xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักช่างปั้น คนเขียนลาย ผู้สืบทอดศิลปกรรมแห่งพระเมรุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หงส์ที่เขียนลายเรียบร้อยแล้ว
ผลงานรังสรรค์ประณีตศิลป์เครื่องประกอบพระเมรุในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่เห็นเหล่าเทวดา สัตว์หิมพานต์ วิทยาธร คนธรรพ์ และหงส์ รายล้อมรอบตามคติมณฑลจักรวาล ก่อนจะได้ยลกันในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพพระพี่นางฯ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือช่างในหมู่ปั้น หล่อ และเขียนลายแทบทั้งสิ้น

ขณะที่กำหนดงานคืบใกล้มาทุกขณะ งานของช่างปั้นเกือบเสร็จสิ้นแล้ว และช่างเขียนลายที่รับช่วงงานต่อก็งวดเข้ามาเช่นกัน พวกเขามาจากหลายทิศ หลากทาง แต่มารวมตัวกันทำงานเพื่อแสดงความจงรักภักดี และเป้าหมายในการดำรงอยู่ซึ่งวิชาช่าง
พิทักษ์ เฉลิมเล่า ประติมากร
-1-
พิทักษ์ เฉลิมเล่า ตำแหน่งประติมากร 5 รับงานตามสายงาน คือ สำนักช่างสิบหมู่ หลังเข้ารับราชการมา 6 ปี ก็ทำหน้าที่ตกแต่ง ศิลปกรรม งานด้านสถาปัตยกรรมเรื่อยมา จนกระทั่งได้เข้าถวายงานในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯในส่วนประติมากรรม
 
พิทักษ์อธิบายหน้าที่ในความดูแล ว่า งานด้านปั้นประติมากรรมจะทำหน้าที่ต่อจากช่างเขียนและขยายแบบ โดยปั้นรูปต้นแบบออกมาก่อน จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของช่างพิมพ์ที่จะนำไปหล่อพิมพ์ ลำดับต่อมาก็คือการหล่อชิ้นงาน ซึ่งถึงตรงนี้หน้าที่ของช่างปั้นถือว่ายังไม่สิ้นสุด เนื่องจากต้องคอยควบคุมว่าช่างหล่อและการประกอบชิ้นงานถูกต้องตามสัดส่วนที่ปั้นไว้หรือไม่

“ขั้นแรกต้องหาข้อมูลมาก่อน หน้าที่เราก็คือปั้น อาจจะไม่ต้องตามช่างเขียนเป๊ะ แต่จะปรับอย่างไรให้งานมันร่วมสมัยมากขึ้น ซึ่งงานนี้ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ได้ให้อิสระแก่ช่างทำตามความรู้สึกว่าอยากทำแนวไหน ก็ไม่ถึงกับทำตามใจตัวเอง เรียกว่าเป็นการพัฒนาซึ่งกันและกัน จากนั้นก็ใช้ดินเหนียวปั้น ซึ่งรูปร่าง หน้าตาของเทวดาและสัตว์หิมพานต์บางตนจะมีลักษณะคล้ายคนมากขึ้น มีกล้ามเนื้อ และที่ใช้เวลานานที่สุดในการปั้นคือกินรี เพราะมีกนกร่วม และรายละเอียดเยอะ หลังจากปั้นเสร็จหน้าที่เราก็คือการติดตามงาน อะไรที่ช่วยช่างเขาได้ มีหน้าที่ดูองค์ประกอบให้งานที่ช่างประกอบได้ตามสัดส่วนที่เราปั้นไว้ ประติมากรถือว่ามีหน้าที่ตรวจสอบ หน้าที่สิ้นสุดลงเมื่อประกอบหุ่นสำเร็จแล้ว”
ช่างลงสีเหลืองทองสัตว์หิมพานต์ที่หล่อเสร็จ
พิทักษ์ เล่าต่อว่า สำหรับสัตว์หิมพานต์ที่เขาได้รับผิดชอบให้ปั้นตัวต้นแบบประกอบด้วยกินรี เทวดายืน และอัปสรสิงหะ โดยความรู้สึกขณะที่ได้รู้ว่าได้เข้ามาทำงานถวายองค์พระพี่นางฯ จนกระทั่งถึงบัดนี้นั้นความดีใจไม่เคยลดลงแม้แต่วันเดียว ด้วยความที่เขาถือว่าตนเองเป็นช่างรับใช้สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือว่าสถาบันศาสนาและพระมหากษัตริย์มีส่วนสำคัญในการรักษางานช่างให้สืบดำรงอยู่

“ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เราก็คงไม่มีทางที่จะทำงานขนาดนี้ ไม่มีใครที่จะให้เราได้ทำขนาดนี้ เพราะฉะนั้นทุกคนที่ทำงานก็ตั้งใจ รู้สึกดี ถ้าเทียบแล้วพวกพี่ก็เหมือนเป็นช่างรับใช้ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ทำงานตรงนี้ท้อไม่ได้ ไม่ควรท้อ ทำหน้าที่ตรงนี้ ก็คือ เหมือนการรับใช้ชาติ แต่เราอาจจะต่างจากทหารตรงที่เราไม่ได้จับปืนไปเป็นรั้วของชาติ เรารักษาวัฒนธรรม ความเป็นไทย ความเป็นเชื้อชาติของเราไว้ผ่านศิลปะการปั้น เพราะฉะนั้นพี่ก็เป็นส่วนหนึ่ง อาจจะไม่ยิ่งใหญ่หรอกนะ แต่ในความหมายของเรามันยิ่งใหญ่”

