xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยพระโกศ “พระพี่นาง” จากต้นจันทน์ สู่งานพระเมรุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระโกศไม้จันทน์
จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนเต็มแล้ว สำหรับการเตรียมงานพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการเตรียมงานนี้อย่างสมพระเกียรติ โดยในส่วนงานก่อสร้างพระเมรุและส่วนประกอบนั้น ยังคงดำเนินการต่อไปโดยทุกอย่างแล้วเสร็จไปเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ‘พระโกศไม้จันทน์’ อันวิจิตรบรรจงที่เหล่าช่างช่วยกันรังสรรค์จนขณะนี้เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว
พิจิตร นิ่มนาม
** กว่าจะเป็นพระโกศไม้จันทน์
สำหรับพระโกศไม้จันทน์นั้น ถือว่าเป็นส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งในงานพิธีครั้งนี้ ซึ่งโดยรายละเอียดในการจัดสร้างพระโกศไม้จันทน์คงไม่มีใครให้คำอธิบายได้ดีไปกว่า พิจิตร นิ่มนาม นายช่างศิลปกรรม 6 สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เพราะจากประสบการณ์การทำงานด้วยวัย 51 ปี ซึ่งเคยผ่านการถวายงานในพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพและพระศพถึง 3 คราวด้วยกันนับแต่ครั้งถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 , งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี จนครั้งนี้ คืองานถวายพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาในฐานะลูกมือในการจัดสร้างพระโกศไม้จันทน์ในครั้งที่ผ่านๆ มา ทำให้ในครั้งนี้ พิจิตร ก้าวขึ้นมารับหน้าที่การควบคุมและจัดสร้างพระโกศไม้จันทน์ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ การเขียนแบบ ขยายแบบ การปรับแต่งลาย คัดแยกสี ควบคุมการโกลกฉลุ ประดับลายซ่อนไม้ ตลอดจนการประกอบลวดลายขึ้นโครงสร้าง

พิจิตรอธิบายรายละเอียดของการสร้างพระโกศไม้จันทน์ว่า ตั้งแต่สมัยโบราณไม้จันทน์จะนำมาใช้เป็นฟืนในการเผาศพ แต่สำหรับสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์สานุวงศ์ ก็จะนำมาแปรรูปเป็นพระโกศไม้จันทน์ โดยการจัดทำพระโกศไม้จันทน์จะมีการเลื่อยไม้เป็นแผ่นบางๆ ติดแบบแล้วทำการปรุ ฉลุลาย แล้วนำมาประกอบติดกับโครงซึ่งโบราณจะใช้โครงไม้ แต่ในปัจจุบันดัดแปลงมาเป็นโครงลวดเหล็ก บุตาข่าย เพื่อความสะดวกในการจัดสร้าง
แบบลายพระโกศไม้จันทน์
ทั้งนี้ พระโกศไม้จันทน์จะแบ่งรูปลักษณะได้เป็น 2 ลักษณะ คืออย่างในสมัยพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีนั้นจะมีการสร้างเฉพาะตัวองค์พระโกศจันทน์ แต่ในคราวงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้มีการปรับปรุงรูปแบบให้มีฐานรองพระโกศเสริมขึ้นมา ซึ่งทำลักษณะเดียวกันกับในครั้งนี้

พิจิตร อธิบายเพิ่มเติมว่า ไม้จันทน์ที่นำมาใช้ในคราวนี้นั้นได้มาจากป่ากุยบุรี จ.ประจวบฯ ซึ่งหากดูจากไม้จันทน์ที่นำมาจัดสร้างพระโกศในคราวงานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจะพบว่าส่วนหนึ่งเป็นไม้ที่ได้จากในประเทศจึงมีสีเข้ม และอีกส่วนหนึ่งได้มาจากพม่าซึ่งจะมีสีอ่อน จึงต้องมีการนำไม้ทั้งสองสีมาปรุงแต่งรวมกัน โดยการสลับชั้นสี เพื่อให้ดูสวยงามมีมิติมากขึ้น แต่สำหรับคราวนี้ไม้ที่ได้มามีสีเดียวกัน มีเนื้อสีอ่อนอยู่ตรงบริเวณปีกไม้ กระพี้ไม้ ด้วยความต้องการอยากให้มีลักษณะของสีใกล้เคียงกับครั้งที่ผ่านมา จึงต้องให้ช่างที่ทำการแปรรูป แยกสีไม้จากท่อนเดียวกันให้ได้ทั้งสีอ่อนและเข้ม

