“น้องเขยแม้ว” ชะลอลงนามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่งกลับให้ สพฐ.เพิ่มเติมการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต และอุดมการณ์สอดแทรกในหลักสูตร เพื่อปลูกฝังป้องกันไม่ให้เด็กทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน ปรับชั่วโมงเรียนให้น้อยลง นำร่องใช้หลักสูตรใหม่ 555 โรงเรียนในปีการศึกษา 2552 และใช้จริงในปี 2553
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่าภายใน 1-2 วันนี้ ตนจะลงนามประกาศหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้เสนอมา ซึ่งเดิมจะลงนามในวันนี้ แต่ได้ขอให้เพิ่มเติมการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต และอุดมการณ์สอดแทรกในหลักสูตรดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อปลูกฝังป้องกันไม่ให้เด็กทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น สำหรับสาระหลักสูตรแกนกลางฯ ที่เสนอมานั้นตนเห็นชอบ โดยมีสาระสำคัญหลักๆ ดังนี้ 1.กำหนดสาระการเรียนรู้แกนกลาง 8 กลุ่มสาระเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ภาษาต่างประเทศ ซึ่งสาระการเรียนรู้แกนกลางนี้จะเป็นจุดร่วมที่เน้นให้ผู้เรียนทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเรียนรู้ ช่วยให้เกิดความเป็นเอกภาพในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชนในชาติมากขึ้น
2.โครงสร้างเวลาเรียนได้กำหนดเวลาเรียนขั้นต่ำในกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่สถานศึกษาสามารถเพิ่มเติมได้ตามความ ดังนี้ ระดับชั้นประถมศึกษา (ป.1-6 )ให้สถานศึกษาจัดเวลาเรียนเป็นรายปีโดยมีเวลาเรียนวันละประมาณ 4-5 ชั่วโมง และไม่เกิน 1,000 ชั่วโมง/ปี ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) ให้จัดเวลาเรียนเป็นรายภาค มีเวลาเรียนประมาณวันละ 5-6 ชั่วโมง และไม่เกิน 1,200 ชั่วโมง/ปี โดยคิดน้ำหนักของรายวิชาที่เรียนเป็นหน่วยกิตใช้เกณฑ์ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าน้ำหนักวิชาเท่ากับ 1 หน่วยกิต ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6) ให้จัดเวลาเรียนเป็นรายภาค มีเวลาเรียนวันละไม่น้อยกว่า 6ชั่วโมง รวม 3 ปี มีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง โดยคิดน้ำหนักของรายวิชาที่เรียนเป็นหน่วยกิตใช้เกณฑ์ 40 ชั่วโมงต่อภาคเรียน มีค่าน้ำหนักวิชาเท่ากับ 1 หน่วยกิต ทั้งนี้ การกำหนดเวลาเรียนนั้นจะน้อยกว่าการเรียนในปัจจุบันที่เด็กจะเรียนหนัก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการปรับโครงสร้างเวลาเรียนต่อปีใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรม ของแต่ละระดับชั้น อาทิ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้น ป.1-6 ให้เรียนชั้นละ 80 มัธยมศึกษาตอนต้น ให้เรียนชั้นละ 120 ชั่วโมง ม.ปลาย 240 ชั่วโมง เป็นต้น
3.เกณฑ์การวัดประเมินประเมินผลในหลักสูตรใหม่ในระดับ ป.1-6 ยังตัดสินผลการเรียนเป็นรายปีเช่นเดิม แต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้เปลี่ยนการตัดสินผลการเรียนเป็นรายภาคเรียนให้สอดคล้องกับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อรองรับระบบหน่วยกิต
ด้าน นายวินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า หลักสูตรนี้จะใช้เต็มรูปแบบพร้อมกันในปีการศึกษา 2553 ซึ่งในปี 2552 จะนำร่องใช้หลักสูตรในโรงเรียน 555 แห่งก่อน อย่างไรก็ตามสำหรับหนังสือเรียนนั้นทางสำนักพิมพ์เอกชนคงต้องนำหลักสูตรแกนกลางดังกล่าวไปพิจารณาว่าจะต้องปรับเนื้อหาหนังสือเรียน สื่อการเรียนการสอนมากน้อยแค่ไหนเพื่อใช้นำไปใช้ในปีการศึกษา 2553 ซึ่งเท่าที่ทราบนั้น หนังสือเรียนระดับประถมศึกษาประมาณ 85-90% ยังคงเนื้อหาเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก