อดีต ปธ.มรดกโลกไทย ชี้ พิรุธแถลงการณ์ร่วม ระบุเอกสารการแถลงทั้งหมดเป็นการจัดฉาก ยันถ้าเขมรขึ้นทะเบียนมรดกโลกสำเร็จ ไทยจะเสียอธิปไตยเหนือดินแดน เหตุเขมรจะมีอำนาจบังคับให้ไทยยอมรับแผนพัฒนาพื้นที่รอบปราสาท ชี้ “ปองพล” น่าจะไม่มีโอกาสค้านที่ประชุม เพราะเป็นแค่สมาชิกภาคี ไม่มีสิทธิ์ออกความเห็นเพื่อลงมติ ด้าน ยูเนสโกไทย สุดมั่ว แจงน้ำขุ่นๆ ระบุหนังสือส่ง ส.ว.ลงวันที่ผิด
ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกประจำประเทศไทย กล่าวอธิบายข้อเท็จจริงเมื่อไทยยินยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแต่เพียงผู้เดียวว่า ขณะนี้มีการทำเสมือนหนึ่งว่า การขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทไม่ส่งผลใดๆ ต่ออธิปไตยของประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อไทยยอมให้สิทธิกัมพูชาในการขึ้นทะเบียนตัวปราสาท สิ่งที่ตามมาอธิบายให้ชัด ก็คือ พันธะภารกิจที่ตามมาโดยอนุสัญญามรดกโลก ที่ประเทศภาคีจะต้องมีพันธกิจปกป้องคุ้มครองอนุรักษ์มรดกโลกที่ขึ้นทะเบียน และไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อมรดกโลก
กล่าวคือ เมื่อไทยหนุนให้เขมรขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียว อำนาจการจัดแผนอนุรักษ์ปราสาทพระวิหารก็จะตกเป็นของกัมพูชา ซึ่งภายใต้ข้อบังคับของอนุสัญญามรดกโลก ไทยจำเป็นต้องยอมรับแผนพัฒนาฯ ซึ่งจำเป็นจะต้องทำการพัฒนาพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งก็คือพื้นที่ของประเทศไทย
“ตัวปราสาทพระวิหารขณะนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรม เปราะบาง และเสี่ยงต่อการพังเสียหาย ยิ่งตั้งอยู่บนเขาลาด ทำให้น้ำไหลเสี่ยงต่อการพังทลาย รวมไปถึงการออกฎหมายควบคุมมิให้มีสิ่งปลูกสร้างใกล้เขาพระวิหารมากเกินกำหนด รวมไปถึงการกำหนดสีของสิ่งปลูกสร้างบริเวณใกล้เคียงที่จำเป็นต้องทำให้กลมกลืนกัน เหล่านี้ล้วนจำเป็นจะต้องจัดการในพื้นที่ฝั่งไทยและอาจจะต้องออกกฎหมายใหม่ ซึ่งนั่นแปลว่า เราเสียอธิปไตยแล้ว แต่ถ้าหากเรายื่นขอขึ้นทะเบียนร่วม เราจะไม่ต้องรับสภาพแบบนี้ เราจะสามารถร่วมวางแผน ตัดสินใจ หรือคัดค้านเขมรได้มากกว่านี้”
**แฉพิรุธแถลงการณ์ฉาว
อดีตประธานกรรมการมรดกโลกไทย กล่าวต่อถึงข้อพิรุธที่พบได้จากแถลงการณ์การร่วมวันที่ 18 มิ.ย.ของ นายนพดล ปัทมะ ว่า มีข้อน่าสงสัยหลายอย่างแค่สามคำแรกก็แปลกแล้ว เพราะอ้างถึงการประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 22 พ.ค.แต่การลงนามของทั้ง นพดล ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายไทยที่ลงนามในประเทศไทยก็ลงนามวันที่ 18 มิ.ย.ตัวแทนฝ่ายกัมพูชา ลงนามวันที่ 18 มิ.ย.แต่ที่กรุงพนมเปญ ในขณะที่ประจักษ์พยานลงนามวันที่ 18 มิ.ย. แต่ในปารีส ส่วนแผนที่ที่แนบเป็นเอกสารประกอบนั้น มีตราประทับของกัมพูชา ย้ำว่า มีตราประทับของกัมพูชาฝ่ายเดียว ไม่มีตราประทับประเทศไทย และมีการเขียนด้วยลายมือ กำกับวันที่ในแผนที่ฉบับนี้ว่า 18 มิ.ย.
