xs
xsm
sm
md
lg

มติสมัชชาสุขภาพฯ เร่งร่างเกณฑ์มาตรฐานจริยธรรมขายยาให้เสร็จใน 6 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉันทามติสมัชชาสุขภาพฯ ขับเคลื่อน 11 นโยบายสุขภาพ กอบกู้วิกฤต ร่างเกณฑ์มาตรฐานจริยธรรมขายยาให้เสร็จใน 6 เดือน ใช้มาตรการทางสังคมแฉหมอตนไหนรับเงินบริษัทยาบ้าง เชื่ออายไปเองเลิกรับปริยาย พร้อมออกกฎหมายคุม เสนอแนวทางปฏิบตัให้ครม.พิจารณานำไปสู่รูปธรรม

วันที่ 18 ธ.ค. ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ(คจสช.) แถลงผลการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ว่า ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 2,000 คน มีฉันทามติให้เสนอและจะร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอทางนโยบาย 11 เรื่องใหญ่เพื่อกอบกู้ปัญหาต่าง ๆ โดยมีแผนดำเนินการเชิงรุกที่จะทำให้ข้อเสนอ 11 เรื่องนี้ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยจะนำข้อเสนอทั้ง 11 ประเด็น เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) เพื่อเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป

นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า ประเด็นเรื่องการขายยาขาดจริยธรรม ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะแต่ละปีประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยาสูงมาก และเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดซึ่งปี 2548 มีมูลค่าราคาขายปลีกสูงถึง 186,330 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะสูงถึง หรือมากกว่า 200,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2552 ซึ่งสาเหตุมาจากการสั่งซื้อยา เกินความจำเป็น โดยบริษัทยาจะจัดผลประโยชน์ตอบแทนให้กับแพทย์ เภสัชกร บุคลากรสุขภาพ ทั้งการออกทุนให้ไปประชุมต่างประเทศ การสนับสนุนการประชุมทางวิชาการต่างๆ เพื่อให้สั่งซื้อยาของบริษัทนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยาจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังจะมีการร่างเกณฑ์มาตรฐานจริยธรรมในเรื่องนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 6 เดือน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนมาตรการในการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น คือการออกกฎหมายมาควบคุม โดยหาก ครม. เห็นชอบตามข้อเสนอของที่ประชุมสมัชชาฯ ก็จะดำเนินการออกกฎหมาย คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี

“พฤติกรรมดังกล่าวของบริษัทยาถือว่าไม่ถูกต้อง ขัดกับหลักจริยธรรมสากล ขณะนี้เริ่มมีการใช้มาตรการทางสังคมไปบ้างแล้ว คือนำเรื่องดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ส่วนการออกกฎหมายให้เปิดเผยว่าบริษัทใดจ่ายเงินให้แพทย์คนใดนั้น ก็เป็นมาตรการทางสังคมอีกด้านหนึ่ง เพราะคนเป็นแพทย์ย่อมไม่อยากให้ใครรู้ว่ารับเงินจากบริษัทใดเพื่อสั่งยา และจะไม่รับเงินจากบริษัทต่างๆไปโดยปริยาย” นพ.สุวิทย์ กล่าว

นพ.สุวิทย์กล่าว กล่าวต่อว่า ส่วนโรคติดต่ออุบัติใหม่ ควรมีการตั้งคณะกรรมการโรคติดต่ออุบัติใหม่ระดับชาติขึ้นมาดูแลโดยตรง ด้านการพัฒนาบริการปฐมภูมิเพื่อการเข้าถึงระบบบริการที่มีคุณภาพ โดยคนไทยทุกครอบครัวจะต้องมีแพทย์ประจำตัว หรือประจำครอบครัว การจัดการขยะอันตรายของชุมชนอย่างมีส่วนร่วมและทุกภาคส่วน ทุกจังหวัดควรมีศูนย์กำจัดขยะอันตราย นอกจากนี้เสนอให้มีมาตรการที่กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตรับผิดชอบการกำจัดขยะเหล่านี้โดยรับคืนซากผลิตภัณฑ์และสนับสนุนให้บริษัทเอกชนออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

"การพัฒนาแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก ควรส่งเสริมให้มีการออกพ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย ขึ้นมาควบคุมโดยตรง มีสภาวิชาชีพแพทย์แผนไทยเช่นเดียวกับ สภาวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และในกรณีของ ผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลได้จัดเบี้ยเลี้ยงยังชีพให้เดือนละ 500 บาท เป็นแนวคิดที่ดี แต่สมัชชาสุขภาพฯ ต้องการให้รัฐบาลอุดหนุนเพิ่มให้กับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงโดยได้รับเงินยังชีพเดือนละ 1,140 บาท" นพ.สุวิทย์กล่าว

นพ.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาโรคอ้วน ซึ่งคนไทยรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่มากเกินไป ดังนั้นคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้อาหารเหล่านี้เป็นอันตรายโดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง และ เกลือสูง ให้เป็นอาหารควบคุม ซึ่งจะได้มีการควบคุมฉลากและการโฆษณาต่อไป

นพ.สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติที่กำลังมีการทำการตลาดเชิงรุกทุกรูปแบบกับกลุ่มคนที่เปราะบางและสุ่มเสี่ยงคือกลุ่มวัยรุ่น สมัชชาสุขภาพฯ มีมติให้ขึ้นภาษีสุรามากขึ้นจากที่เป็นอยู่ และให้กำหนดระดับปริมาณเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอลล์ในเลือด ให้น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มคนทั่วไป ส่วนเด็กเยาวชน หรือคนขับหน้าใหม่ จะมีการกำหนดในอนาคตซึ่งอาจน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ คนขับรถสาธารณะ เช่นแท็กซี่ รถเมล์ รถไฟ จะต้องไม่มีปริมาณแอลกอฮอลล์ในกระแสเลือดเลย

"สุดท้ายกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานการพึ่งตนเอง เศรษฐกิจ สังคม กรณีภาคใต้ ที่ประชุมฯ มีมติให้ ทบทวนแผนพัฒนาทั้งหมดที่มุ่งแต่ต้องการเงินเป็นหลัก และปรับเปลี่ยนมาเป็นให้คนภาคใต้มีส่วนร่วมในแผนพัฒนาที่ยั่งยืน รักษาทรัพยากร วิถีชีวิตของคนใต้เอาไว้"นพ.สุวิทย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น