“ไม้จันทน์ที่ใช้ครั้งนี้เป็นไม้ที่ยืนต้นตายนานแล้ว ทำให้คุณภาพของไม้ไม่ดีเท่าที่ควร คือยางไม้ที่อยู่ในเนื้อไม้แห้ง เนื้อไม้มีความผุอยู่เยอะ การคัดเลือกไม้จึงยุ่งยากที่ต้องทำการหลีกเลี่ยงรอยผุ แต่ด้วยระยะเวลา และไม้ที่มีอย่างจำกัดทำให้ในงานบางชิ้นจึงจะเห็นรอยผุของไม้อยู่ แต่ในคราวสมเด็จย่านั้นจะได้ไม้ที่สวยและสมบูรณ์กว่า” พิจิตรขยายความ
ฐานรองพระโกศไม้จันทน์
** กว่า 2 หมื่นชิ้นลาย ความพิถีพิถันจากสองมือ
สำหรับรายละเอียดของลวดลายนั้น นายช่างศิลปกรรม 6 บอกว่า ในแต่ละยุครูปแบบ และลวดลายก็ต้องเปลี่ยนไปบ้างในส่วนของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่โดยรวมแล้วก็มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันเนื่องจากขนาดของพระโกศไม้จันทน์มีเกณฑ์บังคับในส่วนของพระรองในที่ใช้มาแต่ดั้งเดิม

การจัดสร้างในคราวนี้ใช้ลวดลายทั้งสิ้น 35 ลักษณะ เช่น ลายหน้ากระดาน ลายบัว ลายท้องไม้ ลายบัวกลีบขนุน ลายเฟื่องอุบะ ลายบัวคว่ำ เป็นต้น ซึ่งลายบัวคว่ำนี้จะอยู่ในส่วนของฝาพระโกศซึ่งทำยากที่สุดเพราะมีส่วนโค้ง ลายจึงมีลักษณะโค้ง อีกทั้งยังมีการนำลายอื่นมาซ้อนทับเป็นชั้นๆ ทำให้ต้องใช้ความสามารถในการฉลุลายอย่างสูง และการเปลี่ยนแปลงของลวดลายในแต่ละยุคก็อยู่ที่การออกแบบเช่นกัน เช่น ลายหน้ากระดาน จะอยู่ส่วนล่างเป็นฐานในการออกลาย แล้วขยับขึ้นไปเป็นลายท้องไม้ ลายกระจัง ลายบัวกลีบขนุน จนกระทั้งขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงยอด

“การทำงานทุกขั้นตอนใช้มือทำทั้งหมด โดยการฉลุลายด้วยเลื่อยฉลุ ซึ่งหากคำนวนจากขนาดแล้วในส่วนของตัวพระโกศจันทน์ที่มีขนาดความสูง 162.5 เซนติเมตร มีฐานกว้าง 82 เซนติเมตร จะประกอบด้วยชิ้นส่วนของลายต่างๆ รวม 6,033 ชิ้น ด้านฐานรองพระโกศที่มีความยาว 260 เซนติเมตร กว้าง 140 เซนติเมตร และมีความสูง 92 เซนติเมตรนั้นใช้จำนวนชิ้นลายทั้งสิ้น 10,159 ชิ้น เมื่อทำด้วยมือทำให้ปัญหาเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน เช่น ลักษณะของการใช้เลื่อยฉลุ ที่คราวนี้เนื้อไม้มีความนิ่มบ้าง แข็งบ้าง ในส่วนที่แข็งก็แข็งมากจนคมเลื่อยทื่อ ทำให้ต้องเปลี่ยนใบเลื่อยบ่อย ในบางครั้งเลื่อยไปเจอส่วนที่นิ่ม ก็จะลากยาวไปจนกินเนื้อลายอื่นจนแหว่ง ซึ่งบางครั้งลากยาวจนคมเลื่อยบาดนิ้วก็มี ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย แต่ทุกคนก็พร้อมทำงานนี้ให้ออกมาดีที่สุด” ผู้ควบคุมการจัดสร้างพระโกศไม้จันทน์ให้ภาพ
อุปกรณ์-เครื่องมือ ที่ใช้ในงานฉลุลาย
** ตั้งทีมถอด - ประกอบ เพื่อความพร้อมขั้นสูงสุด
จนถึงวันนี้พระโกศไม้จันทน์ได้จัดสร้างเสร็จสมบูรณ์ รออวดโฉมความงามในศิลปะแบบไทยแก่สายตาทุกคน เหลือเพียงขั้นตอนในการทดลองประกอบ เพื่อซักซ้อมก่อนถึงวันจริงเท่านั้น โดยในเรื่องนี้ พิจิตร ชี้แจงว่า เมื่องานเสร็จแล้วก็ต้องถอดและทดลองประกอบ ซึ่งต้องใช้คนจำนวนมาก ต้องมีการจัดตั้งเป็นคณะทำงานพิเศษโดยใช้คนประมาณ 20 คนในการรับผิดชอบ แต่ละคนต้องฝึกซ้อมและประจำตำแหน่งของตนเองในการยก ประกอบ เพราะในส่วนของตัวพระโกศต้องใช้คน 5-6 คน โดยจะแยกได้เป็น 3 ชิ้น คือส่วนข้าง 2 ชิ้น และส่วนฝา 1 ชิ้น ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบทั้ง 3 ชิ้น ชิ้นละ 2 คน ที่จะต้องนำมาประกบกัน

สำหรับฐานรองพระโกศที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมมีทั้งสิ้น 4 ชิ้น ส่วนฝาที่เลื่อนเข้าออกได้จะแยกเป็น 2 ชิ้น ใช้ผู้รับผิดชอบชิ้นละ 2 คน ก็จะใช้คนประมาณ 12 คน รวมทั้งหมดเป็น 17 คน ที่ต้องรับผิดชอบในการประกอบ และที่ตั้งไว้ 20 คนนั้นที่เหลือก็จะเป็นผู้ควบคุมการประกอบ สั่งการ ดังนั้นจึงต้องมีการซักซ้อมในจุดที่รับผิดชอบ และต้องกำหนดตัวคนที่ชัดเจนอีกครั้งเพื่อไม่ให้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น
ลวดลายที่ผ่านการฉลุ
** ถวายความภักดี ผ่านงานครั้งสำคัญ
ที่สุดแล้ว พิจิตร กล่าวถึงบทสรุปในการเป็นส่วนหนึ่งของงานครั้งสำคัญนี้ว่า ทุกขั้นตอนในการเตรียมงานมีความสำคัญเท่าเทียมกัน พระโกศไม้จันทน์ก็เปรียบเสมือนเป็นหัวใจของงาน เพราะใช้บรรจุพระศพ และตั้งอยู่ใจกลางของพระเมรุ ดังนั้นทุกส่วนที่เป็นองค์ประกอบจึงมีความสำคัญมาก หากขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไปก็จะไม่ลงตัว

“ในการสร้างพระโกศไม้จันทน์นี้เป็นโบราณราชประเพณีอย่างหนึ่ง ซึ่งงานนี้มีคนไทยอีกมากมายอยากเข้ามามีส่วนร่วม แต่พวกเขาก็ไม่มีโอกาส ผมเองเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่มีส่วนร่วมกับเบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ จึงขออนุญาตถือโอกาสนี้เป็นตัวแทนคนไทยทั้งประเทศนำความปิติ ภาคภูมิใจในการมีส่วนร่วมครั้งสำคัญ เพื่อทดแทนพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านทรงมีแก่เหล่าพสกนิกรไทย ด้วยการทำงานที่ถือได้ว่าเป็นที่สุดเท่าที่เคยทำมาเพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน” พิจิตร ทิ้งท้ายความปิติ
กำลังโหลดความคิดเห็น