“กรณีเขาพระวิหาร นพดล ก็ออกมาแก้ข่าว บอกว่า ไม่เสียดินแดนอย่างงั้นอย่างงี้ และกล่าวว่า ได้นำแผนที่ไปให้หน่วยงานความมั่นคงและกรมแผนที่ตรวจสอบแล้ว ถามว่า ในเมื่อแผนที่ที่แนบมาในหนังสือลงนามมันถูกเขียนกำกับวันที่ ว่า 18 มิ.ย.นพดล เอาแผนที่อะไรให้ความมั่นคงตรวจสอบ มันก็แปลได้อย่างเดียวว่า มันเป็นการจัดฉาก หนังสือลงนามฉบับนี้ถูกเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้า”
**เชื่อ “ปองพล” ค้านไม่สำเร็จ
อดีตประธานกรรมการมรดกโลก ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ก่อนการเดินทางไปประชุมที่แคนาดาครั้งนี้ นายปองพล อดิเรกสาร ในฐานะประธานกรรมการมรดกโลกคนใหม่ ก็ได้เดินทางมาพบที่บ้านด้วย ซึ่งตนก็ย้ำจุดยืนว่า ประเทศไทยควรขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า นายปองพล จะไม่สามารถคัดค้านในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกได้ เพราะได้ข่าวว่านายนพดล ไปด้วย ที่สำคัญคือว่า นายนพดล อาจจะไปในฐานะหัวหน้าคณะเสียด้วยซ้ำไป
นอกจากนี้ ไทยไม่ใช่ประเทศสมาชิก 1 ใน 21 ประเทศ เป็นเพียงประเทศภาคีเท่านั้น ซึ่งโดยการปฏิบัติในของประชุมคณะกรรมการมรดกโลกนั้น ผู้ที่มีสิทธิออกเสียงหรือให้ความเห็นประกอบการพิจารณา ก็คือ ประเทศสมาชิก 21 ประเทศ โดยประเทศอื่นๆ จะอยู่ในฐานะสังเกตการณ์เท่านั้น ประเทศไทยเองก็เป็นเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน ซึ่งถ้าเขาเปิดโอกาส ไทยอาจจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็น แต่นั่นคือ ภายหลังการหารือพิจารณาของประเทศสมาชิก หรือบางกรณีคือ อาจจะเป็นหลังการลงมติแล้วด้วย
“วาระสำคัญสองประการจากการประชุมที่นิวซีแลนด์ ที่เกี่ยวเนื่องมาจนถึงการประชุมในครั้งนี้ก็คือ ประการแรกคือการเห็นควรว่าปราสาทพระวิหาร มีคุณสมบัติตรงตามที่คณะกรรมการมรดกโลก ระบุ สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ อีกประการหนึ่ง คือ แม้ในหลักการจะสามารถขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทได้ ก็จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ไทยในการสร้างพื้นที่อนุรักษ์ในการวางแผนพัฒนา ดังนั้นคณะกรรมการมรดกโลกจึงให้ไทยและกัมพูชากลับมาตกลงกันก่อน และเมื่อนภดลไปลงนามสนับสนุนเช่นนั้น ก็แปลว่าการประชุมที่แคนาดาครั้งนี้ ก็เป็นการตอบโจทย์เพื่อปิดประเด็นจากการประชุมคราวที่แล้ว” ศ.ดร.อดุล ทิ้งท้าย
**ยูเนสโกไทยมั่วเอง ยอมรับเขียนวันที่ผิด
นายเชลดอน เชฟเฟอร์ ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ประจำประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเดินทางเข้าพบ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับว่า เอกสารที่ส่งถึงกรรมาธิการกรต่างประเทศ วุฒิสภา มีความผิดพลาด
เนื่องจากอ้างถึงแถลงการณ์ร่วมที่ลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่เป็นทางการ และระบุให้รอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีจากทั้ง 2 ประเทศก่อน ซึ่งความจริงจะต้องอ้างถึงแถลงการณ์ร่วมที่ลงนาม ณ กรุงพนมเปญ วันที่ 18 มิ.ย.ซึ่งเป็นเอกสารที่เป็นทางการ และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศแล้ว จึงทำให้เกิดความสับสน โดยตนจะชี้แจงไปทางวุฒิสภา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง