ในการก่อสร้างพระเมรุมาศและพระเมรุนั้นสิ่งสำคัญนอกจากจะต้องก่อสร้างให้มีความสวยงามตามหลักโบราณราชประเพณีแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การวางโครงสร้างและฐานรากให้มีความแข็งแรงและมั่นคง เพื่อให้สอดคล้องกับความสวยงามของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ช่างฝีมือบรรจงถ่ายทอดไว้อย่างวิจิตรตระการตา
อารักษ์ สังหิตกุล หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ) และอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ในวัย 59 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่มีโอกาสถวายงานด้านการวางโครงสร้างพระเมรุมาแล้วถึง 3 พระองค์ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “สุภาพบุรุษ 3 พระเมรุ” และครั้งนี้เองเขาก็มีโอกาสรับผิดชอบหน้าที่อันสำคัญเกี่ยวกับงานทางด้านวิศวกรรมโครงสร้างอีกครั้งด้วยการเป็นประธานวิศวกรรมโครงสร้างพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
“หลังจากผมเรียนจบคณะวิศวกรรมฯ ที่จุฬาฯ ก็มาทำงานอยู่กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะได้มีโอกาสเข้ามาทำงานที่กรมศิลปากร ได้เรียนรู้การทำงานของกรมศิลปากร ว่าแท้จริงแล้วมีงานที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมโยธาโดยตรงเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานในช่วงสองเดือนแรกผมยังมาทำในฐานะ ลูกจ้าง ดูแลการอนุรักษ์โบราณสถาน ที่พระปรางค์วัดอรุณ และระหว่างนั้นก็ได้พยายามสอบบรรจุเข้าเป็นข้าราชการในกรมศิลปากรจนในปี 2516 ผมจึงได้รับเข้าบรรจุให้เข้าทำงานที่กรมศิลปากรอย่างเป็นทางการ
เมื่อทำงานได้ปีเศษๆ ก็ตัดสินใจไปศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ซึ่งความรู้ที่ได้รับจากการทำงานนั้นมีส่วนสำคัญ ในการช่วยให้เราสามารถศึกษาต่อ โดยเลือกศึกษาต่อด้าน Geotechnical Engineering และหลังจากจบการศึกษาจาก AIT แล้ว ก็ได้ทำการวิเคราะห์วิจัยเรื่องเกี่ยวกับฐานรากมากขึ้น” อารักษ์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยอิริยาบถผ่อนคลาย
ด้วยความที่อารักษ์เป็นคนที่มีความสนใจและเรียนรู้เรื่องวิศวกรรมอย่างเป็นจริงเป็นจัง ดังนั้นในปี 2528 เขาจึงมีโอกาสได้ประเดิมงานแรกเกี่ยวกับงานโครงสร้างที่มีความสำคัญระดับประเทศคือการได้เป็นหนึ่งในผู้ออกแบบโครงสร้างพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
“ตอนที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ สิ้นพระชนม์ผมยังเป็นหนุ่มอยู่ในกรมศิลป์ (หัวเราะ) จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานออกแบบโครงสร้างพระเมรุมาศ ซึ่งงานนี้เป็นงานชิ้นสำคัญครั้งแรกในชีวิตของผม จำได้ว่าตอนนั้นผมต้องปีนนั่งร้านที่มีความสูงเกือบ 30 เมตรขึ้นไปดูความแข็งแรงของโครงสร้าง โชคดีที่ตอนนั้นผมยังเป็นหนุ่มอยู่ (หัวเราะ) ตอนนี้ผมคงได้แต่สั่งการอยู่ด้านล่างเท่านั้น”
จากนั้นในปี 2539 เขาก็มีโอกาสสำคัญถวายงานอีกครั้ง ที่ถึงแม้ว่าตัวเขาเองไม่ต้องการให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยนักก็ตามแต่ในฐานะของข้าแผ่นดินและข้าพระราชาที่ต้องถวายงานรับใช้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ คือเขาได้ร่วมวางโครงสร้างพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
กระทั่ง ในปีนี้อารักษ์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในวัย 59 ปีก็ได้มีโอกาสถวายงานการออกแบบโครงสร้างพระเมรุอีกครั้งในฐานะประธานวิศวกรรมโครงสร้างพระเมรุเพื่อใช้ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์โสทรเชษฐภคินี ขัตติยนารีผู้ทรงคุณแห่งแผ่นดิน
สำหรับการออกแบบโครงสร้างพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ นั้นในครั้งนี้ได้มีการนำเทคนิคทางวิศวกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการออกแบบโครงสร้างทั้งหมด ซึ่งจะมีความแตกต่างจากพระเมรุมาศของทั้ง 2 พระองค์
“การออกแบบพระเมรุครั้งนี้เราใช้คอนกรีตหล่อกับเหล็กเส้นเป็นฐานแทนไม้ แต่ยังยึดเสาโดยใช้แผ่นไม้ประกบเหมือนเดิม ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ฐานซีเมนต์ยังสามารถนำไปใช้งานอื่นๆ ได้อีก และในส่วนของเสานั้นจะใช้เหล็กแทนไม้ เพราะฉะนั้นโครงสร้างทั้งหมดก็จะเปลี่ยนไปหมดเลยในยุคนี้” อารักษ์ อธิบาย
