xs
xsm
sm
md
lg

ไม้จันทน์พระโกศถึงสำนักช่างสิบหมู่แล้ว ก.ทรัพย์แจกต้นกล้า 5 แสนต้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม้จันทน์หอมสำหรับจัดสร้างพระโกศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ถึงสำนักช่างสิบหมู่แล้วเตรียมแปรรูปเพื่อฉลุลวดลายตบแต่งประดับพระโกศ กว่า 25,000 ชิ้น กระทรวงทรัพย์ เพาะต้นกล้าจันทน์ 5 แสนต้น แจกประชาชน
 
เมื่อเวลา 13.45 น.วันนี้ (11 ก.พ.) ที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดพิธีรับมอบไม้จันทน์หอมที่จะนำไปสร้างพระโกศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมี นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) ร่วมเป็นประธานในพิธี โดยมี นายศักดิ์สิทธิ ตรีเดช ปลัด ทส.และ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัด วธ.ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงานกว่า 500 คน ร่วมพิธีที่สำนักช่างสิบหมู่ อ.ศาลายา จ.นครปฐม
 

ทั้งนี้ ขบวนรถบรรทุกไม้จันทน์จาก อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้อัญเชิญพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ประดิษฐานมาพร้อมกับแผ่นไม้จันทน์หอมจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมคณะเดินทางมาถึงสำนักช่างสิบหมู่ เวลาประมาณ 14.00 น.จากนั้นได้มีพิธีรับมอบไม้จันทน์ โดย นายดิสธร วัชโรทัย ผอ.กองอำนวยการส่วนพระองค์ สำนักพระราชวัง พร้อมด้วย นายประสงค์ พิทูรกิจจา ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้อัญเชิญไม้จันทน์ 3 ท่อน มามอบให้แก่ นางอนงค์วรรณ เพื่อส่งมอบให้แก่นายอนุสรณ์

หลังจากนั้น ได้มีการสรงน้ำไม้จันทน์ในเวลา 14.09 น.ตามฤกษ์ที่วางไว้ นางอนงค์วรรณ กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช ได้จัดหาไม้จันทน์หอมยืนต้นตายโดยธรรมชาติ จำนวน 19 ต้น และทางคณะโหรพราหมณ์ สำนักพระราชวัง ได้คัดเลือกตัดต้นจันทน์ด้วยขวานทอง ตามพิธีโบราณราชประเพณี จำนวน 3 ต้น สำหรับนำมาใช้การจัดสร้างพระโกศไม้จันทน์ ในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ
 

ซึ่งขณะนี้กรมอุทยานฯได้ทำการเคลื่อนย้ายไม้จันทน์หอมที่แปรรูปแล้วทั้งหมด 130 แผ่น ปริมาตร 1.55 ลูกบาศก์เมตร มาไว้ที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ทส.ยังได้มอบหมายให้กรมอุทยานฯ กุยบุรี ทำการเพาะต้นกล้าจันทน์ จำนวน 5 แสนต้น เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจนำไปปลูกด้วย นางอนงค์วรรณ กล่าวต่อว่า สำหรับการนำไม้จันทน์หอมที่แปรรูปแล้วเคลื่อนที่ออกจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรีนั้น ได้เริ่มประกอบพิธีตั้งแต่เวลา 06.30 น.และได้นำขบวนรถบรรทุกไม้จันทน์หอมประกอบพิธีสักการะ ที่หน้าที่ว่าการอำเภอกุยบุรี โดยมีเลขาธิการสำนักพระราชวัง อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ และประชาชน ร่วมสักการะ จากนั้นจึงเดินทางมาที่สำนักช่างสิบหมู่ เพื่อส่งมอบให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดสร้างพระโกศไม้จันทน์ต่อไป
 

นายศักดิ์สิทธิ ตรีเดช ปลัด ทส.กล่าวว่า พื้นที่ปลูกไม้จันทน์หอมในประเทศไทยที่มีความสมบูรณ์ที่สุดอยู่ที่ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช ได้ทำการตัดไม้จันทน์ จำนวน 3 ต้น เพื่อนำมาใช้ในการจัดสร้างพระโกศไม้จันทน์ ดังนี้ ต้นที่ 1 เป็นไม้ขนาดใหญ่ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 178 ซม.อายุ 142 ปี ต้นที่ 2 มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 108.21 ซม.อายุ 118 ปี และต้นที่ 3 มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 134.34 ซม. อายุ 110 ปี
 

