xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.แจงเกณฑ์เรียกเก็บค่าบำรุงมีผลปี 51 เข้ม ร.ร.สพฐ.ห้ามเก็บ 13 รายการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
น้องเขยแม้ว ลงนามประกาศ ศธ.แจงเกณฑ์เก็บเงินบำรุงการศึกษา มีผลปีการศึกษา 2551 คุม ร.ร.สพฐ.ห้ามเรียกเก็บเงิน 13 รายการ ส่วนที่เก็บได้ต้องไม่เกิน 2,000 บาทต่อเทอม แย้มมีช่องให้เก็บค่าจ้างครูเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ค่าห้องแอร์และค่าสวัสดิการนักเรียนต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม ข้าราชการเบิกค่าเทอมได้

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 58 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้สถานศึกษาในสังกัด ศธ.เก็บเงินบำรุงการศึกษาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนนอกหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ต้องมุ่งเน้นหลักสูตรที่มีเนื้อหาสาระมากกว่าปกติ สอนด้วยบุคลากรพิเศษ การสอนด้วยรูปแบบ หรือวิธีการที่แตกต่างจากการเรียนการสอนปกติ หรือการสอนที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จัดหาให้พิเศษ โดยคิดในราคาที่เหมาะสมกับสภาพฐานะทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยความเห็นชอบจากกรรมการสถานศึกษาและเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้ปกครองและนักเรียน ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ส่วนราชการต้นสังกัดระดับกรมของสถานศึกษาแห่งนั้นกำหนด ซึ่งมีผลตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ ยังได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์เงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แนบท้ายประกาศ ศธ.เรื่อง เงินบำรุงการศึกษาของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายของสถานศึกษาสังกัด สพฐ.ดังต่อไปนี้

ส่วนแรกเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล โดยสถานศึกษาไม่สามารถขอรับการสนับสนุนจากนักเรียน หรือผู้ปกครองได้นั้น จะเป็น ค่าเล่าเรียน และค่าอุปกรณ์การเรียนที่นักเรียนต้องใช้ร่วมกันในโรงเรียน คือ 1.ค่าวัสดุฝึก สอน สอบ 2.ค่าคู่มือนักเรียน 3.ค่าบัตรประจำตัวนักเรียน 4.ค่าปฐมนิเทศนักเรียน 5.ค่าสมุดรายงานประจำตัวนักเรียน 6.ค่าบริการห้องสมุดพื้นฐาน 7.ค่าบริการห้องพยาบาล 8.ค่าวัสดุสำนักงาน 9.ค่าวัสดุเชื้อเพลิง10.ค่าวัสดุงานบ้านงานครัว 11.ค่าอุปกรณ์กีฬา 12.ค่าซ่อมแซมครุภัณฑ์ และอุปกรณ์การเรียนการสอน และ 13.ค่าใช้จ่ายในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน

ในส่วนที่สองจะเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียน โดยผู้ปกครองและนักเรียนสมัครใจเข้าร่วมโครงการและสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ มี 13 รายการดังนี้ รายการที่ 1.ค่าใช้จ่ายสำหรับห้องเรียนพิเศษที่มุ่งเน้นจัดการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมศักยภาพของและความสามารถของนักเรียน ซึ่งผู้ปกครองและนักเรียนสมัครใจเข้าร่วมโครงการโดยสนับสนุนค่าใช้จ่าย แยกเป็นห้องเรียนพิเศษ English Program ให้เก็บได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อปี ในระดับประถมศึกษา-มัธยมต้น และไม่เกิน 40,000 บาท ในระดับ ม.ปลาย, ห้องเรียนพิเศษ Mini English Program ให้เก็บได้ไม่เกิน 17,500 ในระดับประถมศึกษา-ม.ต้น และ 20,000 บาท ในระดับ ม.ปลาย, ห้องเรียนพิเศษด้านวิชาการและด้านอื่นๆ เช่น วิทยศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมทั้งห้องเรียนพิเศษด้านภาษาต่างประเทศ ให้เก็บได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกเว้นห้องเรียนพิเศษด้านภาษาอังกฤษ ให้เก็บได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของห้องเรียน Mini English Program

