xs
xsm
sm
md
lg

ข้าราชการเบิกค่าเล่าเรียนลูกได้ แต่ไม่เต็ม 100%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เฮ! ข้าราชการเบิกค่าเทอมลูกได้ แต่โชคร้ายเบิกคืนไม่เต็ม 100% เพราะ สพฐ.อนุญาตให้โรงเรียนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองนับสิบรายการ แต่กรมบัญชีกลางให้เบิกได้ไม่กี่รายการเท่านั้น

นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นายสมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ขณะนี้ข้าราชการที่มีบุตรเรียนอยู่ในสถานศึกษาของรัฐสามารถนำใบเสร็จที่จ่ายเงินบำรุงการศึกษาให้โรงเรียนมาเบิกเงินคืนจากต้นสังกัดได้แล้ว เพราะกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค.0422.3/ว 248 ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวง อธิบดี เลขาธิการ ผู้อำนวยการ อธิการบดี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคลังเขต แจ้งให้ทราบถึงประเภท และอัตราเงินบำรุงการศึกษาใหม่ที่กรมบัญชีกลางกำหนดขึ้น โดยกรมบัญชีกลางได้กำหนดประเภท และอัตราเงินบำรุงการศึกษาในสถานศึกษาของราชการ ดังนี้

ระดับอนุบาลหรือเทียบเท่า เบิกได้ไม่เกินปีละ 4,650 บาท ระดับประถมศึกษาหรือเทียบเท่า เบิกได้ไม่เกินปีละ 3,200 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า เบิกได้ไม่เกินปีละ 3,900 บาท ระดับมัธยม ศึกษาตอนปลาย/หรือหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่า เบิกได้ไม่เกินปีละ 3,900 บาท และระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า เบิกได้ไม่เกินปีละ 11,000 บาท

ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า เงินบำรุงการศึกษาที่ให้เบิกจ่ายตามประเภทและอัตราข้างต้นประกอบด้วยรายการค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ดังนี้ 1.ค่าสอน คอมพิวเตอร์ กรณี ร.ร.จัดให้เกินมาตรฐานที่รัฐจัดให้ 2.ห้องเรียนพิเศษ EP 3.ห้องเรียนพิเศษ MEP 4.ห้องเรียนพิเศษด้านวิชาการและด้านอื่นๆ (วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น) 5.ค่าจ้างครูชาวต่างประเทศ 6.ค่าจ้างครูที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ 7.ค่าใช้จ่ายในการไปทัศนศึกษาตามแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน

สำหรับระดับอนุปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เงินบำรุงการศึกษาที่ให้เบิกจ่าย ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนโดยตรง ที่สถานศึกษาได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าสังกัดให้เรียกเก็บ ทั้งนี้ ไม่รวมค่าปรับพื้นฐาน ค่าปฐมนิเทศ เงินบริจาค และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการบริหารและดำเนินงานของสถานศึกษา

นายสมเกียรติ อธิบายว่า เงินบำรุงการศึกษา หมายถึง เงินประเภทต่างๆ ที่สถานศึกษาของทางราชการเรียกเก็บตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวง ส่วนราชการเจ้าสังกัด หรือที่กำกับ มหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่กฎหมายจัดตั้ง หรือองค์กรของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเภทและอัตราเงินบำรุงการศึกษาที่กรมบัญชีกลางอนุญาตให้เบิกได้นั้น ไม่ครอบคลุมทุกรายการตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อนุญาตให้ ร.ร.ประถม และมัธยมในสังกัดเรียกเก็บจากผู้ปกครอง โดยกรมบัญชีกลางยึดราคาเดียว อนุญาตให้เบิกเงินบำรุงการศึกษาได้ไม่เกินปีละ 3,200 บาท ในระดับประถมศึกษา และ 3,900 บาทระดับมัธยมศึกษา

ทั้งนี้ สพฐ.อนุญาตให้ ร.ร.เก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครองสำหรับห้องเรียนพิเศษต่างๆ ในอัตราไม่เกิน 17,500 ถึง 40,000 บาทต่อภาคเรียน ส่วนห้องเรียนปกตินั้น สพฐ.กำหนดให้ ร.ร.เรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษาได้ไม่เกินภาคเรียนละ 2,000 บาท หรือ 4,000 ต่อปี ใน 10 รายการ ดังนี้ โครงการพัฒนาทักษะนักเรียนนอกเวลาเรียน ค่าสอนคอมพ์ กรณี ร.ร.จัดคอมพ์ให้เกิน 1 ต่อ 25 ค่าอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษานอกเวลาเรียน ค่าจ้างครูชาวต่างประเทศ ค่าจ้างครูผู้สอนในวิชาที่ขาดแคลน ค่าตอบแทนวิทยากรภายนอก ค่าตอบแทนการสอนนอกเวลา ค่าใช้จ่ายในการจัด/ร่วมโครงการกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ค่าวารสาร ร.ร.และค่าปรับพื้นฐานความรู้ ส่วนค่าทัศนศึกษาไม่รวมอยู่ใน 10 รายการข้างต้น และให้ ร.ร.เรียนเก็บตามความจำเป็นและเหมาะสม

ขณะที่กรมบัญชีกลางให้เบิกได้เฉพาะ ค่าจ้างครูชาวต่างประเทศ ค่าจ้างครูที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะ และค่าทัศนศึกษาเท่านั้น และรวมแล้วไม่เกินเพดานปีละ 3,200 บาท สำหรับระดับประถมศึกษา และ3,900 บาทสำหรับระดับมัธยมศึกษา

นอกจากนี้ สพฐ.ยังอนุญาตให้ ร.ร.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างสวัสดิการและสวัสดิภาพนักเรียน เช่น ค่าประกันชีวิต ค่าจ้างบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา ค่าตรวจสุขภาพนักเรียนเป็นกรณีพิเศษ ค่าห้องปรับอากาศ รายการส่วนนี้ไม่มีการกำหนดเพดานไว้ ให้ ร.ร.เรียกเก็บตามความจำเป็นและเหมาะสม ที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เบิกไม่ได้ กรมบัญชีกลางถือว่า เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวนักเรียน ไม่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาโดยตรง หมายความว่า ข้าราชการต้องควักกระเป๋า เพราะรายการที่เบิกได้มีไม่กี่รายการ ขณะที่ สพฐ.ให้ร.ร.เรียกเก็บเงินผู้ปกครองได้หลายรายการ
กำลังโหลดความคิดเห็น