‘ครู’บางคนอาจทำหน้าที่เพียงให้ความรู้ทางวิชาการ ขณะที่บางท่านมุ่งอบรมจริยธรรมควบคู่ไปด้วย แต่คุณครูเหล่านี้ยังมีภารกิจอีกอย่างหนึ่งซึ่งท่านทำด้วยความเต็มใจ คือการรณรงค์ให้มีการจัดการขยะในโรงเรียนอย่างจริงจัง โดยตั้งเป็น‘ธนาคารขยะ’เพื่อรับซื้อขยะนานาชนิดจากนักเรียน ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงส่งผลให้ภาพลักษณ์ของโรงเรียนเปลี่ยนไปกลายเป็นโรงเรียนที่สะอาดสะอ้าน อีกทั้งมีการขยายโครงการเข้าไปสู่ชุมชน แม้จะยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยเพียงไร แต่คุณครูเหล่านี้ก็ไม่เคยท้อถอย และไม่เคยน้อยใจที่ใครๆเรียกพวกเขาว่า ‘ครูขยะ’
จุดเริ่มก่อนหยั่งราก
ครูสมทรง พันธุ์กุมุท ครูโรงเรียนธรรมโฆษณ์ ในฐานะประธานกองทุนการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม 12 โรงเรียนพันธมิตร คือหนึ่งใน‘ครูขยะ’ ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เกิดโครงการ‘การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม 12 โรงเรียนพันธมิตร’ ที่ ณ วันนี้ผลแห่งความพยายามได้ผลิดอกออกใบกลายเป็นโครงการที่สามารถลดปริมาณขยะในโรงเรียนและในชุมชนอย่างได้ผลเกินคาด
หลังจากดูแลการรับซื้อขยะซึ่งเด็กๆนำมาขายให้แก่ ‘ธนาคารขยะ’ ของโรงเรียนธรรมโฆษณ์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ครูสมทรงจึงได้ปลีกตัวมานั่งพูดคุยกับเรา พร้อมกับเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ ว่า ก่อนหน้านี้ครูสมทรงและคุณครูอีกหลายโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองสิงหนคร จ.สงขลา ต่างก็จัดทำโครงการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยภายในโรงเรียนของตนเองโดยมีเทศบาลเมืองสิงหนครให้การสนับสนุนบางส่วน จนกระทั่งเมื่อปี 2547 บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของบรรดา‘ครูขยะ’ และเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดปัญหาขยะในชุมชนได้ จึงเข้ามาให้การสนับสนุนงบประมาณหลักในการดำเนินโครงการ
“ ที่ผ่านมาโรงเรียนต่างๆในเขตเทศบาลสิงหนครเขาก็ทำโครงการจัดการขยะในโรงเรียนของตัวเอง โดยส่วนใหญ่ก็จะตั้งเป็นธนาคารขยะเพื่อรับซื้อขยะจากนักเรียน โดยนักเรียนจะเอาขยะชนิดต่างๆมาแลกเป็นเงินหรืออุปกรณ์การเรียน เช่น ดินสอ ยางลบ หลังจากทำไปได้สักพักทางเทศบาลและทางบริษัทเชฟรอนก็เข้ามาให้การสนับสนุน และเกิดการรวมตัวกันของ 11 โรงเรียนที่อยู่ในเขตเทศบาลสิงหนคร และอีก 1 โรงเรียนในอำเภอเมืองซึ่งเชฟรอนให้เงินอุดหนุนอยู่แล้ว เกิดเป็น 12 โรงเรียนพันธมิตรซึ่งร่วมมือกันในจัดการขยะแบบครบวงจร
