xs
xsm
sm
md
lg

ช่วย นศ.ขัดสน สกอ.ควักเงินค่าเดินทางรายงานตัวให้ ขอกยศ.โอนค่าใช้จ่ายส่วนตัวก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สกอ.หาทางยื่นมือช่วยนักศึกษาที่ขัดสน สั่งให้ไปแจ้ง ผอ.ร.ร.หรือครูที่ปรึกษา เพื่อให้ยืนยันว่าเด็กขัดสนจริงจะส่งค่าเดินทางให้ และให้เด็กเร่งเข้าไปดาวน์โหลดกู้เงิน ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนตัว กยศ.จะโอนให้เด็กก่อน ลดความเดือดร้อน และให้มหาวิทยาลัยจ้างทำงานพิเศษ พร้อมย้ำจะเร่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนแก่โรงเรียน อบต. อบจ. เพราะหลายแห่งไม่รู้ว่ามีกองทุนนี้

วันนี้ (20 พ.ค.) นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า วันนี้ “ศูนย์เฉพาะกิจเพื่อช่วยนักศึกษาใหม่ที่ยากจน” เปิดให้นักศึกษาที่เดือดร้อนเข้ามาปรึกษาได้แล้ว โดยจะให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-21.30 น. ซึ่งจะเปิดบริการทุกวัน เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ คลี่คลายปัญหาให้แก่นักศึกษาที่มีฐานะยากจน และต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน สามารถปรึกษาได้ที่ 0-2610-5416-7 หรือ Call Center 0-2576-5555 และ 0-2576-5777

อย่างไรก็ตาม นับแต่วานนี้ (19 พ.ค.) สื่อนำเสนอข่าวออกไป พบว่ามีผู้โทรเข้ามาปรึกษากว่า 100 ราย ส่วนมากขอข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการกู้เงิน กยศ. และกรอ. ซึ่ง สกอ.เกรงว่าจะให้คำปรึกษาบางอย่างไม่ละเอียด จึงให้โทร.ไปยัง กยศ.โดยตรงที่ 0-2610-4888

ศูนย์เฉพาะกิจฯ จะประสานงานเครือข่าย 3 จุดใหญ่ ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชน 2.ประสาน กยศ. และ กรอ. และสุดท้าย โรงเรียน อย่างไรก็ดี สกอ.ไม่ใช่ประสานให้แล้วจบ แต่ยังติดตามจนกว่าบรรลุวัตถุประสงค์ของแต่ละรายที่ขอความช่วยเหลือเข้ามา เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยจะให้นักเรียนที่ผ่านการสัมภาษณ์ แต่ไม่มีเงินเดินทางมารายงานตัวให้กลับไปแจ้งผู้อำนวยการโรงเรียนที่เรียนอยู่ หรืออาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อให้โรงเรียนยืนยันมาทาง สกอ.ว่าเด็กขัดสนจริงๆ สกอ.จะโอนเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปให้เด็ก

สำหรับค่าเทอม ให้เด็กเข้าไปทำสัญญากู้ยืมผ่านอินเทอร์เน็ต E-Studentloan จากนำหลักฐานการขอกู้เงินไปให้มหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยเร่งจัดลำดับความเดือดร้อน อย่างไรก็ตาม การจัดสรรค่าเทอมนี้อาจจะใช้เวลา 1-2 เดือนกว่าจะได้รับเงิน

“ค่าเทอมผมไม่ห่วง เพราะได้มีการคุยกับมหาวิทยาลัยแล้วว่า เด็กที่ขอกู้อาจยืดเวลาการชำระค่าเทอมไปจนกว่า กยศ.จะจัดสรรมาให้ แต่มีบางมหาวิทยาลัยเลือกวิธีการให้นักเรียนยืมเงินมหาวิทยาลัยมาจ่ายค่าเทอม พอกองทุนจัดสรรมาให้ก็นำมาคืนมหาวิทยาลัยโดยไม่คิดดอกเบี้ย สิ่งที่เป็นห่วงก็คือค่าใช้จ่ายส่วนตัว ตนได้ปรึกษากับ นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุน กยศ.ขอให้โอนเงินส่วนนี้ให้แก่เด็กก่อน ทางกองทุนบอกว่าไม่มีปัญหา จะโอนค่าใช้จ่ายให้เดือนละ 2,000 บาท เศรษฐกิจเช่นนี้คงไม่พอ ฉะนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองก็ควรช่วยแบกค่าใช้จ่ายส่วนนี้บ้าง ส่วนเด็กที่ยากจนจริงๆ ขอให้ไปแจ้งมหาวิทยาลัย เพื่อของานทำระหว่างเรียนกับมหาวิทยาลัย จะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 2,400 บาท เมื่อนำมารวมกันก็น่าเพียงพอกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว”
นายสุเมธ กล่าวด้วยว่า ศูนย์เฉพาะกิจนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ ซึ่งเราพบว่านักเรียน โรงเรียน อบต. อบจ.เข้าไม่ถึงข้อมูล ฉะนั้นเพื่อขจัดปัญหานี้ เริ่มจากโรงเรียน ครูแนะแนวต้องให้ข้อมูลนักเรียนและต้องเป็นข้อมูลที่อัพเดรดเสมอ ขณะนี้กันต้องไปให้ความรู้แก่ อบต. อบจ. ว่ามีทุนเพื่อการศึกษาให้นักเรียนกู้เรียน เพราะมีหลายหน่วยงานไม่เคยรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการขอยืมทุน

เมื่อถามว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการพิจารณาเรื่องปรับเกณฑ์รายได้ครอบครัวกองทุน กยศ.หรือไม่ นายสุเมธกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เข้า ครม. แต่นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศธ. จะหารือกับคณะกรรมการ กยศ.ว่าจะปรับเกณฑ์ได้หรือไม่ รวมถึงพิจารณาครอบครัวที่มีรายได้เกิน 150,000 บาท แต่มีลูกเรียนอยู่ระดับอุดมศึกษา 2-3 คน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก สามารถกู้ กยศ.ได้หรือไม่

ด้านนายวิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวถึงกรณีที่นักเรียนสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ แต่ฐานะทางบ้านยากจนไม่สามารถส่งเรียนต่อได้ และเด็กบางรายสอบเข้าในบางมหาวิทยาลัยได้ แต่หาทางออกให้ตัวเองไม่ได้ สุดท้ายต้องคิดสั้นฆ่าตัวตายนั้น ว่า ถือเป็นข่าวที่สะเทือนใจมาก ตอนนี้ทาง มศว แม้จะยังไม่มีกรณีตามที่เป็นข่าว แต่ได้ให้นโยบายกับกองที่ต้องทำงานประสานงานกับเด็กได้แก่ กองบริการการศึกษา กองกิจการนิสิต ต้องช่วยกันตอบคำถามเด็กและไขข้อข้องใจในเรื่องต่าง ๆ ให้กับนิสิตใหม่ทุกคน มศว เน้นย้ำเสมอว่าบุคลากรต้องมีจิตสำนึกในการบริการที่เข้มแข็ง มีจิตสำนึกสาธารณะที่เห็นความทุกข์ของนิสิตเหมือนกับความทุกข์ของญาติพี่น้อง ดังนั้น จิตสำนึกในการให้บริการทุกคนต้องมี อยากเห็นเจ้าหน้าที่เป็นมิตรกับนิสิต เป็นที่พึ่งให้นิสิตได้ โดยเฉพาะนิสิตใหม่

"ขอฝากถึงนิสิต นักศึกษาใหม่ทุกสถาบันว่าถ้ามีปัญหาเรื่องการเงิน หรือสอบได้แล้วแต่ยังไม่มีเงินลงทะเบียน ก็ขอให้มาแจ้งผัดผ่อน และเข้ามาขอคำปรึกษาได้ที่มหาวิทยาลัย ขอให้ใจเย็น ๆ พ่อแม่ญาติพี่น้องก็ต้องให้กำลังใจเด็ก เด็กก็ต้องให้กำลังใจพ่อแม่ผู้ปกครอง ปัญหาทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ เชื่อว่าผู้บริหารทุกมหาวิทยาลัยยินดีช่วยเหลือและร่วมแก้ไขปัญหาให้ และสามารถขอเข้าพบอธิการบดีได้ ในกรณีที่เด็กไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นั้นแต่ละมหาวิทยาลัยมีระบบช่วยเหลือมากมาย ตั้งแต่ระบบผ่อนชำระ หรือให้ทุนเรียน ในส่วนของ มศว มีทุนการศึกษาให้ มีทุนสนับสนุนให้เด็กได้ทำงานเพื่อหารายได้ขณะเรียน"นายวิรุณกล่าว

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ นักเรียนเสียชีวิต และกล่าวว่าปัญหานี้เป็นรอยต่อระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)มักจะได้รับจดหมายจากนักเรียนเขียนเล่าถึงความเดือดร้อนว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แต่ไม่มีเงินจะเดินทางไปลงทะเบียน ซึ่งหลายโรงเรียนก็แก้ปัญหาด้วยการขอรับบริจาคเงินเพื่อให้เด็กใช้เป็นค่าเดินทาง แต่ปัญหานี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาปิดภาคเรียน ส่งผลให้การติดตามดูแลนักเรียนขาดความใกล้ชิด และไม่ดีพอ

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น สพฐ.จะดำเนินการส่งข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาไปให้ สกอ.โดยเร็ว ซึ่งข้อมูลจะมาจากการที่ สพฐ.ทำโครงการเยี่ยมบ้านนักเรียน ครูจะไปสัมผัสรู้จักพื้นฐานครอบครัวของเด็กว่ามีความเป็นอยู่กันอย่างไร เช่น มีความยากจน หรือมีปัญหาใดบ้าง ที่สำคัญในระยะยาว สพฐ.จะเสนอรัฐบาลให้มีการให้ทุนการศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา เพราะเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากดูจากทุนเฉลิมราชกุมารี ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานให้แก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจนตั้งแต่ ม.ปลายจนจบปริญญาตรี

“เด็กที่จบม.6 ปีละ 2.5 แสนคน ในจำนวนนี้พบว่า 30% เป็นเด็กยากจน หรือคิดเป็นจำนวน 80,000 คน ถ้านำมาเทียบกับจำนวนเด็กมายื่นขอกู้ กยศ. ประมาณ 70,000 คน จะเห็นได้ว่าตัวเลขของเด็กยากจนและตัวเลขของผู้ขอกู้ใกล้เคียงกัน และครูแนะแนวส่วนใหญ่จะให้ความรู้เรื่องการศึกษาต่อ ส่วนความรู้เรื่องกองทุนกู้ยืมจะไมได้เน้นย้ำมาก ซึ่งโรงเรียนการให้ความรู้อยู่แล้วและเด็กส่วนใหญ่ก็ทราบ อย่างไรก็ดี พรุ่งนี้(21 พ.ค.) จะมีการประชุมทางไกลกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศเพื่อย้ำเรื่องการให้ความรู้เรื่องกองทุน และให้ความสำคัญต่อเรื่องสภาพจิตใจของเด็ก”คุณหญิงกษมา กล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง พรุ่งนี้(21 พ.ค.) เวลา 14.00 น. ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขา กกอ. นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุน กยศ. และตัวแทนกระทรวงการคลัง มาประชุมเพื่อหาแนวทางไขเด็กยากจน และปรับเกณฑ์เพดานรายได้ของครอบครัว

กำลังโหลดความคิดเห็น