xs
xsm
sm
md
lg

“UNEP” เผยโลกร้อนจะเกิดพิบัติสารพัดโรคร้าย แนะพัฒนาขสมก.-รีไซเคิลน้ำใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้แทนจาก UNEP ชี้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และสารพัดโรคร้าย ชี้ควรเร่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชน ดึงภาคเอกชนผลิตสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ ขณะที่อาจารย์จากสิงคโปร์ ระบุควรนำสาหร่ายมาผลิตเป็นพลังงานทางเลือก แนะ กทม.ทำระบบท่อน้ำทิ้ง 2 ท่อเพื่อนำน้ำอาบมารีไซเคิลใช้อีกรอบ ส่วนผู้นำเมืองจากญี่ปุ่นใช้การให้รางวัลสร้างแรงจูงใจลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในครัวเรือน

วันนี้ (26 มิ.ย.) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง “ASEAN+6 City Forum on Climate Change Bangkok 2008” ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี โดยมีผู้นำเมือง ประกอบด้วย ในภูมิภาคเอเซียน อาทิ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ จีน ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ญี่ปุ่น (ฟูกูโอกะ) อินโดนีเซีย อินเดีย พร้อมด้วยองค์การ UNEP, UNDP, UNESCAP , Holcim Foundation รวมถึงผู้แทนที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมฟังการประชุม

นายอภิรักษ์ กล่าวว่า การประชุมสุดยอดผู้นำเมืองด้านสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้จะเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและหาแนวทางในการลดภาวะโลกร้อนระดับภูมิภาค เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงาน ซึ่งจะผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังและยั่งยืนในการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในระดับอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความร่วมมือของประเทศในกลุ่มอาเซียนถึงความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกัน และเป็นแนวทางในการนำกรุงเทพมหานครไปสู่เมืองหลวงด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสากลต่อไป

นายอภิรักษ์ กล่าวว่า กทม.ได้ทำงานหนักเพื่อหาแนวร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนมาเป็นเวลา 14 เดือน โดยจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน องค์กรต่างๆ เพื่อช่วยกันลดปัญหาภาวะโลกร้อน ถึงวันนี้เป็นที่น่าพอใจที่ได้เห็นชาวกรุงเทพฯ มีความตื่นตัวกันมากขึ้น หลายคนหันมาใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก หลายคนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้า และแยกขยะ อย่างไรก็ดี สิ่งที่กรุงเทพมหานครกำลังทำต่อไป คือ การส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้รถสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ด่วนพิเศษ หรือใช้รถจักรยาน ลดการเดินทางโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร รวมทั้งใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่ประสบความสำเร็จมีพลังงานทางเลือกที่ราคาถูก เนื่องจากมีคนใช้จำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยจะต้องมีการผลักดันต่อไปในระดับรัฐบาล ส่วนที่กทม.กำลังเร่งดำเนินการ คือ โครงการจักรยานชุมชน โดยจะร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในการกำหนดเส้นทางจักรยานเมืองนำร่องในย่านธุรกิจ สีลม-สาทร ให้เป็นเส้นทางที่ปลอดภัย มีจุดจอดให้สามารถต่อรถไฟฟ้า หรือรถเมล์ด่วนบีอาร์ทีได้สะดวก และสำรวจพื้นที่ทั้ง 50 เขตเพื่อศึกษาย่านที่เหมาะสมทำโครงการจักรยานชุมชน

นอกจากนี้ กทม.กำลังส่งเสริมให้เกิดการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Green Generation เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างอนาคตของประเทศ โดยมีสถาบันพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร (Bangkok Urban Development) เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อทั้งในระดับเมือง ภูมิภาค และระดับนานาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการสัมมนาให้ถ่ายทอดด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและขยายเครือข่ายความร่วมมือสร้างโลกเย็นกันผู้นำเทศบาลนครทั่วประเทศ

