xs
xsm
sm
md
lg

เนรมิต ‘สวรรค์ชั้นฟ้า’ ถวายแด่ ‘พระปิยโสทรเชษฐภคินี’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหลือระยะเวลาอีกเพียงไม่ถึง 1 เดือนก็จะเข้าสู่ช่วงพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และก่อนจะถึงวันนั้นพสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่าทั้งที่อยู่เบื้องหน้า และเบื้องหลังของงานดังกล่าวต่างก็เตรียมการในทุกขั้นตอนเพื่อถวายแด่พระองค์อย่างสมพระเกียรติ

เชื่อแน่ว่าในช่วงพระราชพิธีฯ วันที่ 14 – 19 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ คนไทยจะได้ประจักษ์ถึงความสวยงามตระการตา ขององค์พระเมรุ และอาคารประกอบต่างๆ ซึ่งได้เนรมิตให้พื้นที่ของสนามหลวงทางทิศใต้เป็นดั่ง ‘สวรรค์ชั้นดาวดึงส์’ ที่มีการจำลองเขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ และหมู่แมกไม้นานาพรรณ อันจะสื่อถึงการส่งดวงพระวิญญาณของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สู่สรวงสวรรค์

** เนรมิต ‘สวนฟ้า – ป่าหิมพานต์’ ถวาย
ประวิทย์ บุญมี ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร โครงการพัฒนาดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในฐานะผู้ออกแบบการประดับตกแต่งภูมิทัศน์โดยรอบพระเมรุและเขตราชวัตรชั้นใน เผยแนวความคิดที่ทางกรมศิลปากรให้ไว้ว่า “พระเมรุนั้นเปรียบได้กับเขาพระสุเมรุ” จึงนำมาขยายความต่อได้ว่าเขาพระสุเมรุจึงต้องประกอบไปด้วยป่าหิมพานต์ มหานทีสีทันดร ล้อมรอบ และจากการศึกษาองค์ประกอบโดยรวมของพื้นที่สนามหลวงพบว่ามีต้นมะขาม ดังนั้น จึงเปรียบให้ต้นมะขามเป็นป่าหิมพานต์ ส่วนมหานทีสีทันดรมีการจำลองในลักษณะของพื้นที่เป็นเนินเขา สลับซับซ้อน โดยการทำแปลงดอกไม้เป็นสายน้ำ 7 สายที่แทนด้วยดอกไม้ 7 สีรอบเขาพระสุเมรุ

“เป็นที่ทราบกันดีว่าพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงโปรดสีฟ้า ฉะนั้นการจัดสวนประดับภูมิทัศน์จึงต้องเน้นดอกไม้สีฟ้าให้มากที่สุด” ประวิทย์ขยายความและบอกอีกว่า ครั้งแรกที่มีการเสนอแบบกำหนดให้มีดอกไม้สีฟ้า และสีอื่นๆ คละกันครึ่งต่อครึ่ง เนื่องจากดอกไม้สีฟ้ามีน้อยและหายาก แต่จากการหารือกันของผู้ที่เกี่ยวข้องแล้วมีความเห็นให้เพิ่มดอกสีฟ้าเป็นร้อยละ 80 ของดอกไม้ทั้งหมดที่ประดับอยู่ในเขตราชวัตรชั้นใน โดยประกอบไปด้วยดอกไม้โทนสีฟ้าไล่ตั้งแต่ ฟ้าอ่อน ฟ้าเข้ม ฟ้าอมม่วง จนถึงม่วง ทั้งสิ้น 17 ชนิด จากดอกไม้ทั้งหมด 84 ชนิด

ยกตัวอย่างเช่น ดอกไม้สำคัญอย่าง ‘ดอกฟอร์เกตมีนอต’ ที่สื่อความหมายถึงการจดจำพระองค์ ไปชั่วกาลนาน ของพสกนิกรไทย ทั้งยังมีดอกมอร์นิ่ง กลอรี, ไฮเดรนเยีย, พีทูเนีย, โลบีเรีย, บลู ซาเวีย, โบรวาเรีย, แพนซี, ไวโอลา ฯลฯ และจากการที่พระองค์ ประสูติในวันอาทิตย์ นอกจากดอกไม้สีฟ้าแล้ว จึงให้ความสำคัญกับสีแดงเช่นกัน โดยใช้ ‘ดอกเข็มสีแดง’ ซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติ และดอกเข็มยังเป็นสัญลักษณ์การมีพระอัจฉริยภาพทางความคิด สติปัญญาที่เฉียบแหลมของพระองค์ อีกด้วย

“เมื่อคราวพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ผมได้มีโอกาสถวายงานอันสำคัญมาก่อน แต่การถวายงานเมื่อ 13 ปีที่แล้วกับครั้งนี้มีความแตกต่างกันในส่วนของรูปแบบ องค์ประกอบ เพราะในคราวพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จย่านั้น เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดสีแดง และดอกไม้ที่ทรงโปรดคือ ‘ดอกเจอเรเนียมสีแดง’ ทั้งยังต้องบังคับให้ดอกบานทันวันพระราชทานเพลิงพระบรมศพฯ แต่การปลูกดอกชนิดนี้ทำได้ยาก และด้วยลักษณะของกลีบที่บาง เมื่อโดนแรงสั่นสะเทือนมากกลีบก็จะร่วง ทำให้เป็นอุปสรรคอย่างมากในการขนส่ง จึงต้องใช้การขนส่งทางอากาศ”