ครูโรงเรียนไหนมีความชำนาญด้านใด เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพจากขยะสด การประดิษฐ์สิ่งของจากขยะเหลือใช้ ก็จะมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน ทีนี้การทำปุ๋ยชีวภาพ และน้ำชีวภาพ (สารละลายที่ได้จากการย่อยสลายเศษวัสดุเหลือใช้จากส่วนต่างๆของพืชหรือสัตว์– หากใช้ในปริมาณเล็กน้อยจะมีคุณสมบัติในการบำรุงดิน แต่หากใช้ปริมาณที่เข้มข้นจะมีคุณสมบัติในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูลหรือกำจัดวัชพืช) มันต้องใช้เศษพืชผักจำนวนมาก เศษใบไม้ในโรงเรียนอย่างเดียวไม่พอ ครูก็เลยต้องพาเด็กๆไปเก็บเศษผักตามตลาด ชาวบ้านเขาเห็นพวกเราก็เรียกว่า ‘ครูขยะ’ (หัวเราะ) เราก็เลยเรียกตัวเองว่าครูขยะไปด้วย” ครูสมทรง บอกเล่าถึงที่มาของโครงการด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
เมื่อขยะกลายเป็นสิ่งมีค่า
ทั้งนี้ 12 โรงเรียนพันธมิตร ซึ่งได้แก่ โรงเรียนสงขลาวิทยาคม โรงเรียนบัวหลวง โรงเรียนวัดธรรมโฆษณ์ โรงเรียนวัดบ่อปาบ โรงเรียนวัดโลกา โรงเรียนวัดตาหลวงคง โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ โรงเรียนวัดเปรมศรัทธา โรงเรียนวัดสถิตชลธาร โรงเรียนบ้านเขาแดง โรงเรียนบ้านเขาหัว และโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย ได้ดำเนินโครงการจัดการขยะแบบครบวงจร โดยแต่ละโรงเรียนได้มีการจัดตั้ง‘ธนาคารขยะ’ ซึ่งมีคณะทำงานทำงานที่มาจากนักเรียน ขณะที่ครูจะเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ
สำหรับวิธีการรับซื้อขยะนั้นทางธนาคารจะมีการกำหนดราคาขยะที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ เช่น พลาสติก ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ โลหะ ในอัตราที่ใกล้เคียงกับร้านรับซื้อของเก่าทั่วไป โดยนักเรียนที่นำขยะมาขายจะรับเป็นเงินสดกลับไป หรือรับเป็นอุปกรณ์การเรียนต่างๆก็ได้ ซึ่งขยะส่วนหนึ่งจะนำไปขายต่อให้แก่ร้านรับซื้อของเก่า และอีกส่วนหนึ่งนำใช้ในการเรียนการสอนวิชาหัตถกรรม เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆจากเศษวัสดุเหลือใช้ นอกจากนั้นยังมีการรับซื้อขยะเปียก เช่น ใบไม้ เศษผักและผลไม้ เพื่อนำมาทำปุ๋ยชีวภาพและน้ำชีวภาพ เพื่อใช้ในแปลงปลูกผักของโรงเรียนและนำไปจำหน่ายเป็นรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
“ สำหรับโรงเรียนธรรมโฆษณ์ที่ดิฉันสอนอยู่นั้น อาจจะต่างจากโรงเรียนอื่นเล็กน้อยตรงที่ครูและนักเรียนของเราต้องมาช่วยกันจัดการปัญหาขยะเพราะเราไม่มีนักการภารโรง คือพอนักการภารโรงของเราลาออก ก็เป็นช่วงที่ทางโรงเรียนไม่มีงบประมาณที่จะจ้างภารโรงคนใหม่ เราเลยคุยกับคณะทำงานซึ่งเป็นตัวแทนนักเรียนว่าเราจะจัดการขยะต่างๆอย่างไร ก็ได้ข้อสรุปว่าเราจะจัดตั้งธนาคารขยะ ซึ่งต้องขอขอบคุณลุงเจริญ (เจริญ บุญกำเนิด) อดีตนักการภารโรงซึ่งท่านมอบเงินไว้ให้ 2,000 บาท เพื่อเป็นเงินตั้งต้นในการทำโครงการนี้
