xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้น กรอ.ข้อสอบใหญ่ของ “ครูสมชาย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้การเข้ามาบริหารงานของ “นายสมัคร สุนทรเวช” นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของไทยจะประกาศผ่านสื่อมวลชนชัดเจนว่า ไม่ได้เป็น “หุ่นเชิด” ของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกปฏิบัติการ “19 กันยา” ยึดอำนาจไปเมื่อปี 2549 แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “พรรคพลังประชาชน” อยู่ภายใต้เงื้อมเงาของอดีตนักการเมือง “พรรคไทยรักไทย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งชายที่ชื่อ “ทักษิณ” ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งพรรค และเป็นบ่อเงินบ่อทองชั้นดีของพรรค

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นโยบายการบริหารงานของรัฐบาล “หมัก 1” ในทุกกระทรวงจะเป็นการกลับมาของนโยบาย “ประชานิยม” พรรคไทยรักไทย

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหนึ่งในกระทรวงที่พรรคไทยรักไทยผุดโครงการประชานิยมไว้จำนวนมาก ทั้งโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ทุนเรียงความ โครงการคอมพิวเตอร์ล้านเครื่อง(One laptop one child) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ.(Income Contingency Loans หรือ ICL) และทันทีที่ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ประกาศทันทีว่า โครงการประชานิยมทั้งหลายแหล่จะถูกนำกลับมาดำเนินการและสานต่ออย่างแน่นอน

นโยบายที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก นอกจากโครงการคอมพ์ล้านเครื่องที่ตั้งเป้าจะซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กล้านเครื่องแจกเด็กนักเรียนล้านคนแล้ว คงจะเป็นการฟื้น กรอ.ขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากการดำเนินโครงการ กรอ.ในช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาหลายประการ

กรอ.เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ภายใต้สโลแกน “เรียนก่อนผ่อนทีหลัง” โดยเริ่มใช้จริงในปีการศึกษา 2549 ซึ่งโครงการเงินกู้ดังกล่าว เปิดให้นักศึกษาในสถาบันการศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แก่ กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และเอกชน สถาบันอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน และวิทยาลัยชุมชน นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงสถาบันการศึกษาที่สังกัดกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของภาครัฐอื่นๆ ที่จัดการศึกษาด้วย โดยผู้กู้ต้องอยู่ในระดับอนุปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงหรือเทียบเท่า ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า นอกจากนี้ ผู้ที่เรียนในหลักสูตรพิเศษและหลักสูตรนานาชาติก็สามารถกู้ได้

ทั้งนี้ กรอ.เปิดให้นักศึกษาทุกคนยื่นกู้ได้ โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ซึ่งแตกต่างจากกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่กำหนดเกณฑ์การปล่อยกู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา (ไม่เกินปริญญาตรี) โดยผู้กู้ต้องมีรายได้ครัวเรือนไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี และให้กู้ยืมทั้งค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าใช้จ่ายในการครองชีพระหว่างศึกษา ซึ่งจะได้วงเงินกู้ระดับมัธยมปลายประมาณ 60,000 บาทต่อปี และปริญญาตรีประมาณ 100,000 บาทต่อปี คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ขณะที่ กรอ.ให้กู้ยืมได้ตามอัตราการลงทะเบียนจริง แต่ต้องไม่เกินกว่าเพดานเงินกู้ที่รัฐบาลกำหนดไว้ตามสาขาวิชา เช่น สาขาสังคมศาสตร์กู้ได้ไม่เกิน 6 หมื่นบาท/ปี วิศวะไม่เกิน 7 หมื่นบาท/ปี สาธารณสุขไม่เกิน 8 หมื่นบาท/ปี และแพทย์-เภสัช ไม่เกิน 1.5 แสนบาท/ปี โดยให้ชำระคืนเมื่อบัณฑิตมีรายได้อย่างต่ำ 16,000 บาทต่อเดือน ไร้ดอกเบี้ย แต่มูลหนี้จะถูกปรับตามดัชนีผู้บริโภคในแต่ละปี หรือปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อนั่นเอง

หลังจากเริ่มใช้ กรอ.ได้เพียงแค่ 1 ภาคการศึกษา “ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน” ซึ่งเข้ามานั่งเก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ ภายหลังการรัฐประหาร ได้สั่งให้ทบทวนโครงการดังกล่าว เนื่องจากพบปัญหานักศึกษาได้รับเงินล่าช้า และผู้กู้จะต้องเซ็นสัญญาหลายครั้ง หลายใบ เพราะมีการแยกบัญชีการกู้ยืมออกเป็นส่วนๆ ทั้งในส่วนเงินกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียน กู้เพื่อใช้ในการครองชีพ เนื่องจากเงินกู้ กรอ.ไม่ครอบคลุมถึงค่าครองชีพ และการแยกหลายบัญชียังสร้างความสับสนให้แก่ผู้กู้ เพราะคิดอัตราดอกเบี้ย และการชำระหนี้แตกต่างกัน ในระยะเวลาไม่พร้อมเพรียงกัน

ที่สำคัญ การปล่อยกู้ กรอ.ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระงบประมาณจำนวนมาก โดยในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นการปล่อยกู้ให้กับนิสิต นักศึกษา ที่ครอบครัวมีฐานะและสามารถจ่ายค่าเล่าเรียนเองได้โดยไม่เดือดร้อน

ในที่สุด คณะรัฐมนตรี ได้มีมติยกเลิกการให้กู้ยืม กรอ.ในปีการศึกษา 2550 และหันกลับมาใช้ กยศ.ในการปล่อยกู้แทน อย่างไรก็ตาม นักศึกษาจำนวน 140,000 ราย ที่ยื่นกู้กับ กรอ.รุ่นแรก และมีคุณสมบัติไม่เข้าตามเกณฑ์การกู้ยืมของ กยศ.คือ ครอบครัวต้องมีรายได้ไม่เกิน 150,000 บาท/ปี ยังคงได้สิทธิ์กู้ยืม กรอ.ตามเดิมจนกว่าจะสำเร็จการศึกษา เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ว่า ไม่สามารถยุบรวมกองทุน กรอ.และ กยศ.เข้าด้วยกันได้ ทำให้ปัจจุบันมีนักศึกษาบางส่วนเป็นลูกหนี้ของ กรอ.ขณะที่บางส่วนเป็นลูกหนี้ของ กยศ.

หลังจากที่ นายสมชาย ประกาศจะนำ กรอ.กลับมาใช้ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้เชิญ รศ.นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการ กยศ.มาหารือและดูข้อมูลกองทุนทั้ง กรอ.และ กยศ.เพื่อเตรียมเสนอต่อนายสมชายภายในสัปดาห์นี้

ข้อมูลการกู้ยืม กรอ.ตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 ที่เป็นปีแรก ของการนำ กรอ.มาใช้ พบว่าในภาคเรียนที่ 1/2549 มีผู้กู้ จำนวน 315,186 คน ใช้งบ 4,268 ล้านบาท ภาคเรียนที่2/2549 มีผู้กู้จำนวน 256,557 คน ใช้งบฯ 3,383 ล้านบาท จากนั้นปีการศึกษา2550 ได้ยุบ กรอ. แต่ยังมีนักศึกษากู้กรอ. อยู่ ภาคเรียนที่ 1/2550 มีผู้กู้จำนวน 51,500 คน ใช้งบ 787.5 ล้านบาท ส่วนข้อมูลภาคเรียนที่2/2550 อยู่ระหว่างการรวบรวม

“หากจะให้นำ กรอ.กลับมาใช้ในภาคเรียนที่ 1/2551 นั้น ผมว่าสามารถทำได้ และเท่าที่คุยกับ กยศ.มีเงินเหลือที่จะมาดำเนินการให้กู้ กรอ.จำนวน 4,333 ล้านบาท สามารถรองรับนิสิตนักศึกษาที่จะกู้ได้ประมาณ 3 แสนกว่าคน แต่ผมจะเสนอ รมว.ศึกษาธิการด้วยว่า ถ้าจะให้เร่งดำเนินการอาจจะฉุกละหุกเกินไป ควรมีเวลาในการเตรียมความพร้อมจะดีกว่า ซึ่งจะปรับการกู้ยืมเป็น กยศ.หรือ กรอ.ต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับกับผู้กู้เป็นหลัก เพราะเป็นผู้ที่ต้องใช้หนี้” ดร.สุเมธ กล่าว

ด้าน รศ.นพ.ธาดา ซึ่งรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงให้ความเห็นว่า ถ้าจะนำ กรอ.กลับมาใช้อีกครั้งคาดว่าไม่มีปัญหา และขณะนี้ กยศ.เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ไว้แล้ว

“แต่การกู้ยืม กรอ.นั้น อยากให้รัฐบาลจัดสรรงบฯให้เพียงพอกับความต้องการของผู้กู้ เพราะ ต้องใช้เงินจำนวนมาก และเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องยุติ กรอ.ไป เนื่องจากไม่มีงบประมาณแผ่นดินมารองรับ”

ดร.เปรมประชา ศุภสมุทร อดีตผู้จัดการ กยศ.แสดงความคิดเห็นว่า ต้องถามรัฐบาลก่อนว่าขณะนี้มีเงินในกระเป๋าอยู่เท่าไหร่ มีพอที่จะให้กู้หรือไม่ เพราะ กรอ.รุ่นแรก มีนักเรียน นักศึกษา มาขอกู้ถึง 4 แสนคน เป็นวงเงิน 8 พันล้านบาท หากปล่อยกู้รุ่น 2 น่าจะมีผู้ขอกู้เพิ่มขึ้นและวงเงินเฉียด 1 หมื่นล้าน พร้อมกันนี้ รัฐบาลต้องกลับไปคิดว่าจะช่วยเหลือกลุ่มเด็กยากจนเรื่องค่าครองชีพด้วย

“เด็ก กรอ.รุ่นแรกมีปัญหาค่อนข้างมาก ตอนนั้นให้เด็กทุกคนมีสิทธิกู้ได้ ให้เฉพาะค่าเล่าเรียน ผมต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเด็กยากจน โดยเรียกร้องค่าครองชีพให้แก่เด็กยากจน ไม่เช่นนั้นเด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้เรียน เนื่องจากค่าครองชีพในแต่ละเดือนสูงพอสมควร ครอบครัวเด็กยากจนอาจไม่มีเงินตรงนี้ส่งมาให้ลูกหลาน เด็กต้องเลิกเรียนกลางคัน ฉะนั้น หากฟื้น กรอ.อย่าลืมกันเงินส่วนหนึ่งเป็นค่าครองชีพให้แก่เด็กยากจนด้วย”

ดร.เปรมประชา ยังแสดงความกังวลว่า เด็กจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย โดยได้เงิน 2 ทาง รับจากกองทุนแล้วยังแบมือขอผู้ปกครอง ซึ่งจริงๆ แล้วเด็กที่ขอกู้กองทุนนั้น ผู้ปกครองจะต้องเซ็นชื่อ ก็มีเด็กบางรายเซ็นเองโดยที่ผู้ปกครองไม่รู้เรื่อง

ดร.เปรมประชา กล่าวอีกว่า ไม่ใช่ว่า กรอ.ไม่ดี ซึ่งทำให้ทำงานง่ายด้วยซ้ำเพราะสถานศึกษาและกองทุน ไม่ต้องเสียเวลามานั่งพิจารณาเป็นรายคน ทุกคนกู้ได้หมด เพียงแต่สถาบันการศึกษาต้องปลูกจิตสำนึกให้แก่นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้ปกครองทุกคนว่า เงินกองทุนทุกบาททุกสตางค์ คือเงินภาษีของประชาชน เมื่อถึงกำหนดชำระควรมาจ่ายเงินคืนให้แก่กองทุนด้วย เพราะกองทุนนี้ไม่ใช่กองทุนให้เปล่า

“อยากให้รัฐบาลไปทบทวนเกี่ยวกับดอกเบี้ยว่า ยังยึดฐานเงินเฟ้อ หรือจะเปลี่ยนมาใช้อัตราเดียวกับ กยศ.ถ้าคิดดอกเบี้ยตามอัตราเงินเฟ้อ นักเรียน นักศึกษา จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูง แต่หากกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบ กยศ.เด็กจะเสียดอกเบี้ยไม่สูงมากนัก อยู่ในอัตราที่เด็กจบใหม่สามารถผ่อนชำระหนี้คืนให้แก่กองทุนได้และยังมีเงินเหลือพอเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพระกองทุนนี้ตั้งขึ้นมาโดยไม่ต้องการแสวงหากำไร แต่ต้องการให้เด็กได้เรียนสูงขึ้น”

รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้มุมมองว่า กยศ.ดีที่ดูแลคนยากจนให้ได้กู้เรียนจริง และสามารถกู้ได้ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าหอพัก และค่าใช้จ่ายส่วนตัว แต่ กรอ.ให้กู้ทุกคน แต่กู้ได้เฉพาะค่าเล่าเรียน หากจำเป็นต้องนำ กรอ.กลับมา ก็อยากให้กู้ได้ครอบคลุมเช่นเดียวกับ กยศ. แต่ กรอ.จะมีปัญหาหนี้ในอนาคต ซึ่งรัฐบาลต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร และถ้าจะนำมาใช้ในภาคเรียนที่ 1/2551 ควรสร้างความเข้าใจให้นักศึกษาที่จะเข้าใหม่ให้ทราบล่วงหน้าก่อน 3 เดือน

รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กล่าวว่า กรอ.และ กยศ.ดีที่ให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสเข้าเรียน และถ้าจะใช้ระบบใดต้องคิดให้รอบคอบ และหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูข้อดี-ข้อเสียของแต่ละกองทุนก่อนว่ากองทุนไหนจะดีกว่ากัน ค่อยตัดสินใจ นอกจากนี้ ต้องดูว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องให้นิสิตนักศึกษากู้ได้ทุกคน และจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น