xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ “อภิรักษ์” เล็งญี่ปุ่นต้นแบบ กทม.ลดพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้นำเมืองร่วมประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาลดโลกร้อนในเมืองใหญ่ ขณะที่ “อภิรักษ์” เล็งนำการลดใช้พลังงานลดโลกร้อนของเมืองฟูกุโอกะ มาปรับใช้ใน กทม.พร้อมสรุปรายงานผลการประชุมเสนอเลขาธิการอาเซียนนำไปใช้ประชุมปลายปีนี้ต่อไป

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยผู้แทนจากเมืองต่างๆ ของประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) และประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ เมืองอัลเบย์ กรุงเทพมหานคร กรุงนิวเดลี กรุงจาการ์ตา กรุงกัวลาลัมเปอร์ นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบาง กรุงพนมเปญ ที่เข้าร่วมประชุมนานาชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง “ASEAN+6 City Forum on Climate Change Bangkok 2008” ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ได้ร่วมกันประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการจัดการเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวน 8 ข้อโดยมีสาระสำคัญดังนี้ 1.ยืนยันว่า เมืองควรให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน โดยการวางแผนและพัฒนาระบบการจัดการในการแก้ไขปัญหาในระดับเมือง 2.มีเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินการให้เกิดการลดสภาวะเรือนกระจกในระยะยาว 3.รับรู้ถึงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับเมืองในภูมิภาค 4.กระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนทางการเงินและองค์ความรู้ด้านเทคนิคเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเมืองในประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

5.สนับสนุนนนโยบายที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมและมาตรการใหม่ๆ ที่จะสร้างรูปแบบการบริโภคและการผลิตสินค้าต่างๆ อย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการดังนี้ กระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและใช้เทคโนโลยีที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ซึ่งรวมถึง การก่อสร้างอาคาร เครื่องมือเครื่องใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและกระบวนการผลิต ยานพาหนะและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ และส่งเสริมให้เกิดแนวความคิดใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม เช่น เมืองปลอดมลพิษ (eco-cities) อาคารสำนักงานสีเขียว (green buildings) ยานพาหนะที่ไม่เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรน้ำ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ความสำคัญกับสุขภาพ การสุขาภิบาล การจัดการขยะ และการควบคุมมลภาวะ

6.สร้างพันธมิตรทั้งกับภาคสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร (NGO) ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ในการสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อนโดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน 7.เร่งรัดให้เกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญระหว่างเมืองในประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการลดปัญหาที่เกิดจากภาวะโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาระบบต่างๆ ที่จะนำมาใช้จัดการกับผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อน และ 8.ส่งเสริมให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนและให้การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและผลจากภาวะโลกร้อน รวมไปถึงมาตรการที่นำมาใช้ในการลดภาวะโลกร้อนอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ นายอภิรักษ์ ให้สัมภาษณ์ ภายหลังว่า หลังจากที่มีการลงนามปฏิญญาร่วมกันแล้ว แต่ละเมืองที่เข้าร่วมประชุมก็จะนำแนวนโยบายดังกล่าวไปปรับใช้ ซึ่งการนำไปใช้นั้นคงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายหรือของแต่ละเมืองเนื่องจากแต่ละเมืองมีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องสภาพภูมิประเทศ เทคโนโลยี และศักยภาพด้านต่างๆ จึงไม่มีการตั้งเป้าหมายร่วมกันแต่อย่างใด ทั้งนี้ในการประชุมนั้นตนพบว่าแนวทางที่จังหวัดฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้นำเสนอนั้นน่าสนใจ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาอย่างชัดเจน มีการลงรายละเอียดสู่ชุมชนและครอบครัวอย่างชัดเจน เช่น การมีปฎิทินแนวทางการลดปัญหาภาวะโลกร้อนสู่ครัวเรือน ซึ่งลงรายละเอียดว่าแต่ละวันใน 1 เดือน ประชาชนจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง เพื่อที่จะลดสภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาทางเลือกใหม่โดยการพัฒนาไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานกับรถยนต์ ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมาก แต่ กทม.เองก็อาจจะมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีที่ยังไม่เทียบเท่าญี่ปุ่น ซึ่งต้องพัฒนาต่อไป

นอกจากนี้ จะมีการวางแผนทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ UNEP UNDP UNESCAP เพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องเทคโนโลยี โดยจะมีการจัดทำรายงานที่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งภายในปีนี้จะเสร็จเรียบร้อย เนื่องจากกทม.ยังขาดระบบเมคโนโลยีในเรื่องดังกล่าวทำให้ทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องรับการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศ สำหรับการประชุมครั้งนี้จะมีการขยายผลลงสู่ระดับย่อยต่อไป ส่วนการหารือระหว่างเมืองจะมีขึ้นอีกอย่างแน่นอน แต่จะต้องดูว่าต่อไปประเทศใดจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งปลายปีนี้รัฐบาลไทยจะจัดประชุมเอเชียน+6 ขึ้น ซึ่งตนจะรวบรวมผลจากการประชุมครั้งนี้รายงานแก่เลขาธิการอาเซียนต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น