นายฮิโรชิ นิชิมิยะ (Hiroshi Nishimiya) รองผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค UNEP กล่าวว่า ประชากรกว่าครึ่งของโลกอาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 5,000 ล้านคนและส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน และคนยากจนเหล่านี้จะประสบกับปัญหาเรื่องการไม่มีที่อยู่อาศัย ขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค และยิ่งเกิดวิกฤติการณ์พลังงานน้ำมันที่ราคาทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งหลายประเทศกำลังประสบปัญหานี้จึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวให้ดี และที่จะหลีกพ้นไปไม่ได้ผู้ที่จะเผชิญกับปัญหาเหล่านี้มากที่สุดก็คือคนยากจนที่อาศัยอยู่ในเมือง และจากการที่มีประชากรอาศัยอยู่ในเมืองอย่างหนาแน่นจึงเป็นสาเหตุการปเลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจึงจำเป็นที่เราต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยตัวการสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนครต่างๆ ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นถึง 70% ในปี 1970-2004 โดยมาจากตัวอาคารที่มีการใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก และระบบการขนส่ง

นายฮิโรชิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ นครหรือเมืองเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยช่วงนี้กว่า 80% มาจากการใช้พลังงานภายในอาคาร อย่างไรก็ตาม มีการทำนายว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมาชาติ สูญเสียความหลายหลายทางชีวภาค การเกิดโรคร้ายต่างๆ และเมืองที่อยู่ใกล้ทะเลจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนจุดสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือการเพิ่มระบบการขนส่งมวลชนใหเป็นเครือข่ายมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการดึงระบบการตลาดเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ควรมีการปรับเปลี่ยนภาคการก่อสร้างเพราะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนภาคการขนส่งเอานำเทคโนโลยีที่สะอาดเข้ามาใช้ในรถ ยานพาหนะต่างๆ ตลอดจนมีการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นชื้อเพลิงทางเลือก รวมถึงควรมีการออกแบบอาคารโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

รองผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค UNEP กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ กทม.ซึ่งประสบปัญหามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งทาง กทม.ได้มีการจัดทำแผนปฎิบัติการขึ้นมา รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ UNEP ได้ทำงานร่วมกับ กทม.ในการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งบ้านเรือน อาคารต่างๆเพื่อช่วยกันลดภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม เมืองเป็นส่วนสำคัญในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีมาตรการ ให้มีการแข่งขันกัน รวมถึงดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้าน นายเทย์ เค็ง ซุน (Mr. Tay Kheng Soon) ผู้แทนจาก Holcim Foundation อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ต้องมองว่าการพัฒนาเมืองกับชนบทเป็นพื้นที่เดียวกันไม่ได้แยกเป็น 2 ส่วน ในสิงคโปร์ระบบจราจรไม่ติดขัด และมีบ้านราคาถูกกว่าร้อยละ 90 แต่ที่แปลก คือ เราก็ไม่ได้มีการสำรวจการใช้พื้นที่ไปกับส่วนใดบ้าง ทำให้วางผังเมืองได้จากตัวเลขที่เราคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่มีทางเลือกมากนักเนื่องจากไม่มีการสำรวจข้อมูลการใช้พื้นที่

สำหรับการใช้พลังงานนั้น พลังงานจากเครื่องปรับอากาศที่ประเทศสิงคโปร์ก็เป็นปัญหาอย่างมาก ซึ่งเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 50 ของการใช้พลังงานทั้งหมด ดังนั้น ต้องออกแบบผังเมืองให้ดี ให้ลดการใช้พลังงานจากครื่องปรับอากาศให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้สิ่งที่แปลกใจมาก คือ ที่ผู้ว่าฯ กทม.บอกว่าประเทศไทยอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 2 องศาเซลเซียลเท่านั้น ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆและเราก็ใส่ใจกับเรื่องมลพิษมาก กลับมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียลซึ่งรวมถึงอุณหภูมิรอบๆ เมืองด้วยไม่ในตัวเมืองเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ เรื่องการใช้พลังงานทางเลือกนั้น เห็นด้วยกับนายบัน คีมุน อย่างยิ่งที่ไม่ควรเอาพืชอาหารมาผลิตพลังงานทางเลือก แต่ควรเอาพืชอย่างเช่น สาหร่ายมาผลิตเอลทานอล ไบโอดีเซล และเอากากไปผลิตอาหารสัตว์ได้ นอกจากนี้ในแต่ละชุมชนซึ่งเป็นชุมชนเล็กควรจะมีผลิตพลังงานของตัวเองด้วย

ผู้แทนจาก Holcim Foundation กล่าวด้วยว่า สิ่งที่อยากแนะนำกรุงเทพมหานครและเมืองในอาเซียนทุกๆ เมือง ก็คือ จะต้องมีการเปลี่ยนไปใช้ระบบท่อน้ำทิ้ง 2 ท่อ เพราะปัจจุบันท่อระบายน้ำจากครัวเรือนและสถานที่ราชการและร้านอาหารเป็นที่เดียวรวมกัน ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถนำน้ำซึ่งเกิดจาการอาบน้ำเพียงอย่างเดียวกลับมาใช้ได้อีก ดังนั้นต่อจากนี้ไปการออบแบบผังเมืองควรให้ความสำคัญกับการออกแบบระบบ 2 ท่อด้วย ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด จะต้องทุกอย่างที่ทำจะต้องควบคู่ไปกับการมีจริยธรรม เพราะความสุขเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่งเท่านั้นและจะคงที่ เพราะท้ายสุดแล้วการพัฒนาที่มากขึ้นทำให้ผู้คนหันเข้ามาในเมืองมากเท่าไหร่สุดท้ายก็จะหันกลับไปหาความเป็นธรรมชาติมากเท่านั้น

ขณะที่นายทาเคชิ ทาเคอิ รองผู้ว่าการจังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงนโยบายการลดปัญหาภาวะโลกร้อน ว่า จ.ฟูโอกะ มีประชากร 5 ล้านคน เป็นศูนย์กลางทางสังคม เศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาเมื่องนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหมอก 7 สี มีปัญหามลพิษ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นเมืองที่มีอากาศดีที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น โดยในปี 2005เมืองฟูโอกะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 60 ล้านตัน ซึ่งทางจังหวัดมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกลง 6% โดยในเดือนมีนาคม 2006 ได้ประกาศแผนป้องกันปัญหาโลกร้อน มีโครงการหลายโครงการ เช่น ภาคครัวเรือนได้จัดทำปฎิทินซึ่งมีข้อมูลเรื่องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า แต่ละชนิดมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และหากลดการใช้ลงจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปริมาณเท่าใด หากครอบครัวใดลดได้มากจะได้รับการยกย่องจากรัฐบาล

รองผู้ว่าฯ จังหวัดฟูกูโอกะ กล่าวต่อว่า ส่วนการกำจัดขยะ มีโครงการย่อยสลายขยะด้วยจุลชีพขนาดเล็ก ลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่อันตรายกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากมีหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกเดินทางมาดูงาน ขณะที่การอนุรักษ์ป่า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ได้ทำการจัดเก็บภาษีรักษาป่า นำรายได้ไปปลูกป่า ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า 2,900 เฮกเตอร์ ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า ส่วนโครงการการใช้พลังงานไฮโดรเจน มีมหาวิทยาลัยคิวชิว ศึกษาการนำไฮโดรเจนจากโรงงานเหล็กมาใช้ มีโครงการนำร่องติดตั้งเครื่องผลิตพลังงานในครัวเรือน 150 หลังคาเรือน โครงการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานสำหรับรถยนต์ โดยตั้งสถานนีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่เมืองคิตะคิวชิว ห่างจากฟูโอกะ 70 กิโลเมตร นอกจากนี้มีการจัดเก็บภาษีขยะอุตสาหกรรม มุ่งส่งเสริมให้นำขยะกลับมาใช้ใหม่ได้ และนำภาษีที่ได้ไปจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศในทุกๆปี
กำลังโหลดความคิดเห็น