2.ค่าใช้จ่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของนักเรียน ซึ่งผู้ปกครองและนักเรียนสมัครใจสนับสนุนค่าใช้จ่าย ได้แก่ โครงการพัฒนาทักษะตามความถนัดของนักเรียนนอกเวลาเรียน, ค่าสอนคอมพิวเตอร์ กรณีโรงเรียนจัดคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนเกินมาตรฐานที่รัฐจัดให้ 1 เครื่องต่อนักเรียน 20 คน, ค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษานอกเวลาเรียน, ค่าจ้างครูชาวต่างประเทศ, ค่าตอบแทนวิทยากรภายนอก, ค่าตอบแทนการสอนนอกเวลา, ค่าใช้จ่ายในการจัดโครงการ, โครงงานและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน, ค่าวารสารโรงเรียนและค่าเรียนปรับพื้นฐานความรู้ค่าใช้จ่ายในการไปทัศนศึกษาของนักเรียน ทั้งนี้ ในรายการที่ 2 นั้นให้โรงเรียนเรียกเก็บทุกรายการยกเว้นค่าใช้จ่ายพาไปทัศนศึกษานั้น รวมกันไม่เกินคนละ 2,000 บาท ต่อภาคเรียนโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนค่าใช้จ่ายในการไปทัศนศึกษาตามแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ให้โรงเรียนเรียกเก็บเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นและเหมาะสม

3.ค่าจ้างครูที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ 4.ค่าสาธารณูปโภคสำหรับห้องเรียนปรับอากาศ 5.ค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างสวัสดิการและสวัสดิภาพนักเรียนเฉพาะรายที่ผู้ปกครองและนักเรียนสมัครใจจ่าย ได้แก่ ค่าประกันชีวิต ค่าประกันอุบัติเหตุ ค่าจ้างบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา ค่าตรวจสุขดภาพนักเรียนเป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากการให้บริการด้านสาธารณสุขของรัฐ ค่าอาหารนักเรียน และ 6.ค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างสวัสดิการและสวัสดิภาพของนักเรียนประจำ ได้แก่ ค่าอาหารนักเรียน ค่าหอพัก ค่าซักรีด

ทั้งนี้ รายการที่ 2 ถึง 5 นั้น ให้โรงเรียนเรียกเก็บเงินเท่าที่จ่ายจริง ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสภาพฐานะทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่เฉพาะค่าจ้างครูที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ และค่าห้องเรียนปรับอากาศ ให้โรงเรียนเรียกเก็บเงินได้แต่ไม่ให้เรียกเก็บจากนักเรียนทุกคน

ส่วนที่ 3 ค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนด้อยโอกาส สถานศึกษาต้องพิจารณาให้การดูแลช่วยเหลือให้ได้เรียน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายในส่วนที่ใช้ทรัพยากรร่วมกันในสถานศึกษา เช่น การเรียนกับครูชาวต่างประเทศ หากสถานศึกษามีการจัดให้นักเรียนทุกคน ควรจัดให้นักเรียนด้อยโอกาสได้เรียนด้วยสัปดาห์ละไม่เกิน 2 ชั่วโมง, การเรียน การฝึกใช้คอมพิวเตอร์และการใช้บริการอินเตอร์เน็ตโรงเรียนก็ต้องจัดให้ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง, การเรียนการสอนโดยครูที่สถานศึกษาจ้างหรือเชิญวิทยากรภายนอก, ค่าสาธารณูปโภคสำหรับห้องเรียนปรับอากาศ,การเข้าร่วมโครงการไปทัศนศึกษาตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ, การเข้าร่วมโครงการ โครงงานและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน, การตรวจสุขภาพนักเรียน, ค่าเรียนปรับพื้นฐานความรู้และค่าอาหารนักเรียน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้สถานศึกษาบางแห่งยังได้รับงบประมาณเพื่อสนับสนุนเป็นค่าสาธารณูปโภคและค่าจ้างครู ไม่เพียงพอ ในกรณีที่มีครูสอนต่ำกว่าเกณฑ์ สถานศึกษาระดมทรัพยากรได้โดยความสมัครใจของผู้ปกครอง ห้ามเรียกเก็บจากทุกคน และการเก็บค่าใช้จ่ายทุกรายการ สถานศึกษาต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และประกาศให้ผู้ปกครองและนักเรียนทราบล่วงหน้า เพื่อพิจารณาสมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่าย และสถานศึกษาต้องรายงานการเก็บค่าใช้จ่ายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทราบ

ในส่วนของผู้ปกครองที่ได้รับสวัสดิการ เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ สามารถนำใบเสร็จมาขอเบิกเงินย้อนหลังได้


กำลังโหลดความคิดเห็น