“กษมา” สั่งเบรกโรงเรียนเก็บเงินค่าทรัพยากร เตรียมหารือที่ประชุมว่าโรงเรียนจะเก็บค่าอะไรได้บ้าง ด้าน “ครูสมชาย” ไฟเขียว เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 2-4 ยื่นคำขอกู้ได้ โดยให้สถานศึกษาเป็นผู้พิจารณา แต่จะเปิดโอกาสให้ผู้กู้รายใหม่ ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ก่อน
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวในการเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า สำหรับเรื่องการรับนักเรียนประจำปี 2551 ขณะนี้ทุกโรงเรียนได้ดำเนินการไปแล้ว แต่พบว่ามีโรงเรียนยอดนิยมที่เปิดรับนักเรียน ม.1 เกินห้องละ 50 คน จำนวน 56 โรง ม.4 จำนวน 2 โรง นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าการจับคู่โรงเรียนพัฒนา หรือโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องนั้นทำให้โรงเรียนดี เด่น ดัง มีเด็กมาสมัครเรียนลดลง 21 โรง และโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนน้องมีนักเรียนมาสมัครเรียนเพิ่มขึ้นถึง 16 โรง
ส่วนเรื่องการเก็บค่าใช้จ่ายในโรงเรียน และผู้ปกครองร้องเรียนนั้น จะนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุม ว่า โรงเรียนสามารถเก็บเงินค่าอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลจาก สพท.ทั่วประเทศ พบมีโรงเรียนที่เรียกเก็บเงินเพิ่มต่ำกว่า 500 บาท จำนวน 734 โรง มีโรงเรียนที่เรียกเก็บเงินเพิ่มต่ำกว่า 1,000 บาท จำนวน 748 โรง และมีโรงเรียนที่เรียกเก็บเงินสูงกว่า 1,000 บาทจำนวน 440 โรง
“ขณะนี้สั่งให้โรงเรียนชะลอการระดมทรัพยากรไว้ก่อน จากนั้นจะหารือกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถึงแนวทางการระดมเงินว่าโรงเรียนระดมทรัพยากรได้วิธีใดบ้าง ส่วนเรื่องข้าราชการเบิกค่าเล่าเรียนบุตรนั้น ยังอยู่ระหว่างการให้กฤษฎีกาตีความ อย่างไรก็ตาม ให้เก็บใบเสร็จไว้ก่อน เผื่อกฤษฎีกาตีความว่าให้เบิกได้
ส่วนกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ว่า จะสอบถามว่าทำไมการเรียนฟรีโรงเรียนยังต้องระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองนั้น นายสมชายชี้แจงว่า จริงๆ แล้วโรงเรียนเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองไม่ได้แม้แต่บาท แต่ขอรับบริจาคและระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองได้โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาและเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง และเงินที่ได้รับบริจาคและระดมทรัพยากรมานั้นต้องนำไปใช้จ่ายในการจัดการศึกษาเท่านั้น
ด้าน คุณหญิงกษมา กล่าวว่า เงินอุดหนุนรายหัวได้รับจากรัฐบาลเพียงพอกับโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่อาจจะไม่พอ และที่ผ่านมาได้มีการระดมทรัพยากรจากผู้ปกครองเพื่อนำไปใช้จ่าย ใน 4 รายการหลัก ได้แก่ 1.จ้างครูสาขาขาดแคลน 2. ค่าสาธารณูปโภค 3.ICT และ 4.บริการพิเศษต่างๆ เช่น ครูสอนภาษาต่างประเทศ
สำหรับเรื่อง กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นายสมชาย กล่าวว่า ขณะนี้ เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปี 2-4 ยื่นคำขอกู้ได้ โดยให้สถานศึกษาเป็นผู้พิจารณารายชื่อและแจ้งมายังกองทุนตามความจำเป็น แต่โดยหลักการจะเปิดโอกาสให้ผู้กู้รายใหม่ ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ก่อน