xs
xsm
sm
md
lg

กยศ.ยัน 4 หมื่นล.ถึงเด็ก 8 แสนก่อนเปิดเทอม สกอ.เปิดศูนย์ช่วย นศ.วันนี้-ลั่นรื้อเกณฑ์กู้ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอธาดา” ฟุ้งเงิน กยศ.4 หมื่นล้าน ถึงมือนักเรียน-นักศึกษา กว่า 8 แสนคน ก่อนเปิดเทอมชัวร์ แย้มเตรียมฟ้องนักศึกษาเบี้ยวหนี้ 9 หมื่นราย กรกฎาคมนี้ ขณะที่ สกอ.เดินหน้าหยุดปัญหานักเรียนไม่มีทุนการศึกษาเรียนต่อระดับอุดมศึกษา จนเป็นสาเหตุให้เกิดเหตุสลดถึงขั้นฆ่าตัวตาย ประกาศเปิดศูนย์ช่วยเหลือนักศึกษาใหม่วันนี้ พร้อมเตรียมทบทวนหลักเกณฑ์การกู้ยืม กยศ.ใหม่ “บุญลือ” ลั่นนำเข้าถก ครม.ด่วน


นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ระหว่างนี้โรงเรียนหลายแห่งเปิดเทอมกันแล้ว และมหาวิทยาลัยกำลังจะเปิดเช่นกันเดือนหน้า ซึ่งที่ผ่านมานักเรียน นักศึกษา ที่กู้ยืมเงินกองทุนมักจะมีปัญหาเปิดเทอมนานนับเดือน สถานศึกษายังไม่ได้รับเงินจากกองทุน และนักศึกษายังไม่ได้รับเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัว ดังนั้น ปีนี้จึงให้ผู้กู้รายเก่าและรายใหม่ ทำสัญญากู้ยืมผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ E-Studentloan ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม และจะสิ้นสุด 30 มิถุนายน นี้

นับแต่ให้นักเรียน นักศึกษา กู้ผ่าน E-Studentloan พบว่า ผู้กู้ไปแล้วกว่า 5 แสนราย โดยเราคาดการณ์ว่า จะมีผู้กู้ทั้งรายเก่าและรายใหม่ ทั้งกู้กองทุน กยศ.กับ กรอ.ประมาณ 8 แสนราย ซึ่งได้เตรียมเงินไว้ 4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม นักเรียน นักศึกษา ที่แสดงความจำนงกู้ผ่านอินเทอร์เน็ตไปแล้ว ทาง กยศ.และสถาบันการศึกษา จะได้รับเอกสารการกู้พร้อมกัน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้กู้ รวมทั้งจะต้องมาพิจารณาว่าผู้กู้เรียนสาขาไหน กู้ได้เท่าไหร่ ทั้งนี้ จะมีผู้กู้บางรายกู้เฉพาะค่าเล่าเรียน บางรายกู้ทั้ง 2 ส่วน

“ขณะนี้สถานศึกษา และ กยศ.ทยอยตรวจสอบคุณสมบัติของผู้กู้ทุกราย ตั้งใจให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน หรือเปิดเรียนไปแล้วไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่ช่วงนี้เร่งทำเรื่องของนักศึกษาที่เรียนปวส. เพราะเปิดเรียนแล้ว ซึ่งมีไม่มาก ส่วนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย หากเป็นผู้กู้รายเก่าไม่ยุ่งยากสามารถอนุมัติได้เลย ส่วนผู้กู้รายใหม่ต้องมาพิจารณาว่าอยู่ในเงื่อนไขกู้ได้หรือไม่ กู้ได้เท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นผู้กู้รายเก่าหรือรายใหม่ จะให้ทันเปิดเทอม และนักศึกษาไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัว เพราะจะมีเงินเข้าบัญชีให้ ส่วนค่าเทอมจะจ่ายผ่านมหาวิทยาลัย”

