ตามคติความเชื่อในการออกแบบและปลูกสร้างพระเมรุ หรือพระเมรุมาศ นั้น ได้สมมติให้องค์พระเมรุนั้นๆ คือ เขาไกรลาศ อันเป็นที่สถิตของเทวดา ซึ่งมีป่าหิมพานต์อันมีสัตว์หิมพานต์อยู่ด้วย ดังนั้น การออกแบบพระเมรุ จึงขาด “สัตว์หิมพานต์” ไปเสียมิได้
เกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ ชายหนุ่มวัย 37 จิตรกรระดับ 8 สังกัดสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร หนึ่งในทีมงานหลายสิบชีวิต ที่ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงอาคารชั่วคราว ท้องสนามหลวง เพื่อจัดสร้างสัตว์หิมพานต์ ตลอดจนเทวดานั่งและยืนหลายสิบองค์ เพื่อใช้ประดับองค์พระเมรุในงานพระเมรุในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อาทิตย์ละ 6-7 วัน วันละกว่า 10 ชั่วโมง ได้เล่าเท้าความถึงปฐมบทแห่งการจัดสร้างสัตว์หิมพานต์ ว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากที่ น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะทำงานออกแบบและจัดสร้างพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้คัดเลือกสัตว์หิมพานต์ 3 คู่ ได้แก่ กินรี นกทัณฑิมา และ อัปสรสีหะ อย่างละคู่ เป็นจำนวน 6 ตน และเทวดายืน 20 องค์ เทวดานั่งอีก 22 องค์
“นอกจากนกทัณฑิมาที่มีเฉพาะเพศผู้แล้ว อัปสรสีหะ และ กินนรี อ.อาวุธ เลือกให้ใช้เป็นคู่ที่เป็นเพศเมียทั้งคู่ ซึ่งตามปกติเวลาตั้งคู่จะตั้งเป็นเพศผู้และเพศเมีย แต่เป็นเพราะงานนี้เป็นงานพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จึงเลือกสัตว์หิมพานต์เป็นเพศเมียทั้งหมด ส่วนหงส์จะใช้ทั้งหมด 20 ตัวครับ” เกียรติศักดิ์ กล่าว
จิตรกรระดับ 8 สังกัดสำนักช่างสิบหมู่รายนี้ ได้บอกเล่าถึงขั้นตอนการทำสัตว์หิมพานต์เหล่านี้ ที่ต้องใช้ทั้งความทุ่มเท สมาธิ ความสามารถ และประสบการณ์ชั้นสูงว่า กว่าจะได้ออกมาทีละตนอย่างสวยงามที่จะปรากฏแก่สายตาประชาชนนั้น ต้องอาศัยความละเอียด ประณีต ละพิถีพิถันใส่ใจในทุกขั้นตอนเลยทีเดียว
“กระบวนการทำสัตว์หิมพานต์นั้น เริ่มจากการออกแบบ โดยช่างเขียนจะร่างแบบสัตว์หิมพานต์นั้นๆ ขึ้นมา จากนั้นก็จะลงน้ำหนักแสงเงา และออกแบบแบบลงสี จากนั้นก็จะส่งแบบไปให้ช่างปั้นให้ปั้นออกมาตามที่ออกแบบไว้ ช่างปั้นก็จะปั้นด้วยดินเหนียวก่อน โดยที่ปั้นเป็นรูปเกลี้ยงๆ ก่อน จากนั้นก็จะให้ช่างแม่พิมพ์เอาพิมพ์เครื่องประดับไปกดให้เป็นลวดลายเครื่องประดับบนตัวสัตว์หิมพานต์ดินเหนียวนั้น”
เกียรติศักดิ์ กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากกดแม่พิมพ์เครื่องประดับแก่สัตว์หิมพานต์ดินเหนียวต่อไปอีกว่า จากนั้นก็จะส่งดินเหนียวที่ปั้นเสร็จสมบูรณ์นี้ ไปให้แผนกช่างหล่อ หล่อเพื่อทำแม่พิมพ์ออกมา
