กทม.จับมือ สพฐ.ตั้งเป้าจับคู่พัฒนาโรงเรียนพี่-โรงเรียนน้อง เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนโรงเรียน กทม.ทัดเทียมโรงเรียน สพฐ.ชื่อดัง อย่างโรงเรียนเทพศิรินทร์จับคู่โรงเรียนชัยมงคล โดย กทม.ตั้งเป้าจะขยายให้ได้ 151 จากปัจจุบัน 93 โรงเรียน เผย 14 มี.ค.นี้ตั้งโต๊ะรับสมัครนักเรียนร่วมกันพร้อมแนะนำโรงเรียนน้องดีอย่างไร
นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการจัดการศึกษาเพื่อรองรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในรูปแบบสหกิจ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวในการรับเด็กเข้าเรียนและร่วมมือกันพัฒนาสถานศึกษาโรงเรียนในสังกัด กทม.ให้มีคุณภาพเท่าเทียมกันโดยในปี 2550 ได้มีการจับคู่โรงเรียนคู่พัฒนาคุณภาพ หรือ โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง
โดยโรงเรียนพี่ คือ โรงเรียนสังกัด สพฐ. และโรงเรียนน้อง คือ โรงเรียนสังกัด กทม.โดยทุกเขตพื้นที่การศึกษาโรงเรียนที่อยู่ในเขตฯเดียวกันก็จะจับคู่พัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกันในด้านต่างๆได้แก่ด้านการรับนักเรียน มีการวางแผนรับนักเรียนร่วมกัน จัดสรรโควตาเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นม.4 ให้กับโรงเรียนน้อง ด้านการพัฒนาครู มีการอบรมสัมมนา ศึกษาดูงานร่วมกัน ตลอดจนการวิเคราะห์หลักสูตรการเรียนรู้ชั้น ม.1-ม.3 การนำนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการระหว่างโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานครเขต 1 โรงเรียนเรียนน้อง-โรงเรียนวัดชัยมงคล โรงเรียนพี่-โรงเรียนเทพศิรินทร์
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ในปีการศึกษา 2551 กทม.เปิดรับนักเรียนชั้น ม.1 อีก 84 ห้องเรียน จำนวน 3,360 คน ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับนักเรียนได้ร่วม 300 ห้องเรียน รวมปีนี้สามารถรับเด็ก ม.1 ได้ 12,000 คน ซึ่งการจับคู่โรงเรียนคู่พัฒนาคุณภาพจะทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องลำบากพาบุตรหลานไปเรียนที่ไกลๆ ใกล้ที่ไหนก็ให้เรียนที่นั้น ปัจจุบันกทม.มีโรงเรียนในสังกัดที่จัดการศึกษา ในรูปแบบสหกิจระหว่าง สพฐ.กับ กทม.โรงเรียนพี่-โรงเรียนน้อง เป็นโรงเรียน กทม.จำนวน 93 แห่ง โรงเรียนสังกัด สพฐ.58 แห่ง โดย กทม.จะขยายให้ได้ 151 แห่ง