ขยะส่วนใหญ่ของโรงเรียนเราจะเป็นพวกใบไม้ เช้าๆนักเรียนก็จะมีถุงพลาสติกคนละใบเก็บใบไม้ได้ก็เอามาส่งที่ธนาคารขยะ เจ้าหน้าที่(นักเรียนที่ร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการ)ก็จะชั่งแล้วจดบันทึกไว้ โดยกำหนดราคาอยู่ที่ 5 กิโลกรัม 2 บาท พอสิ้นเดือนก็มารับเงินไป ทางโรงเรียนก็เอาขยะสดพวกนี้ไปทำปุ๋ยใช้ในแปลงผักของโรงเรียน เหลือก็แบ่งให้พ่อแม่ผู้ปกครองเอาไปใช้ เท่าที่คุยกับเพื่อนๆครูโรงเรียนอื่นๆทราบว่าเด็กๆเขาตื่นตัวกันมาก เดี๋ยวนี้แต่ละโรงเรียนไม่ขยะให้เห็นเลยเพราะทุกอย่างเก็บขายได้หมด (หัวเราะ) เด็กบางคนไม่ยอมเบิกเงินที่ขายขยะได้ไปใช้เลย ปรากฏว่าพอเรียนจบเขามีเงินเก็บเกือบ 2 พันบาท” ครูสมทรง กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ
ขยายแนวคิดสู่ชุมชน
จากการร่วมแรงร่วมใจของบรรดาคุณครูและเด็กๆในโรงเรียนทำให้โครงการธนาคารขยะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ภาพของโรงเรียนแต่ละแห่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดหูผิดตา จากโรงเรียนที่เกลื่อนกลาดไปด้วยเศษขยะกลายเป็นโรงเรียนที่สะอาดสะอ้านน่ามอง ส่งผลให้ชุมชนเริ่มเห็นความสำคัญของการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม ชาวบ้านจากหลายชุมชนเริ่มเข้ามาขอคำปรึกษาจากโรงเรียนต่างๆเรื่องการจัดตั้งธนาคารขยะระดับชุมชน ขณะที่กลุ่มแม่บ้านต่างหันมาผลิตสินค้าจากเศษวัสดุเหลือใช้ เช่น ผ้าพลาสติกกันเปื้อนที่ได้จากซองน้ำยาปรับผ้านุ่ม ดอกไม้ประดิษฐ์จากหลอดกาแฟ หรือโต๊ะ-เก้าอี้ที่ทำจากยางรถยนต์
จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ปกครองบางคนซึ่งทนไม่ได้ที่เห็นคุณครูพาลูกหลานของตนเองไปเดินเก็บขยะตามข้างทางแปรเปลี่ยนเป็นเสียงชื่นชม พร้อมทั้งยินดีที่จะร่วมสนับสนุนกิจกรรมการจัดการขยะของทางโรงเรียนอย่างเต็มที่ ดูจะเป็นกำลังใจให้บรรดา‘ครูขยะ’ เดินหน้าทำโครงการต่อไปด้วยใจที่หวังว่าหยาดเหงื่อที่ครูทุ่มเทไปในวันนี้จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กๆเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังหลักในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดของเขาต่อไปในอนาคต
“ นอกจากขยะในโรงเรียนแล้วเด็กๆเขาก็ไปเก็บกระป๋อง ขวดพลาสติก จากที่บ้านมาขายด้วย บางที่บรรดาคุณแม่เขาก็ฝากมาขาย คือเดี๋ยวนี้ชาวบ้านเขารู้ว่าขยะทุกชิ้นมีค่า ไม่มีใครทิ้งขยะเรี่ยราดแล้ว พอทุกบ้านเห็นประโยชน์ของการจัดการขยะสิ่งแวดล้อมในชุมชนก็ดีขึ้น เดี๋ยวนี้ครูของเราไปคุยเรื่องปัญหาขยะนี่ชาวบ้านเข้าใจหมด แต่ก่อนเราทำงานกันลำบากมาก.... ครูบางคนร้องไห้เกือบทุกวัน พาลูกเขาไปเก็บเศษผักในตลาดมาทำปุ๋ย พ่อแม่เขาก็ตามมาด่าว่าเขาส่งมาเรียนหนังสือ ทำไมเอาลูกเขามาเที่ยวเก็บขยะ โอย..กว่าโครงการจะอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้เราต้องใช้ความอดทนมาก แต่ก็ถือว่าคุ้มค่านะ ” ครูสมทรง กล่าวตบท้ายด้วยความภาคภูมิใจ
* * * * * * * * * * *
เรื่อง - จินดาวรรณ สิ่งคงสิน