ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – เผยชาวบ้านยังสับสน เวทีสาธารณะแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าของนครหาดใหญ่ หลังเทศบาลฯลงนามมอบให้เอกชนจัด 10 เวทีภายใน 3 เดือน ซึ่งผ่านไปแล้ว 7 เวที แต่ไม่รู้ว่า เป็นการทำประชาพิจารณ์ ประชาชนเจ้าของพื้นที่ ว่าเห็นด้วยต่อการตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ หรือเป็นเพียงการชี้แจงโครงการให้รับรู้เท่านั้น ด้าน “หาดใหญ่กรีนเอนเนอร์ยี่” ยันพร้อมควักเงินลงทุนร่วม 1 พันล้าน ตั้งโรงงานในพื้นที่ 135 ไร่บริเวณบ่อขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า 3.5 เมกะวัตต์/ปี โดยมีอายุสัมปทาน 30 ปี เชื่อจะสามารถแก้ปัญหาขยะของนครหาดใหญ่ที่เรื้อรังมาแล้วกว่า 20 ปีได้อย่างแน่นอน
ภายหลังจากที่เทศบาลนครหาดใหญ่ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท หาดใหญ่กรีนเอนเนอร์ยี่จำกัด ซึ่งเสนอตัวในการดำเนินโครงการกำจัดขยะมูลฝอย โดยนำขยะมูลฝอยผลิตเป็นไฟฟ้า เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ก่อนตัดสินใจดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งมีความคืบหน้าไปแล้ว 7 เวทีนั้น
นายเอกชัย ถาวรวงศ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะมูลฝอย โดยเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เปิดเผยว่า ภายหลังจากการลงนามบันทึกความเข้าใจแล้ว จะเป็นช่วงเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเวทีสาธารณะเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งดำเนินการด้วยความโปร่งใส ยุติธรรมต่อทุกฝ่าย ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขยะ เทศบาลนครหาดใหญ่ในฐานะเจ้าของบ่อขยะ และบริษัทหาดใหญ่กรีนเอนเนอร์ยี่จำกัด ในฐานะผู้รับกำจัดขยะ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 3 เวที เดือนเมษายน 4 เวที และเดือนพฤษภาคมอีก 3 เวที
ทั้งนี้ เวทีสาธารณะฯ สุดท้าย ที่จะจัดขึ้นที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ ผู้เข้าร่วมเวทีสรุปจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกมาจากแกนนำชาวบ้านในแต่ละเวที ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบทางตรงจากการทำโครงการ ซึ่งน่าจะเป็นผลกระทบในทางที่ดีขึ้น ส่วนที่สองมาจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน แต่ไม่ใช่การชี้ขาดว่าประชาชนจะรับหรือไม่ และไม่ใช่เวทีเพื่อการชิงไหวชิงพริบ เพราะปัญหาขยะที่ควนลังมีมานานแล้ว และเทศบาลนครหาดใหญ่กำลังจะเข้ามาแก้ไขกำจัดขยะทั้งเก่าและใหม่ โดยโรงไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากกรณีอื่น เช่น โครงการโรงแยกก๊าซที่เข้าไปในขณะที่ชุมชนอยู่อย่างปกติ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ห่วงกังวลในเวทีสุดท้าย คือ ที่ผ่านมาทุกเวทีการคัดค้านหรือการโต้แย้งไม่ค่อยเด่นชัดนัก แต่ก็มีความคิดของแกนนำบางคน ที่ไม่ต้องการให้สร้างโรงงานกำจัดขยะ และมีความต้องการให้เทศบาลนครหาดใหญ่ควรไปทิ้งขยะที่อื่นแทนควนลัง
“โครงการของบริษัท หาดใหญ่กรีนเอนเนอร์ยี่ จำกัด มีสัมปทาน 30 ปี ซึ่งพร้อมที่จะลงทุนร่วมพันล้านบาท เพื่อนำขยะแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าจำหน่าย ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ปีละ 175 ล้านบาท และใช้เวลา 12 ปีกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน แม้ว่าจะเป็นการลงทุนในแง่เศรษฐศาสตร์แต่บริษัทก็ได้ถึงภาพลักษณ์ที่ดี และจะเป็นตัวอย่างให้แก่ที่อื่นๆ มาศึกษาดูงาน ซึ่งประเด็นของโรงไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้จากการแก้ไขปัญหาขยะเท่านั้น” นายเอกชัยกล่าว
นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้รับคำแนะนำให้ศึกษาความเหมาะสมในการจัดการขยะมูลฝอย และลดปัญหาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลจากการจัดการขยะมูลฝอยที่เหมาะสม เป็นเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงทางความร้อน ( Thermal Conversion ) ด้วยระบบที่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ประกอบกับ ข้อตกลงที่ทำกันระหว่างประเทศ ว่าหากประเทศไทยหรือท้องถิ่นใดสามารถนำวัตถุดิบที่เป็นขยะมาเผา (หรือเปลี่ยน) เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยวิธีปลอดมลพิษ จะให้เงินกลับมาในรูปแบบที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งนอกจากจะผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าด้วยการทำลายเชื้อโรคในขยะแล้ว ยังสามารถที่จะรื้อขยะที่ฝังกลบไปแล้วมาเผาได้อีกด้วย
