“คุณหญิงกษมา” เผย สพฐ.ประชุมหารือยกร่างยุทธศาสตร์ยกระดับคุณภาพการศึกษา ม.ปลาย โดยวางแผนระยะยาว 4 ปี ทุ่มงบยกเครื่อง 5 พันล้านบาท ระบุ จะเสนอแผนนี้บรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติราชการแผ่นดินด้วย
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยจะเสนอแผนนี้บรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติราชการแผ่นดินด้วย
ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะเป็นแผน 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2555 ใช้งบประมาณ 5,139 ล้านบาท ปรับปรุงการจัดการศึกษาระดับมัธยมปลายให้เข้าสู่มาตรฐานสากลและมีคุณภาพ โดยแยกการดำเนินการออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพและความพร้อมสูงประมาณ 200 โรง แล้วจะพัฒนาโรงเรียนกลุ่มนี้ให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล เช่น พัฒนาหลักสูตรให้มีความเป็นสากล เสริมศักยภาพของครู พัฒนาสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนทุกวิชาหลัก ลดจำนวนนักเรียนในห้องโดยให้มีจำนวนเหมาะสม จับคู่กับโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนในต่างประเทศ ร่วมเป็นเครือข่ายพัฒนาโรงเรียน ขณะเดียวกัน ให้ปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาต่างๆ โดยเฉพาะจัดให้มีทางเลือกในการเรียนภาษาต่างประเทศอย่างเข้มข้น
กลุ่มที่ 2 เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีอัตรานักเรียนเรียนต่อต่ำ สพฐ.จะเข้าไปดูแลพิเศษเพื่อให้โรงเรียนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา พร้อมกันนี้ ยังมีแผนจะเขาไปขยายการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในพื้นที่บางจุด เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเรียนต่อเพิ่มขึ้น ซึ่งการจัดการศึกษานั้นจะเป็นลักษณะโรงเรียนทางเลือกให้ สอนสายอาชีพร่วมกันกับสายสามัญ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ประโยชน์อื่นๆ นอกจากการเรียนขั้นพื้นฐาน 12 ปี และกลุ่มที่ 3 โรงเรียนทั่วไป จะเข้าไปพัฒนาต่อเนื่องให้เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมสูง
“เราต้องการนักเรียนได้เรียนต่อมัธยมศึกษาปลายเพิ่มขึ้น และได้เรียนจนจบ ลดอัตราการออกกลางคัน ที่สำคัญผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะคะแนนโอเน็ตต้องเพิ่มขึ้น ต้องขยายโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีคุณภาพใกล้บ้านเด็ก”
คุณหญิงกษมา กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์นี้มีแผนพัฒนาโรงเรียนในกำกับของรัฐ โดยมีเป้าหมายนำร่องรูปแบบบริหารจัดการโรงเรียนในกำกับของรัฐใน 4 ภูมิภาค ภาคละ 2 โรง และใน กทม.จำนวน 4 โรง รวม 12 โรง ทั้งนี้ สพฐ.จะปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการบริหารจัดการโรงเรียนในกำกับของรัฐ และสนับสนุนงบประมาณเป็นพิเศษ พร้อมเปิดโอกาสให้ระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนแบบก้าวกระโดดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรอเสนอของบประมาณ บางเรื่องอาจเจียดงบมาดำเนินการได้เลย เช่น การฟื้นศูนย์พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยก่อนหน้านี้ เคยเฟื่องฟูสมัยที่โรงเรียนมัธยมสังกัดกรมสามัญศึกษา ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะกระจายตามโรงเรียนใหญ่ โรงเรียนยอดนิยม บางโรงเรียนอาจจะเป็นศูนย์วิชาชีววิทยา ขณะที่บางโรงเป็นศูนย์วิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อม
“สพฐ.จะฟื้นฟู พัฒนาศูนย์เหล่านี้ให้กลับมามีความเข้มแข็งเหมือนเดิม และจะบรรจุครูสาขาขาดแคลนให้กับศูนย์เหล่านี้ เพื่อให้โรงเรียนหรือศูนย์เหล่านี้เปิดสอนในวิชาที่ตัวเองเชี่ยวชาญ เพื่อให้โรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมส่งนักเรียนมาเรียนที่ศูนย์แทน” คุณหญิงกษมา กล่าวทิ้งท้าย