อารักษ์ เล่าถึงสาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพระเมรุในครั้งนี้ว่าเนื่องจากไม้ในปัจจุบันนี้มีราคาแพง และหายาก ดังเช่นพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ว่าการสร้างพระเมรุนั้นมีความสิ้นเปลือง เพราะต้องใช้ไม้เป็นจำนวนมากในการก่อสร้าง
“ประเพณีการพระราชทานเพลิงพระศพนั้นเริ่มครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระเทพสุดาวดี (สา) ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินี สิ้นพระชนม์ จึงทรงโปรดฯ ให้เริ่มมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ จนกลายเป็นพระราชประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน” อารักษ์แจกแจง
การสร้างพระเมรุในสมัยนั้นมีความใหญ่โตมากเนื่องจากมีคติความเชื่อตามโบราณราชประเพณีที่ให้ความสำคัญและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เปรียบเสมือนสมมุติเทวราช ตามระบอบเทวนิยม เมื่อสวรรคตหรือสิ้นพระชนม์นั้นหมายความว่าได้เสด็จกลับสู่สวรรคาลัย ณ เทวาลัยสถาน คือเขาพระสุเมรุ ดังนั้นการสร้างพระเมรุในอดีตจึงมีความใหญ่โตงดงามอลังการมาก จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ไม้ในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก เพราะพระเมรุในขณะนั้นมีความสูงมากถึง 60 เมตร
อารักษ์ อธิบายต่อว่า ครั้นพอมาถึงรัชกาลที่ 6 พระองค์จึงมีรับสั่งให้ลดขนาดของพระเมรุลงจาก 60 เมตรให้เหลือเพียงประมาณ 30 เมตรเท่านั้น
หากแต่ในยุคนั้นความเจริญก้าวหน้าทางวิศวกรรมศาสตร์อาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักโครงสร้างพระเมรุที่ผ่านมาจึงยังคงนำไม้มาเป็นปัจจัยหลักในการก่อสร้าง
“การออกแบบโครงสร้างพระเมรุผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในช่วงสมัยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ลักษณะโครงสร้างส่วนใหญ่จะเป็นไม้ ฐานรากก็ยังเป็นไม้ โดยใช้วิธีตัดไม้ออกเป็นท่อนๆ และหนุนเป็นแบบระนาด ครั้นพอช่วงสมเด็จย่าฯ เราก็เปลี่ยนฐานรากจากไม้เป็นคอนกรีตสำเร็จรูป โดยนำมาตัดเป็นท่อนๆ ตามขนาดของน้ำหนักที่จะกดลงตรงที่นั้นๆ ส่วนตัวเสาเดิมที่ใช้ไม้เราก็จะเปลี่ยนมาเป็นใช้เหล็กผสมกับไม้บางส่วน แต่พอมาถึงยุคสมัยของพระพี่นางฯ เราจึงเปลี่ยนโครงสร้างเพราะไม้หายากและมีราคาแพงมาก” อารักษ์ อรรถาธิบายด้วยน้ำเสียงสดใส
ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปอย่างไม่หยุดนิ่ง จึงทำให้ความคิดของคนจำต้องก้าวเดินไปให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ฉะนั้นการก่อสร้างพระเมรุในครั้งนี้พสกนิกรชาวไทยทุกคนจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างครั้งสำคัญ โดยอารักษ์ บอกว่าได้มีการติดตั้งลิฟต์ และ ติดตั้งเตาเผาพระศพด้วยเตาแก๊สเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อีกด้วย
“ในช่วงแรกผมหารือกับ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานผู้ออกแบบพระเมรุถึงการเลือกใช้ลิฟต์ว่าควรใช้ระบบใด จากนั้นผมจึงมานั่งพิจารณาดูถึงความเหมาะสมว่าเราควรใช้ลิฟต์ระบบไฮดรอลิกที่มีรูปแบบเหมือนขากรรไกร เพราะสามารถยกขึ้นลงได้สูง 2.5 เมตร รองรับน้ำหนักได้ 5 ตัน จากผลการทดสอบลิฟต์ประเภทนี้ สามารถเคลื่อนตัวขึ้นลงได้อย่างนิ่มนวล ส่วนรอบตัวลิฟต์เราได้ทำผนังกั้นเป็นราวจับและตกแต่งลายให้เกิดความสวยงามสอดคล้องกับองค์พระเมรุ”
สำหรับเหตุผลของการออกแบบลิฟต์ในครั้งนี้อารักษ์อธิบายว่า เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุที่มากขึ้น และบันไดที่จะเสด็จขึ้นไปยังพระเมรุมีความสูงชันมาก จึงได้มีการออกแบบให้มีลิฟต์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประกอบพระราชพิธีบนพระเมรุ
“อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางด้านวิศวกรรมในรอบนี้ก็คือเราทำเตาเผาพระศพขึ้นมา เพราะที่ผ่านมาพบว่าระยะเวลาของการพระราชทานเพลิงพระศพจะใช้เวลานานประมาณ 6 ชั่วโมง จาก 4 ทุ่มถึงตี 4 ดังนั้นเราจึงต้องการลดเวลาให้เหลือน้อยลง ด้วยการเปลี่ยนมาใช้เตาแก๊สแทน เพราะระบบนี้จะร่นระยะเวลาเหลือเพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น”
ความสง่างามของพระเมรุนี้ ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์และประจักษ์แก่ชนชาวโลกว่า เกิดขึ้นจากดวงใจอันภักดีของประชาราษฎร์ที่หลอมรวมกันเป็นหนึ่ง เพื่อถวายพระเกียรติอย่างสูงสุด และร่วมน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัยด้วยความอาลัยอย่างสุดแสน...