xs
xsm
sm
md
lg

“หมอวิชัย” ค้านบอร์ด อภ.ชุดใหม่มิชอบ ชี้ “ไชยา” พ้นสภาพรมต. หมดสิทธิ์แต่งตั้ง เจ้าตัวไม่สน เย้ยให้ไปฟ้องศาล!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอวิชัย” ชี้คำสั่งแต่งตั้งบอร์ด อภ.ชุดใหม่ มิชอบ ขอให้เป็นโมฆะ ชี้ “ไชยา” พ้นสภาพเป็น รมต.ตั้งแต่ 6 มี.ค.ไม่มีสิทธิ์เสนอตั้งบอร์ดใหม่ แถมคุณสมบัติบอร์ดยังผิด พ.ร.บ.2 ฉบับ เกรงทำ อภ.เสียหายหนัก ด้าน “ไชยา” ไม่สนบอกศาลมีไว้ฟ้อง อยากฟ้องก็ฟ้องไป เดินหน้ามอบนโยบายบอร์ด อภ.ชุดใหม่ครั้งแรก สั่งขยายร้านขายยา อภ.ทั่วประเทศ ด้าน “ถิรชัย” เน้นขายยาแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ เล็งพัฒนาสมุนไพรไทยเป็นอาหารเสริม ขณะที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯเข้าถึงยา เลื่อนไม่มีกำหนด


วันนี้ (11 มิ.ย.) นพ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ตนและอดีตบอร์ อภ.4-5 คน จะเดินทางไปพร้อมกับทนายความส่วนตัวในวันที่ 12 มิ.ย.เวลา 10.00 น.เพื่อยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองในกรณีที่ นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ปลดบอร์ด อภ.โดยไม่ชอบให้ถือเป็นโมฆะ โดยเตรียมยื่นหนังสือฟ้องทั้งครบ 3 กรณี คือ คำฟ้องหลัก คำฟ้องทุเลา และคำฟ้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ซึ่งศาลปกครองจะพิจารณารายละเอียดทันทีหลังรับคำฟ้อง และมีทราบผลการตัดสินภายใน 1-2 วัน ซึ่งหากศาลชี้ว่า มีมูล จะมีผลให้คำสั่งของบอร์ดชุดใหม่ยังไม่มีผล และบอร์ดชุดเก่าสามารถทำหน้าที่ต่อไป

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ได้ยื่นหนังสือประกอบเหตุผลประกอบการฟ้องศาลปกครอง 3 ข้อ คือ 1.ถือว่า นายไชยา ได้สิ้นสภาพจากการเป็นรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.2551 เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติกรณีการถือหุ้นเกิน 5% ของภรรยา นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขัดต่อกฎหมายและขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี และสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182(7) ดังนั้น การแต่งตั้งบอร์ด อภ.ชุดใหม่ โดยที่ผู้เสนอไม่มีอำนาจที่สามารถกระทำได้ทำให้การเสนอแต่งตั้งบอร์ดไม่มีผล เป็นโมฆะ

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า 2.การเสนอแต่งตั้งปลดบอร์ด อภ.ชุดเก่าออก ไม่มีการให้เหตุผลใดๆ แม้ว่ารัฐมนตรีมีการให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ปลดบอร์ด อภ.ในภายหลังนั้นก็ไม่เป็นความจริง ทั้งการระบุว่า ตนในฐานะประธานบอร์ด อภ.ไม่เคยรายงานว่ามีบอร์ดลาออก ซึ่งในการประชุมบอร์ด อภ.ที่ นายไชยา มาเป็นประธานในการประชุมก็มีหลักฐานการประชุม ว่า มีการรายงานรัฐมนตรี ทั้งยังมีการเซ็นรับทราบด้วย และ 3.การระบุว่า ยอดขายของ อภ.ต่ำและมีรายจ่ายบางรายการที่สูงขึ้นจำเป็นที่ต้องให้บอร์ดชุดใหม่เข้าไปแก้ไขปัญหานั้น กรณียอดขายที่ต่ำเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน เพราะในอดีต อภ.มุ่งขายยาและเภสัชภัณฑ์ให้กับภาครัฐไม่ได้มุ่งขายให้กับเอกชน ส่วนรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น เนื่องมากจากบอร์ด อภ.มีมติขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานตามนโยบายของรัฐบาล จึงเป็นเหตุผลที่ไม่พอเพียง