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อยกร่างแผนยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยจะเสนอแผนนี้บรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติราชการแผ่นดินด้วย
ทั้งนี้ แผนดังกล่าวจะเป็นแผน 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2555 ใช้งบประมาณ 5,139 ล้านบาท ปรับปรุงการจัดการศึกษาระดับมัธยมปลายให้เข้าสู่มาตรฐานสากลและมีคุณภาพ โดยแยกการดำเนินการออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นโรงเรียนที่มีศักยภาพและความพร้อมสูงประมาณ 200 โรง แล้วจะพัฒนาโรงเรียนกลุ่มนี้ให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล เช่น พัฒนาหลักสูตรให้มีความเป็นสากล เสริมศักยภาพของครู พัฒนาสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนทุกวิชาหลัก ลดจำนวนนักเรียนในห้องโดยให้มีจำนวนเหมาะสม จับคู่กับโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนในต่างประเทศ ร่วมเป็นเครือข่ายพัฒนาโรงเรียน ขณะเดียวกัน ให้ปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาต่างๆ โดยเฉพาะจัดให้มีทางเลือกในการเรียนภาษาต่างประเทศอย่างเข้มข้น
กลุ่มที่ 2 เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีอัตรานักเรียนเรียนต่อต่ำ สพฐ.จะเข้าไปดูแลพิเศษเพื่อให้โรงเรียนพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา พร้อมกันนี้ ยังมีแผนจะเขาไปขยายการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในพื้นที่บางจุด เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเรียนต่อเพิ่มขึ้น ซึ่งการจัดการศึกษานั้นจะเป็นลักษณะโรงเรียนทางเลือกให้ สอนสายอาชีพร่วมกันกับสายสามัญ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ประโยชน์อื่นๆ นอกจากการเรียนขั้นพื้นฐาน 12 ปี และกลุ่มที่ 3 โรงเรียนทั่วไป จะเข้าไปพัฒนาต่อเนื่องให้เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมสูง
“เราต้องการนักเรียนได้เรียนต่อมัธยมศึกษาปลายเพิ่มขึ้น และได้เรียนจนจบ ลดอัตราการออกกลางคัน ที่สำคัญผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนดีขึ้นด้วย โดยเฉพาะคะแนนโอเน็ตต้องเพิ่มขึ้น ต้องขยายโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีคุณภาพใกล้บ้านเด็ก”
คุณหญิงกษมา กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์นี้มีแผนพัฒนาโรงเรียนในกำกับของรัฐ โดยมีเป้าหมายนำร่องรูปแบบบริหารจัดการโรงเรียนในกำกับของรัฐใน 4 ภูมิภาค ภาคละ 2 โรง และใน กทม.จำนวน 4 โรง รวม 12 โรง ทั้งนี้ สพฐ.จะปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการบริหารจัดการโรงเรียนในกำกับของรัฐ และสนับสนุนงบประมาณเป็นพิเศษ พร้อมเปิดโอกาสให้ระดมทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนแบบก้าวกระโดดอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรอเสนอของบประมาณ บางเรื่องอาจเจียดงบมาดำเนินการได้เลย เช่น การฟื้นศูนย์พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน โดยก่อนหน้านี้ เคยเฟื่องฟูสมัยที่โรงเรียนมัธยมสังกัดกรมสามัญศึกษา ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะกระจายตามโรงเรียนใหญ่ โรงเรียนยอดนิยม บางโรงเรียนอาจจะเป็นศูนย์วิชาชีววิทยา ขณะที่บางโรงเป็นศูนย์วิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อม
“สพฐ.จะฟื้นฟู พัฒนาศูนย์เหล่านี้ให้กลับมามีความเข้มแข็งเหมือนเดิม และจะบรรจุครูสาขาขาดแคลนให้กับศูนย์เหล่านี้ เพื่อให้โรงเรียนหรือศูนย์เหล่านี้เปิดสอนในวิชาที่ตัวเองเชี่ยวชาญ เพื่อให้โรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมส่งนักเรียนมาเรียนที่ศูนย์แทน” คุณหญิงกษมา กล่าวทิ้งท้าย