โครงการนี้ เทศบาลนครหาดใหญ่ไม่ต้องเสียงบประมาณในการก่อสร้างแม้แต่บาทเดียว เพราะบริษัทผู้ดำเนินการ จะมาเช่าที่ดินของเทศบาลฯ ในอัตรา 4,550,000 บาทต่อปี เทศบาลฯมีรายได้จากการขาย คาร์บอน เครดิต 6 ล้านบาท/ปี รวมเป็น 10,550,000 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เทศบาลฯ ดำเนินการอยู่ขณะนี้ ประมาณ 20 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าต้นทุนการฝังกลบจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากน้ำมันที่ราคาสูงขึ้น ยังไม่รวมจำนวนคนและเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ในทางกลับกัน ถ้าเทศบาลฯ ให้บริษัทมาลงทุนมาเผาขยะ เทศบาลฯ ต้องจ่ายให้บริษัทเป็นเงิน 25,5500,000 บาท รวมแล้วผลต่างที่จ่ายเพิ่มประมาณ 5 ล้านกว่าบาท ในปีแรก ณ ราคา ที่ตันละ 350 บาท จ่ายเพิ่ม 5 ล้านบาท จากปริมาณขยะในปัจจุบันที่ 200 ตัน ถ้า 250 ตัน ก็จ่ายน้อยลงแต่คาร์บอนเครดิตก็ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของขยะ
ในขณะที่เทศบาลเมืองควนลัง จะได้รายได้โดยตรงปีที่ 1-5 จากค่าชดเชยขยะมูลฝอยโดยสัดส่วนรายรับร้อยละ 10 ให้เทศบาลเมืองควนลัง ปีที่1-5 จะได้เงิน 2,550,000 บาท ภาษีโรงเรือนปีละ 10,000 บาท ภาษีเงินได้ปีละประมาณ 1,273,400 บาท ควนลังจะได้ค่าชดเชยและภาษีปีที่ 1 จำนวน 3,833,400 บาท โดยไม่ต้องลงทุนสักบาทเดียว หาดใหญ่จะติดลบ 5 ล้านบาท ถือว่าไม่เป็นไร เกลี่ยไปเกลี่ยมาก็ 1 ล้านกว่าบาท
“ถือว่าเป็นค่าชดเชยสิ่งแวดล้อมให้แก่พี่น้องชาวควนลัง ที่ใช้บ่อขยะมา 20 ปี ส่วนที่เหลือจะทำสวนสาธารณะคืนพื้นที่สีเขียวให้ประชาชน เรื่องนี้จะสำเร็จได้ถ้าพวกเรามายินยอมพร้อมใจกัน ถ้าขยะเพิ่มขึ้นในปีที่ 6 ตามปริมาณที่คาดการณ์ กันไว้ เทศบาลนครหาดใหญ่ เริ่มมีผลกำไร เมื่อขยะเพิ่มขึ้นค่ากำจัดขยะจะถูกลง จนในที่สุดเทศบาลนครหาดใหญ่ไม่ต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการปัญหาขยะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เทศบาลฯ สนับสนุนให้มีการก่อขยะเพิ่มแต่ประการใด เพียงแต่ต้องมีวิธีรับมือกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น” นายไพรกล่าว
ด้านนายชลัท สู่ความดี ประธานกรรมการบริษัท หาดใหญ่ กรีน เอนเนอร์ยี่ กล่าวว่า ทั้งนี้ บริษัท จะดำเนินเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก นำแก๊สจากหลุมฝังกลบขยะมูลฝอยเดิมที่ปล่อยระบายออกสู่บรรยากาศมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 1 เมกะวัตต์ ระยะที่ 2 สร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย โดยเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานด้วยเทคโนโลยี ไพโลไรซีส และแก๊สซิฟิเคชัน ซึ่งเป็นระบบที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ ใช้กันในยุโรปและญี่ปุ่น คาดว่าสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 3.5 เมกะวัตต์ เพื่อกำจัดขยะมูลฝอย ที่ 200-250 ตัน/วัน และ 3. ปรับภูมิทัศน์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยให้สามารถนำมาใช้เป็นสาธารณประโยชน์
“บริษัทมีความตั้งใจและหวังที่จะนำสิ่งดีๆ มาให้แก่ประเทศไทย โดยจะดำเนินการให้แก่ชาวควนลังและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียงได้มีพื้นที่เพื่อใช้พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสถานที่ซึ่งนักศึกษา นักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม จะได้ไว้ใช้ศึกษาดูงาน โดยเฉพาะการเปลี่ยนขยะให้เป็นไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศ” นายชลัท กล่าว
สำหรับเทศบาลนครหาดใหญ่มีพื้นที่ 21 ตารางกิโลเมตร อัตราการผลิตขยะมูลฝอยของประชาชนเฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ประมาณ 1.24 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน หรือมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นในหนึ่งวันประมาณ 195 ตันต่อวัน (จากจำนวนประชากร 157,881 คน ) และมีการคาดการณ์กันว่าในปี พ.ศ. 2565 ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นจะมีถึง 395 ตันต่อวัน หรือ 143,635.80 ตันต่อปี