“นอกจากนี้ดอกไม้ที่ปลูกและเพาะเลี้ยงอยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็น ก็ยังต้องมาเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวของกรุงเทพฯ ซึ่งยากต่อการดูแลรักษา แต่เมื่อถึงวันจริงดอกไม้ก็บานทันเวลาที่กำหนด ซึ่งครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำดอกไม้จากเมืองหนาวมาปลูก ประดับได้ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ” ประวิทย์ ย้อนเรื่องราว

** ไม้ดอกเรือนแสน บานสะพรั่งถวายความภักดี
สำหรับการเตรียมการก่อนลงปลูกพื้นที่จริงนั้น ผอ.ฝ่ายเกษตรโครงการพัฒนาดอยตุงฯ บอกอีกว่า หลังจากทราบถึงหน้าที่รับผิดชอบแล้ว ได้มีการวางแผน เตรียมความพร้อม โดยในส่วนของบุคลากรก็ใช้คนในพื้นที่ที่เป็นชาวเขา เผ่ามูเซอ, อาข่า ซึ่งทำงานอยู่ในโครงการพระราชดำริฯ และมีประสบการณ์ คลุกคลีกับดอกไม้เมืองหนาวมากว่า 17 ปี ทั้งนี้พันธุ์ไม้ดอกที่ใช้ส่วนใหญ่จะนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ และนำมาเพาะเลี้ยงในเขตพื้นที่สูงภาคเหนือที่มีอากาศหนาวเย็น ใช้ระยะในการเพาะเลี้ยงกว่า 3 เดือน สิ่งสำคัญต้องมีการควบคุม ในเรื่องของการให้แสงสว่าง, ปุ๋ย, และฮอร์โมนที่เร่งให้เนื้อเยื่อมีความทนทานแข็งแรง เพราะดอกไม้ต้องทนกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต และอากาศร้อนในเมืองหลวง

เมื่อได้กล้าไม้ที่มีความพร้อมแล้ว การขนย้ายก็มีความสำคัญเพราะในช่วงนี้กรุงเทพฯ อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ขณะที่ภาคเหนือเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว โดยการเคลื่อนย้ายดอกไม้ที่เหมาะสมที่สุดคือในช่วงของปลายเดือนตุลาคม ประมาณวันที่ 27 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยจะใส่ตู้คอนเทนเนอร์มากับรถสิบล้อ ซึ่งหากนับเฉพาะดอกไม้ที่ใช้ในงานครั้งนี้เพียงอย่างเดียวนั้นรวมทั้งสิ้นกว่า 2 แสนต้น ทั้งนี้ยังมีการเตรียมการสำรองกล้าไม้ไว้อีก 30% ด้วย

“การดูแลดอกไม้ที่จะต้องบังคับให้ออกดอกบานสะพรั่งพร้อมกันในช่วงงานพระราชพิธีฯ นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้นแต่ละต้นที่อาจมีอายุ 70 – 100 วัน จากการเพาะเมล็ดจนถึงออกดอก แต่ด้วยความเคยชินกับสภาพอากาศหนาวเย็น กลับต้องมาเจออากาศที่ร้อนอบอ้าว ก็อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตได้ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการศึกษาจากสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกดอก การบาน หรืออายุของดอก และอาศัยการคาดเดาตามสถิติ แต่จากประสบการณ์ก็ยืนยันความพร้อมได้ว่าในช่วงงานพระราชพิธีฯ นั้น ดอกไม้จะออกดอกบานสะพรั่งเป็นสวรรค์สีฟ้าเต็มพื้นที่อย่างแน่นอน” ประวิทย์ให้ภาพ

สุดท้ายในฐานะของผู้อยู่เบื้องหลังงานครั้งสำคัญนี้ ประวิทย์ ฝากทิ้งท้ายว่า คนไทยทุกภาคส่วนล้วนแล้วแต่มีส่วนร่วมกับงานครั้งสำคัญนี้ ถึงแม้จะไม่ได้อยู่เบื้องหลังการทำงานแต่เชื่อว่าทุกกำลังใจที่ประชาชนไทยทุกคนมีให้ก็เป็นส่วนเติมเต็มที่ดี เหมือนดังที่ทุกคนเสียสละ มุ่งมั่นทำงาน สุดฝีมือ สุดชีวิต เพื่องานที่ดีที่สุด ถวายแด่องค์ ‘พระปิยโสทรเชษฐภคินี กัลยาณมิตราจารย์’
ดอกไม้ส่วนหนึ่งที่นำมาประดับภูมิทัศน์ในเขตราชวัตรชั้นใน อาทิ ดอกฟอร์เกตมีนอต ดอกไฮเดรนเยีย
ภาพกราฟิกการประดับตกแต่งดอกไม้ในเขตราชวัตรชั้นใน


โครงการหลวงฯ เริ่มดำเนินการทยอยขนส่งดอกไม้

ประวิทย์ บุญมี
กำลังโหลดความคิดเห็น