นอกจากนี้ พิทักษ์ ยังฝากถึงว่าที่ช่างรับใช้ทั้งหลายด้วยความกังวลว่า วันคืนเปลี่ยนไปเด็กรุ่นน้องเข้ามาเรียนในสาขาประติมากรรมค่อนข้างน้อย เขาไม่อยากกล่าวโทษเทคโนโลยีหรือวิวัฒนาการที่เข้ามาอย่างรวดเร็วและมากมาย แต่อย่างน้อยการหันกลับมาทำความเข้าใจกับงานศิลปะเชิงช่างก็ไม่ได้ทำให้การรับรู้ข้อมูลจากเทคโนโลยีบกพร่อง เพียงแต่ต้องการใจและใช้เวลาในการพิเคราะห์งานนานกว่าการจับเมาท์คลิกเท่านั้นเอง
สุรัฐกิจ พีรพงศ์ศิลป จิตรกร
-2-
หลังจากงานปั้น และหล่อเสร็จสมบูรณ์ จิตรกร หรือช่างเขียนลายคือผู้ที่จะสร้างความงดงามให้เหล่าเทวดา สัตว์หิมพานต์ และบรรดาประณีตศิลป์ที่รายล้อมพระเมรุทั้งหลาย ซึ่ง พี่ดู๋ - สุรัฐกิจ พีรพงศ์ศิลป ก็คือหนึ่งในจิตรกรที่รับหน้าที่เขียนลายเพิ่มสีสัน
 
พี่ดู๋ เล่าว่า เมื่อครั้งงานพระราชพิธีถวายเพลิงพระบรมศพในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เขารับหน้าที่เลื่อยฉลุพระโกศจันทน์ และงานจิปาถะอื่นๆ ตามได้รับมอบหมาย แต่ในครานี้เขารับหน้าที่วาดลายผ้าเทวดา และเขียนตัวเทวดา

จิตรกรผู้นี้ บอกว่า เริ่มแรกในการลงสีต้องลงสีเหลืองทองก่อน เนื่องจากการหล่อตั้งต้นจะเป็นสีเทา เมื่อลงสีเหลืองแล้วจะทำให้สีอื่นๆ ที่จะลงในลำดับถัดไปเกาะติดมากขึ้น อีกประการหนึ่งคือในเวลาที่ลงสีทองจะทำให้สีทองสุกปลั่งเต็มที่ ซึ่งในฐานะนักเขียนลายมองว่าการเขียนลายผ้าเทวดาคือส่วนที่ยาก เทวดา 20 กว่าองค์ รายละเอียดลายผ้าจะไม่ซ้ำกัน เพราะต้องคิด ออกแบบ วางลาย ซึ่งบางลายจะดูจากของเก่าบ้าง

“แนวคิดที่มาของลายผ้าส่วนใหญ่จะมาจากลายโบราณ ลายเก่าจากพิพิธภัณฑ์ หนังสือ บางลายเอามาปรับสีให้สว่างขึ้น พอเขียนไปเรื่อยๆ รู้สึกว่ามันสนุกมันชำนาญขึ้น แต่ละองค์ใช้เวลาต่างกัน งานนี้จะยากตรงที่งานมีส่วนเว้า นูน โค้ง ต้องใช้ท่าก้มๆ เงยๆ ในจุดอับถึงขนาดต้องนอนเขียนเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นการเขียนก็ต้องกะให้ดี”
ลายผ้าเทวดานั่ง
สำหรับหงส์สัตว์ที่จะใช้แขวนผ้าตุงในงานพระราชพิธีคราวนี้ได้รับการประดับประดาเขียนลายตกแต่งให้งดงามมากขึ้นแทนการพ่นสีทองธรรมดา

“ขั้นตอนแต่ละอย่างก็ต้องใช้ความพิถีพิถันแตกต่างกัน ไม่ใช่ว่ารีบๆ ทำให้เสร็จๆ อย่างเดียว ปีนี้จะละเอียดกว่า 12 ปีก่อน ซึ่งจะไม่มีการเขียนสีหงส์ใช้แค่ปิดทองพ่นอย่างเดียว เทวดาปีนี้ผ้าจะไม่ซ้ำลายกันเลย หงส์ก็มีลวดลายทุกตัว”ช่างเขียนลาย บอก

...ในโรงขยายแบบเครื่องคลายร้อนทำงานอย่างขยันขันแข็งไม่ต่างจากคนที่นั่งเรียงรายหน้าชิ้นงาน ขณะที่เพลงจากเครื่องเล่นเอ็มพีสามดังคลอเคล้ามือก็ตวัดพู่กันลงลวดลายบนตัวหงส์ จากสีทองทั่วทั้งตัว ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป โดยมีเหล่าเทวดาที่ลงลายผ้าเรียบร้อยแล้วยืนรอให้ช่างเขียนลายทำในขั้นตอนต่อไป และนี่คือประณีตศิลป์จากบรรดาช่างผู้ขนานนามตัวเองว่า “ช่างรับใช้”
กำลังโหลดความคิดเห็น