ด้าน นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การรับมอบไม้จันทน์วันนี้ ถือว่าทั้งสองกระทรวงได้ทำงานตามวัตถุประสงค์ที่จะนำไม้จันทน์ไปสร้างพระโกศ พิธีได้จัดอย่างสมพระเกียรติ ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี อีกทั้งยังเป็นการสืบทอดงานวิชาการช่างไม้ไทย หลังจากรับมอบไม้มาแล้ว ระยะแรก กรมศิลปากรจะนำมาเก็บไว้ที่อาคารอู่งานช่างไม้ประณีต สำนักช่างสิบหมู่ก่อน เพื่อรอให้การสร้างโรงสร้างพระโกศจันทน์ที่สนามหลวงเสร็จ จากนั้นจะนำไปไว้ที่โรงสร้างพระโกศจันทน์เพื่อนำไปแปรรูป ฉลุลวดลาย และจัดสร้างพระโกศต่อไป ส่วนปีกไม้จะให้ช่างเหลาให้กลมเพื่อนำไปใช้เป็นไม้ฟืนในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ต่อไป
 

นายวีระ กล่าวว่า พระโกศจันทน์เมื่อครั้งงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ใช้ไม้จันทน์ในการจัดสร้างประมาณ 25,000 ชิ้น โดยใช้กำลังฉลุของช่างสิบหมู่ ตลอดจนนักศึกษา ประชาชน มาร่วมกันจัดสร้าง ซึ่งพระโกศจันทน์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็จะใช้จำนวนของไม้จันทน์พอๆ กับของสมเด็จย่า โดยขณะนี้ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานออกแบบและจัดสร้างพระเมรุฯ กำลังดำเนินการออกแบบอยู่ สำหรับลวดลายที่จะใช้ฉลุนั้น ส่วนใหญ่จะใช้ลวดลายตามโบราณราชประเพณี เช่น ลายกระจัง ลายหน้ากระดาน ลายทองไม้ ลายลวดเส้น ลายดอกไม้เอว ลายบัวกลีบขนุน ลายเฟือง ลายอุบะ ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายยอดกลีบพระโกศ ลายดอกไม้ไหว เป็นต้น
 

ซึ่งลวดลายเหล่านี้จะแสดงถึงพระเกียรติยศและฐานานุศักดิ์ของพระศพที่สถิตอยู่ภายในพระโกศ ด้าน นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการบันทึกข้อมูลในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทุกขั้นตอน ซึ่งในส่วนของการจัดสร้างพระโกศไม้จันทน์ กรมศิลปากรจะจัดเก็บข้อมูลใน 4 ขั้นตอน ได้แก่
 

1.การเตรียมการ ซึ่งได้มีการเก็บข้อมูลทั้งหมดไปแล้ว ตั้งแต่การจัดหาไม้จันทน์หอม การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ช่าง รวมทั้งการแปรรูปไม้จันทน์ 2.การดำเนินการล่วงหน้าในส่วนของการกำหนดรูปแบบพระโกศ พระรองทองใหญ่ และการขยายแบบลวดลายเท่าแบบในการจัดสร้างจริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบพระโกศโดย น.อ.อาวุธ ดำเนินการอยู่
 

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนที่ 3 คือ การจัดสร้างโครงสร้างด้านใน ซึ่งเป็นโครงเหล็ก และโครงลวดที่จะต้องรองรับน้ำหนัก รวมถึงโครงสร้างส่วนที่จะต้องเก็บเชื้อเพลิงและความร้อน ตลอดจนการจัดสร้างและประดับตบแต่งลวดลายพระโกศด้านนอก และ 4.การติดตั้งลวดลายฉลุไม้จันทน์เข้ากับพระโกศ และการติดตั้งพระจิตกาธานในพระเมรุ ซึ่งกรมศิลปากรจะบันทึกข้อมูลทุกขั้นตอนอย่างละเอียดที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น