได้ เนื่องจากหุ่นกระบอกนั้นมีการแต่งองค์ทรงเครื่องของหุ่นเรียบร้อยแล้ว หากไปซ้อมกลางแจ้งอาจจะไม่ตื่นเต้นเมื่อแสดงจริง จะแตกต่างจากโขนที่เขานุ่งโจงกระเบนซ้อมได้ แต่หุ่นกระบอกไม่ใช่ แต่ถามความพร้อมก็ต้องบอกว่าทุกคนพร้อมอยู่แล้ว” อ.เผด็จพัฒน์ ให้การยืนยันทิ้งท้าย