ถือได้ว่าในส่วนของการเตรียมงานพีธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เปรียบได้ดั่งการร้อยดวงใจของคนไทยทุกหมู่เหล่าเข้าไว้ด้วยกัน เห็นได้จากการทำงานจากทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อเป็นการถวายอาลัย และแสดงความกตัญญูกตเวทิตาแด่พระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย
การถวายงานในครั้งนี้ นอกจากกลุ่มช่างจากกรมศิลปากร และส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่เป็นแม่งานสำคัญแล้วนั้น ยังมีกลุ่มอาสาสมัครจากหลายแห่งเข้ามามีส่วนร่วมกับงานครั้งสำคัญนี้ รวมไปถึงอาสาสมัครเสื้อม่วงจาก ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) อ.ศาลายา จ.นครปฐม
** ฝ่าด่านทดสอบ สู่งานครั้งยิ่งใหญ่
ด้วยสองตาที่เพ่งไปยังชิ้นงานกับสองมือที่กำเลื่อยฉลุอย่างมุ่งมั่นตั้งใจของ อุทารวิชญ์ คงวุธ ตัวแทนอาสาสมัคร เล่าว่า งานที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบนั้นมีหน้าที่ในการทำงานฉลุลายไม้จันทน์ เพื่อเป็นส่วนประกอบของ ‘พระโกศไม้จันทน์ และฐานรองพระโกศ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานของเหล่าช่าง 10 หมู่ โดยตนเองนั้นเคยเป็นช่างมุกมาก่อน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการฉลุลายไม้ ทำให้การเข้ามาทำงานในส่วนนี้จึงไม่ค่อยหนักใจ เพราะงานมุกกับงานฉลุไม้มีความคล้ายคลึงกัน
โดยงานที่ทำ คือ การฉลุลายซ้อนไม้จากตัวแบบซึ่งมีอยู่มากมายหลายชิ้นเพื่อนำมาประกอบเข้ากับโครงพระโกศไม้จันทน์และฐานรอง ซึ่งความยากจะอยู่ที่ชิ้นงานแต่ละชิ้นต้องมีความละเอียดด้วยลวดลายไทย ทำให้ต้องเอาใจใส่ในทุกขั้นตอน ในส่วนของเนื้องานมีความยากและสำคัญเท่ากันทุกส่วน เพราะแต่ละชิ้น แต่ละลายต้องมีความต่อเนื่องกัน และการเตรียมเนื้อไม้เองก็มีส่วนสำคัญที่มีผลต่อชิ้นงานมาก เพราะหากเนื้อไม้ที่จะนำมาฉลุไม่สวย มีรอยผุ งานก็จะออกมาไม่ดี จะส่งผลต่อการประกอบทั้งสิ้น แต่ทุกอย่างในขั้นเตรียมการผ่านไปได้ด้วยดี ทำให้ระยะเวลาทำงานกว่า 6 เดือนประสบความสำเร็จและเป็นไปตามระยะเวลาที่วางแผนไว้
“การเข้ามามีส่วนร่วมกับงานครั้งสำคัญนี้ ต้องขอขอบคุณอาจารย์จากทางศูนย์ ที่เปิดโอกาสให้เข้ามาร่วมทดสอบฝีมือกับทางกรมศิลปากร ซึ่งเป็นกลุ่มการทดสอบฉลุไม้ที่มีเหล่าอาสาสมัครจากศูนย์ เข้ามาทดสอบรวม 16 ชีวิต ก็ได้ผ่านการทดสอบและได้มีส่วนร่วมกับงานอันภาคภูมิใจนี้ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าการได้รับโอกาสนี้มาจากความตั้งใจ ซึ่งผมเองก็เชื่อว่าทุกคนก็คิดเหมือนกันในการถวายงานแด่พระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้ายนี้ให้ออกมาดีที่สุด แน่นอนว่า ทุกคนต่างก็มีความถนัดในงานที่ได้รับมอบหมายแตกต่างกัน ทุกคนมีหน้าของตัวเอง แต่ที่เหมือนกันคือความตั้งใจที่มีอย่างเต็มเปี่ยม เพราะกว่าที่เราจะผ่านการทดสอบเข้ามาทำหนาที่ตรงนี้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”อุทารวิชญ์ เผยความรู้สึก
** ถวายงานสมดั่งความตั้งใจ
แต่สำหรับ ชาลี แสงณรงค์ อาสาสมัครอีกผู้หนึ่ง ซึ่งการได้อยู่เบื้องหลังงานสำคัญนี้ ถือเป็นความภูมิใจอย่างที่สุด เนื่องจากเมื่อ 12 ปีก่อนในคราวการเตรียมงานพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีนั้น เขาไม่ผ่านการทดสอบในการเข้ามาเป็นอาสาสมัครจากกรมศิลปากร