“รัฐมนตรีพูดเองว่าบอร์ดชุดใหม่หลายคนในพรรคฝากมาก ซึ่งจำไม่ได้แล้วว่ามีใครบ้าง ถือเป็นการทำผิด พ.ร.บ.ถึง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.องค์การเภสัชกรรม พ.ศ.2509 และ พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ที่ระบุว่า คุณสมบัติของบอร์ดรัฐวิสาหกิจจะต้องมีความชัดเจนในสาขาที่เชี่ยวชาญตามกฎหมายกำหนด แต่รายชื่อที่ปรากฏนั้น ไม่เป็นไปตามกฎหมายเลย ดังนั้น หากปล่อยไว้จะทำให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากการมีที่มาไม่ถูกต้อง อาจทำให้งานชะงัก แก้ไขเยียวยาไม่ได้ หากมีการลงนามอนุมัติคำสั่งใดๆ รวมถึงเรื่องซีแอลที่ อภ.มีภาระหน้าที่ในการจัดหายาที่ทำซีแอล ขณะที่รัฐมนตรีมีนโยบายไม่จำเป็นต้องทำซีแอล อาจทำให้บอร์ดยอมทำตามรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ ซึ่งเห็นได้ชัด กรณียายาสลายลิ่มเลือดหัวใจ โคลพิโดเกรล ที่เกิดการชะงักในช่วงรอยต่อ ขณะที่ยามะเร็งที่ทำซีแอลทั้ง 3 ตัว กระบวนการขั้นตอนยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนยารักษามะเร็งเม็ดเลือด อิมาทินิบ ที่บริษัทยาตกลงว่าจะให้ฟรีนั้น ไม่ทราบว่าขณะนี้เป็นอย่างไรแล้ว”นพ.วิชัย กล่าว
ไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ.
ด้าน นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวกรณีดังกล่าว ว่า ไม่กังวล เพราะมีหลายเรื่องที่กังวลจนเลิกกังวลไปแล้ว ถ้าอยากฟ้องก็ฟ้องไป ศาลปกครองมีไว้ให้ฟ้อง ซึ่งศาลจะรับฟ้องหรือไม่ก็ยังไม่รู้เลย ส่วนเรื่องความไม่ชอบธรรมในการเสนอคำสั่งแต่งตั้งนั้น ต้องดูให้ยาวๆ เหมือนหนังชีวิตว่าไม่ชอบธรรมตรงไหน และวันนี้ตนไปเป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายแก่คณะผู้บริการ (บอร์ด) อภ.ชุดใหม่ ซึ่งมี นายถิรชัย วุฒิธรรม เป็นประธาน บอร์ด อภ.แล้วด้วย โดยใช้เวลาสั้นๆ ประมาณ 10 นาที ให้นโยบายกำชับให้ อภ.ขยายร้านขายยา อภ.ให้กระจายทั่วประเทศ โดยอาจทำในรูปแบบแฟรนไชส์ เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายให้กับภาคเอกชนมากขึ้น ส่วนงานด้านอื่นๆ ให้ดำเนินการตามขั้นตอนตามปกติ

ด้าน นายถิรชัย กล่าวว่า รัฐมนตรีให้นโยบายในภาพรวมให้ อภ.ทำประโยชน์ได้เต็มที่ตามที่ ปรับองค์กรให้แข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและนอกประเทศ แม้ว่าอภ. จะก่อตั้งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรก็ตาม แต่ก็มีหน้าที่หลักคือการจำหน่ายยาให้กับหน่วยงานอื่นๆ แข่งขันกับบริษัทยาต่างประเทศด้วย โดยในการประชุมบอร์ด อภ.ครั้งหน้า จะมีการติดตามผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของ อภ.ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