“ตอนแรกหล่อออกมาเป็นขี้ผึ้ง แล้วส่งไปให้ช่างทำประดับลายติดลวดลายบนขี้ผึ้งก่อน แล้วจึงส่งกลับมาที่ช่างหล่ออีกครั้ง เพื่อหล่อออกมาเป็นเรซิน ตอนแรกที่ออกมาเป็นเรซินสีจะขาวๆ เราก็จะพ่นสีน้ำมันสีเทาทับทั้งตัวเพื่อช่วยให้สีพื้นที่เราจะลงต่อไปติดแน่น ทาง่าย ทีมลงสีเรามีประมาณ 20 กว่าคน ซึ่งในนั้นจะมีคนที่รับผิดชอบการวาดใบหน้าโดยเฉพาะ 2-3 คนครับ”
เกียรติศักดิ์ บอกเล่าถึงกรรมวิธีการว่าจะเป็นสัตว์หิมพานต์ต่อไปอีกว่า ภายหลังจากพ่นสีเทาใส่รูปสัตว์หิมพานต์ทั้งตัวแล้ว ก็ถึงกรรมวิธีลงสีให้สวยงาม
“ทาสีเหลืองเป็นพื้นในส่วนของเครื่องประดับ เพื่อให้การลงสีทองครั้งสุดท้ายออกมาสุกอร่าม ซึ่งคราวงานสมเด็จย่าเราใช้ทองคำเปลวปิด แต่คราวนี้เราใช้สีทองอะครีลิค เพราะผลที่ได้ออกมาสวยงามไม่ต่างกัน ส่วนที่เป็นผิวเนื้อจะลงสีเนื้อและส่วนผมจะลงสีน้ำตาลเกือบดำ เมื่อลงสีเสร็จก็จะวาดหน้า และส่งต่อไปติดเลื่อม ซึ่งเมื่อก่อนจะใช้กระจก ตอนนี้ประยุกต์มาใช้เลื่อมเพราะตัดง่ายและติดง่ายกว่า เมื่อเสร็จแล้วก็จะปิดท้ายด้วยการเขียนลายผ้า”
งานหลักของเกียรติศักดิ์ คือ การวาดหน้า เขาอธิบายการวาดหน้าของสัตว์หิมพานต์และหน้าเทวดาว่า ไม่มีแบบแผนตายตัว เรียกได้ว่าช่างแต่ละคนจะมีสไตล์ใครสไตล์มัน
“หลักการวาดส่วนตัวของผมการวาดใบหน้าของสัตว์หิมพานต์และเทวดานั้น ก็คือถ้าเป็นผู้ชาย ผมก็จะวาดให้แข็งๆ ดุๆ หน่อย แต่ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะวาดให้หวานๆ แต่ละคนหน้าจะไม่เหมือนกันหรอกครับ เพราะอยู่ที่จินตนาการของผู้วาด ผมใช้เวลา 1 ใบหน้าต่อ 1 วันครับ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดและสมาธิสูง”
ชายหนุ่มผู้รับผิดชอบงานเขียนใบหน้าเทวดาและสัตว์หิมพานต์เป็นหลักอธิบายต่อไปเมื่อถูกสังเกตได้ว่า การลงสีเปลือกตาเทวดาของเขา มักจะแตกต่างกันไป
“ก็แล้วแต่ครับ บางองค์จะออกสีส้ม บางองค์ก็ออกสีฟ้า แต่ว่าเวลาทำจะทำเป็นคู่ คือเปลือกตาสีส้ม 2 องค์ สีฟ้า 2 องค์ เพื่อจะได้นำไปวางเป็นคู่ๆ สีจะได้ไม่โดดออกมา”
เมื่อถามต่อถึงสิริเวลารวมในการทำสัตว์หิมพานต์ 1 ตน หรือเทวดา 1 องค์ นับตั้งแต่ออกแบบ ปั้น หล่อ ลงสี เขียนลาย วาดใบหน้า ติดกระจก จนเรียบร้อยสมบูรณ์นั้น ชายหนุ่มผู้มากความสามารถ ที่ผ่านงานพระเมรุมาถึง 2 งานรายนี้ระบุว่า ต้องใช้เวลาถึง 1 สัปดาห์ต่อ 1 ตนหรือ 1 องค์กันเลยทีเดียว
“เริ่มงานมาตั้งแต่ 14 กรกฎาคม ทำโอทีมาตลอดครับเพราะอยากให้เวลากับงานเยอะๆ ทำงานตั้งแต่ 08.30 ไปจนถึง 20.30 ทุกวัน เสาร์อาทิตย์ก็เข้ามาทำงานครับ เพราะงานนี้เป็นงานใหญ่ มีงานที่ต้องรับผิดชอบมาก และเป็นงานละเอียดทุกชิ้น การที่ผมมีโอกาสได้ทำงานถวายพระบรมราชวงศ์ เป็นความภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูล ทำให้ผมและทีมงานไม่รู้สึกเหนื่อยกับการทุ่มเททำแบบเกินร้อยในครั้งนี้ครับ” เกียรติศักดิ์ ทิ้งท้าย