“ในครั้งนั้นก็มีโอกาสได้เข้ามาทดสอบฝีมือกับงานช่างฉลุไม้ แต่ก็ต้องพลาดโอกาสครั้งสำคัญไปเนื่องจากยังมีฝีมือไม่ดีพอ ไม่มีประสบการณ์การทำงาน อีกทั้งในการทดสอบมีข้อผิดพลาดเพราะรีบทำงานจนเกินไปโดยไม่ใส่ใจรายละเอียดทำให้พลาดหวังไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินจากกรมศิลปากร ไม่ได้ถวายงาน ส่วนตัวก็รู้สึกเสียใจ ก็ได้แต่ยกมือขึ้นเหนือหัวเพื่อกราบถวายพระพรแทนการได้ถวายงาน จนกระทั่งมาถึงในครั้งนี้ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายปี ประกอบกับใจที่พกมาเกินร้อย จึงทำให้ผ่านการทดสอบได้เข้ามาถวายงานในครั้งนี้ซึ่งถือเป็นความภูมิใจสูงสุดของชีวิตก็ว่าได้” ชาลี ย้อนเรื่องราว
ชาลี กล่าวต่อไปว่า อาสาสมัครทุกคนที่มาทำงานในครั้งนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนต่างมาด้วยใจ ซึ่งไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่อาสาสมัครทุกคนต่างนำความสามารถ ประกอบกับฝีมือเพื่อมาถวายงานให้ออกมาดีที่สุด ในส่วนของงานฉลุลายไม้จันทน์เพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบของพระโกศไม้จันทน์นั้นแต่ละคนได้รับผิดชอบชิ้นงานคนละหลายพันชิ้น ที่ต้องเน้นความประณีต บางครั้งก็เกิดความเครียด และเกิดความท้อขึ้นเมื่องานออกมาไม่เป็นไปตามรูปแบบที่วางไว้ แต่เมื่อเราเงยหน้าขึ้นมองไปรอบข้างภายในโรงขยายแบบชั่วคราว หันหน้าไปมองพระเมรุ เห็นผู้คนจากทุกแขนงช่วยกันดำเนินงานความท้อที่มีอยู่ก็หายไปโดยอัตโนมัติ กำลังใจกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง
** โอกาสในโรงเรียนช่างชั้นสูง
ปราโมทย์ ศักดิ์ศรีสง่ากุล คืออีกคนหนึ่งที่ผ่านการทดสอบเข้ามาถวายงาน เขาเพิ่งจบหมาดๆ จากวิทยาลัยในวังและทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่หลังจากสำเร็จการศึกษาให้กับงานพระราชพิธี แม้ว่าต่อจากนี้ยังไม่ได้วางแผนชีวิตว่าจะทำอย่างไรต่อ แต่ 5-6 เดือนในโรงเรียนช่างชั้นสูงที่มองจากภายนอกเป็นอาคารชั่วคราวแห่งนี้ได้จุดประกายความคิดให้หนุ่มวัย 34 ปีคนนี้ได้ไม่น้อย
“เสร็จจากงานพระราชพิธียังไม่ได้วางแผนอะไรไว้ แต่ที่รู้ๆ คือ การได้เข้ามาทำงานส่วนนี้ทำให้ได้ความรู้ด้านงานไม้มากขึ้น เราเลื่อยฉลุ เรียนรู้งานซ้อนไม้ ลายไม้ สีไม้ใช้ความแตกต่างของสีทำลายซ้อนไม้ เห็นมิติของการเคลื่อนไหว ที่นี่จึงเหมือนโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง มันเป็นเทคนิคงานช่างชั้นสูง ถือว่าเป็นโชคดีที่เราได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ มันเป็นความภูมิใจลึกๆ เราเองไม่จำเป็นต้องไปอวดอ้างว่าเราได้ทำงานนี้ เก็บไว้ในใจอย่างน้อยๆ เราก็ได้ความรู้ส่วนนี้ไป ต่อไปวันข้างหน้าไม่แน่ว่า ผมอาจจะได้อาศัยความรู้จากโรงเรียนแห่งนี้ไปต่อยอดในงานอื่นๆ อีกก็ได้”
อาสาสมัครผู้นี้เปรียบเทียบหน้าที่ของคนและกองไม้เบื้องหน้าไว้อย่างน่าสนใจ ว่า สิ่งที่เขาเห็นจากในแผ่นภาพก่อนที่จะมาทำงานสร้างความสงสัยให้เขาอย่างมากว่า แผ่นไม้เล็กๆ เหล่านี้จะเป็นพระโกศไม้จันทน์ที่สวยงามได้อย่างไร แล้วเขาก็เข้าใจต่อเมื่อสองตาได้มอง สองมือได้สัมผัส ค่อยๆ เลื่อยไม้แต่ละแผ่น ฉลุลายทีละชิ้น และประกอบงานให้เข้ากัน ไม้แผ่นเล็กๆ ที่ดูไม่มีค่าก็กลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของพระโกศไม้จันทน์ไปในทันที เฉกเช่นเดียวกันเขาและเหล่าเพื่อนอาสาสมัครก็คือไม้ชิ้นเล็กๆ นั้น ที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้งานยิ่งใหญ่เบื้องหน้าสำเร็จและงดงามตามคาดหวัง
...จนสิ้นสุดการสนทนาที่สุดแล้วอาสาสมัครทั้ง 3 คนพร้อมด้วยเหล่าผู้อยู่เบื้องหลังงานที่เหลือก็ยังนั่งก้มหน้า ก้มตาทำงานของตนเองต่อไป โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจที่ถ่ายทอดผ่านแต่ละชิ้นงาน ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “คืองานที่ดีที่สุดในชีวิต” แสดงให้ประจักษ์แล้วถึงความจงรักภักดีที่มีแด่ “พระพี่นาง” ของเหล่าข้าแผ่นดินทั้งมวล...