“ส่วนนโยบายของผมจะเน้นหนักในเรื่องการวิจัย พัฒนาผลิตยาชนิดใหม่ๆ ที่มีการแข่งขันในตลาดโลกสูง และต้องเป็นยาที่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยในประเทศ รวมถึงการพัฒนาสมุนไพรไทยผลิตเป็นอาหารเสริมสุขภาพแข่งขันกับอาหารเสริม วิตามินต่างๆ ของบริษัทต่างประเทศ เพราะสมุนไพรไทยมีประโยชน์และมีคุณสมบัติที่ดีไม่แพ้อาหารเสริมสังเคราะห์ ซึ่งสัดส่วนการตลาดของยาไทยมีเพียง 500-600 ล้านบาทเท่านั้น จากมูลค่าการตลาดทั้งหมดล 80,000 ล้านบาท” นายถิรชัย กล่าว

นายถิรชัย กล่าวถึงนโยบายการเข้าถึงยา หรือการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ(ซีแอล) ว่า คงต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งในส่วนของยาที่ได้ประกาศซีแอลไปแล้ว ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามนโยบายเดิม แต่สำหรับยาชนิดใหม่ ความเห็นส่วนตัว มองว่า การดำเนินการอะไรต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะกฎหมายสิทธิบัตร เพราะไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะ สธ.แต่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ด้วย ดังนั้น การจะดำเนินการอะไรต้องมีความรอบคอบ ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

“อนาคตหากประชาชนในประเทศมีความจำเป็นต้องใช้ยา และยามีราคาสูงเกินไป ก็คงจะต้องเรียกบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรมาเจรจาต่อรองราคาก่อน แต่หากเจรจาไม่สำเร็จ ราคายังแพงอยู่ ก็คงต้องใช้มาตรการซีแอล ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถทำได้ เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และข้อตกลงของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)” นายถิรชัย กล่าว

ส่วนกรณีที่ นพ.วิชัย ฟ้องร้องต่อศาลปกครองนั้น นายถิรชัย กล่าวว่า ไม่ห่วงอะไร เพราะไม่เกี่ยวข้องกันเป็นการฟ้องคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ นายไชยา ซึ่งการเข้ามาทำงานของตนเป็นไปตามมติ ครม.โดยมี นายไชยา เป็นผู้เสนอเรื่อง หากศาลปกครองมีคำสั่งอย่างไร ตนก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีการตัดสินตนจะทำหน้าที่เป็นประธานบอร์ด อภ. ตามปกติ

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะมิสเตอร์ซีแอล และเลขานุการคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาการเข้าถึงยาระบบยาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2551 อาจจะต้องเลื่อนออกไป เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งมาว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่ยังไม่มีการกำหนดว่าจะประชุมวันใด ซึ่งในการประชุมนั้นควรจะต้องเป็นระดับผู้บริหารอย่างน้อยที่สุดอธิบดีควรจะเป็นตัวแทนในการประชุม อย่างไรก็ตาม กรอบการประชุมนั้นเป็นการวางแนวทางการทำงานในภาพรวม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยามากขึ้นในอนาคต รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการที่มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งในรายละเอียดต่างๆ นั้น ยังไม่ได้หารือกับรัฐมนตรีแต่อย่างใด

“การหารือจะไม่คุยถึงยาที่ทำซีแอลไปแล้ว ทั้งยามะเร็ง ยาหัวใจ คงต้องถาม อภ.ว่าดำเนินการถึงไหนแล้ว เพราะคณะกรรมการร่วมฯ จะดูในภาพใหญ่และแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยาตัวอื่นๆ ซึ่งจะต้องหาวิธีการเจรจา ส่วนจะต้องทำซีแอลหรือไม่คงจะต้องมีการพิจารณาที่รอบคอบ เนื่องจากซีแอลไม่ใช่เครื่องมือเดียวที่ช่วยแก้ปัญหาได้หรือเป็นทางออกที่ดีที่สุด”นพ.ไพจิตร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น