ด้านนายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการ สพฐ.กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลายโรงเรียนประสบความสำเร็จของการเป็นโรงเรียนคู่พัฒนาคุณภาพทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษาด้วยกันมีความใกล้ชิดมากขึ้น มาตรฐานไม่ลดลงมีแต่เพิ่มขึ้นเพราะได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันและโรงเรียนสังกัด กทม.เองมีจุดเด่นหลายเรื่องที่โรงเรียนสังกัด สพฐ.ต้องเรียนรู้ ขณะเดียวกัน เรื่องการเรียนการสอน พัฒนาบุคคลกร สพฐ.ก็มีประสบการณ์โดยเฉพาะด้านมัธยมศึกษาที่เรามีองค์ความรู้มายาวนานสามารถที่จะแลกเปลี่ยนได้ นอกจากนี้ยังมีการขยายไปยังโรงเรียนเอกชนในการพัฒนาโรงเรียนตามพรบ.การศึกษาแห่งชาติ รวมถึงสพฐ.ยังเป็นคู่พัฒนาร่วมกับโรงเรียนอาชีวศึกษาเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ต้องการเข้าเรียนสายอาชีพอีกด้วย
ทั้งนี้ การรับสมัครนักเรียนในปีการศึกษานี้จะสามารถรับนักเรียนได้อย่างทั่วถึงเพราะกทม.ได้มีการขยายห้องเรียนเพิ่มสามารถรับเด็กได้เกือบ 4,000 คน โดยในวันที่ 14 มีนาคมซึ่งเป็นวันรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2551 เป็นวันแรก โรงเรียนพี่และโรงเรียนน้องจะมีการตั้งโต๊ะรับสมัครนักเรียนร่วมกัน เช่น โรงเรียนจะไปตั้งโต๊ะรับนักเรียนร่วมกับโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ซึ่งเป็นโรงเรียนพี่ และโรงเรียนพี่ก็จะแนะนำให้ผู้ปกครองที่นำบุตรหลานมาสมัครเข้าเรียนได้รับทราบว่าโรงเรียนน้องมีการจัดการเรียนการสอนไม่แตกต่างจากโรงเรียนพี่ดีอย่างไรบ้าง
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ในส่วนของ สพฐ.สามารถรับนักเรียน ม.1 ในกทม. ได้ทั้งหมด 1,214 ห้องเรียน 48,307 ที่นั่ง ส่วนม.4 รับได้ 929 ห้องเรียน 37,204 ที่นั่ง แยกเป็น สพท.กทม.1 รับนักเรียนม.1 ทั้งหมด 364 ห้องเรียน รวม 14,440 ที่นั่ง ม.4 รับ 347 ห้องเรียน รวม 13,976 ที่นั่ง ส่วน สพท.กทม.2 รับ ม.1 ทั้งหมด 451 ห้องเรียน รวม 17,982 ที่นั่ง ม.4 รับ 332 ห้องเรียน รวม 13,268 ที่นั่ง และ สพท.กทม.3 รับ ม.1 ทั้งหมด 399 ห้องเรียน รวม 15,885 ที่นั่ง ม.4 รับ 250 ห้องเรียน รวม 9,960 ที่นั่ง
ในระดับอนุบาลนั้น สพท.กทม. 1 รับ 24 ห้องเรียน รวม 1,295 ที่นั่ง กทม. 2 รับ 16 ห้อง รวม 480 ที่นั่ง กทม. 3 รับ 23 ห้อง รวม 730 คน ส่วน ป.1 กทม.1 รับ 81 ห้อง รวม 2,905 คน กทม.2 รับ 25 ห้อง รวม 1,000 ที่นั่ง และ กทม.3 รับ 37 ห้อง รวม 1,345 ที่นั่ง 58 ร.ร.เข้าไปร่วมกิจกรรมกับกทม. ขยายเป็น 151 ร.ร. แก้ปัญหากทม.2 มีปัญหาเด็กล้นรุนแรง ขยายห้องเรียนม.ปลาย รับช่องนร.ม.ต้นจาก กทม. โดยขยายรับม.1 แทน
”มั่นใจว่าการรับนักเรียน ปี 51 นี้จะไม่มีปัญหา แม้ในพื้นที่ กทม.2 ที่ผ่านมามีปัญหาเด็กล้นอย่างหนัก เพราะกทม.ขยายรับ ม.1 เพิ่มในพื้นที่ดังกล่าวเกือบ 3,000 ที่นั่ง ถ้านักเรียนไม่เลือกที่เรียนแล้ว รับรองว่า มีที่เรียนทุกคน เหตุที่มีปัญหาเรื่องไม่มีที่เพราะเลือกที่เรียนกัน อยากเข้าโรงเรียนยอดนิยม"