จากนั้น นพ.ธาดา กล่าวถึงนักเรียน นักศึกษา ที่ไม่มาชำระหนี้ กยศ.ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี กว่า 1 แสนราย เราเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้มาไกล่เกลี่ยที่ศาลอาญา เพื่อขอให้เด็กกลุ่มนี้มาติดต่อประนอมหนี้ รวมทั้งไม่ให้คดีหมดอายุความ ตั้งแต่ต้นปี พบว่ามีนักเรียน นักศึกษา มาขอไกล่เกลี่ยเพียง 1 หมื่นราย ที่เหลืออีก 9 หมื่นราย กยศ.กำหนดว่าจะยื่นให้ศาลฟ้องร้องในเดือนกรกฎาคมนี้

“ใจจริง กองทุนไม่อยากฟ้องร้องต่อศาล พยายามผ่อนผันให้เด็กมานานถึง 5 ปี เด็กกลุ่มนี้ก็ไม่ติดต่อกองทุน เราทำทุกอย่าง ที่ผ่านมาพยายามสร้างจิตสำนึกให้เด็กมาชำระหนี้ ส่งจดหมาย ลงประกาศทางหน้าหนังสือพิมพ์ เดินสายไปยัง 4 ภูมิภาค ขอให้มาติดต่อกองทุนซึ่งมีติดต่อเพียง 1 ราย ในจำนวน 1 แสนกว่าราย อย่างไรก็ดี การฟ้องร้องต่อศาลเป็นทางออกสุดท้าย เพื่อไม่ให้คดีหมดอายุความ และะการฟ้องร้องต้องใช้เงินประมาณ 400 ล้านบาท แต่เราจำเป็นต้องดำเนินการ เพราะเงินทุกบาท ทุกสตางค์ที่นักเรียน นักศึกษา นำไปใช้ระหว่างเรียนนั้นเป็นเงินภาษีประชาชน ไม่ใช่เรียนฟรี แล้วซึ่งเงินจะหายไปไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งหากมาผ่อนชำระหนี้คืนกองทุน จะได้มีเงินหมุนเวียนให้รุ่นน้องได้มายืมกู้เพื่อศึกษาต่อ”นพ.ธาดา กล่าว

วันเดียวกันนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ศูนย์เฉพาะกิจเพื่อช่วยนักศึกษาใหม่ปีการศึกษา 2551 ที่จะเปิดอย่างเป็นทางการวันนี้ (20 พ.ค.) ตั้งแต่เวลา 08.00-21.30 น.จะให้บริการทุกวัน เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ คลี่คลายปัญหาให้กับนักศึกษาใหม่ที่ครอบครัวยากจนและต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยสามารถติดต่อทางโทรศัพท์หมายเลข 0-26105416-17

ทั้งนี้ เบื้องต้นประเมินสาเหตุปัญหานักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกทั้งระบบรับตรงหรือแอดมิชชันแล้วไม่มีเงินเรียน พบว่า ครอบครัวประสบปัญหาหลายด้านรวมถึงข้อมูลและขั้นตอนการเข้าถึงกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ. ) ถ้านักเรียนทุกคนรู้ว่า ถ้าไม่มีเงินเรียนจะต้องทำอะไรอย่างไรเป็นขั้นตอน ก็จะไม่เกิดปัญหาที่น่าเศร้าใจ

รวมถึงเกณฑ์การกู้ยืม กยศ.ที่กำหนดให้ครอบครัวที่กู้ยืมจะต้องมีรายได้รวมกันไม่เกิน 150,000 บาทต่อปีน่าจะต้องทบทวน เนื่องจากนักวิชาการเคยหารือกันว่า ถ้าครอบครัวใดมีลูกคนเดียวเกณฑ์รายได้ดังกล่าวอาจจะใช้ได้ แต่ถ้ามีลูกหลายคนน่าจะปรับเพิ่มรายได้ที่จะมีสิทธิ์กู้เป็น 200,000-300,000 บาท เชื่อว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องเสนอให้ทบทวนแน่นอน โดยวันนี้ นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศธ.นัดคุยกันเรื่องนี้ ทั้งกระทรวงการคลัง และผู้จัดการ กยศ.ซึ่งกำลังมีการยกร่างกองทุนกู้ยืมฉบับใหม่

“จะคุยกันเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะ กยศ.ใช้มาครบ 10 ปีพอดี ควรมีการทบทวนกัน และปัญหาการประชาสัมพันธ์ก็ต้องแก้ไขเพราะยังลงไม่ถึงตัวเด็กจริงๆ นอกจากนี้ โรงเรียนมัธยมกว่า 3,000 โรง ก็ต้องช่วยแนะแนวให้ข้อมูลเด็กด้วย จะมีมาตรการออกมา และคราวนี้เราคงไม่แก้ปัญหาปีต่อปี แต่จะแก้เป็นระยะยาว คาดการณ์และวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจว่าโยงถึงปัญหาสังคมหรือไม่” เลขาธิการ กกอ.กล่าว

นายสุเมธ กล่าวด้วยว่า ระบบเงินกู้ของ กยศ.ในปัจจุบันไม่สามารถรองรับผู้เรียนอุดมศึกษาได้ทั้งหมด ระบบใหม่ที่จะสร้างขึ้นจะต้องแก้ปัญหาได้ เอาหลักการของ กยศ. และ กรอ. มาร่วมกัน คาดว่าปลายเดือนพฤษภาคมนี้จะยกร่างเสร็จ และเสนอทำประชาพิจารณ์ ขณะนี้ยังไม่กล้าบอกว่าทุกคนที่จะเรียนระดับอุดมศึกษามีสิทธิ์กู้ได้หมด แต่ถึงอย่างไร ต้องให้สิทธิ์นักเรียนมัธยมปลายได้กู้เพื่อค่าครองชีพ ส่วนชื่อกองทุนยังไม่ได้ตกลง

ขณะที่นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (20 พ.ค.) ตนจะนำเรื่องเสนอ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งดูแลกองทุน กยศ.ให้พิจารณาปรับเงื่อนไขการกู้เงิน กยศ.ที่กำหนดให้ผู้มีสิทธิ์กู้เงินต้องมาจากครอบครัวที่มีรายได้รวมของพ่อ-แม่ ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี เพราะเงื่อนไขกู้เงินนี้ไปปิดโอกาสเด็กจำนวนมากที่มีจำเป็นจริงๆ ทำให้พวกเขาไม่สามารถกู้เงิน กยศ.ได้

“บางครอบครัวมีรายได้เกิน 150,000 บาทต่อปีจริง แต่ไม่สามารถส่งลูกเรียนได้เพราะมีลูกหลายคนหรือมีความจำเป็นอื่นๆ แต่เกณฑ์กู้เงินของ กยศ.ทำให้เด็กที่มาจากครอบครัวลักษณะดังกล่าวหมดสิทธิ์กู้เงิน ซึ่งปัญหาดังกล่าวนักวิชาการแสดงความเห็นไว้ชัดเจนว่า ถ้าไม่ปรับเกณฑ์กู้เงิน กยศ.จะทำให้เกิดปัญหาในการกู้ยืมอีก จึงมีการเสนอให้ขยับเงื่อนไขรายได้ครอบครัวผู้มีสิทธิ์กู้เงินเป็นไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี”

ทั้งนี้ ตนจะไม่เสนอลงลึกระหว่างขยับรายได้ของครอบครัวให้สูงขึ้นหรือยกเลิกเงื่อนไขนี้ไปเลย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ รมว.คลัง จะต้องไปพิจารณาร่วมกับผู้จัดการกองทุน กยศ.อย่างไรก็ตาม ขอให้คลังปลดล็อกเงื่อนไขนี้เพื่อให้เด็กที่มีความจำเป็นจริงๆ ได้มีโอกาสกู้เงินเรียน แม้จะมาจากครอบครัวที่มีรายได้เกิน 150,000 บาทต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น