ครม.มีมติยกเลิกเอ็มโอยูไทย-กัมพูชา ตามข้อเสนอกระทรวงการต่างประเทศ ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร ชำแหละ “นช.แม้ว” เป็นผู้มีผลประโยชน์ได้เสีย และกำลังจะทรยศชาติด้วยการไปเป็นที่ปรึกษา “ฮุนเซน” กำชับให้ กต.ทำด้วยความรัดกุมเพราะพัวพันอีกหลายข้อตกลง
วันนี้ (10 พ.ย.) นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ทำหนังสือต่อ ครม.เพื่อขอให้มีการยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ซึ่งได้มีการลงนามกันเมื่อปี 2544 ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น คือ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย กับรัฐมนตรีอาวุโส ซกอัน ของราชอาณาจักรกัมพูชา โดย กต.เสนอว่าเรื่องนี้เนื่องจากว่าทางรัฐบาลกัมพูชาได้มีการแต่งตั้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจ และ พ.ต.ท.ทักษิณ และเคยเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว
“เพราะเกรงว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ที่มีความรู้และเข้าใจเรื่องท่าทีหรือรู้ข้อมูลบางสิ่งบางอย่างแล้วก็ไปอยู่ตรงนั้นอาจจะมีกระทบกับเรื่องของการเจรจา” นายศุภชัยกล่าว
รองโฆษกกล่าวอีกว่า เอ็มโอยูฉบับดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย โดยมีพื้นที่ประมาณ 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร เอ็มโอยูดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าไปแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามเอ็มโอยูดังกล่าวนั้นสิ่งที่จะต้องดำเนินการของทั้งสองประเทศก็คือ การเจรจาเรื่องของการพัฒนาเรื่องผลประโยชน์กับการแบ่งเขต ซึ่งจะต้องทำควบคู่กันไป แต่ท่าทีที่ผ่านมาของรัฐบาลกัมพูชามีแต่เรื่องที่จะพูดคุยในเรื่องของการพัฒนา เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์อย่างเดียว โดยไม่มีความชัดเจนเรื่องการแบ่งเขต เพราะฉะนั้น เมื่อ กต.ได้เสนอกับ ครม.ในการที่จะขออนมุติยกเลิกเอ็มโอยู
“ครม.ก็ได้อนุมัติในหลักการ ที่จะให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้ต่อไป แต่ต้องให้มีการรัดกุม โดยคำนึงถึงข้อตกลง สนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งเอ็มโอยูดังกล่าวได้รับการยืนยันว่า เป็นสัญญาระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น ขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการ กต.จะต้องดำเนินการให้มันครอบคลุมและเคร่งครัดเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งมีการลงนามกันไว้หลายส่วน” นายศุภชัยกล่าว
นายศุภชัยกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ครม.ก็มีการอนุมัติเห็นชอบ ในส่วนที่เกี่ยวกับต่างประเทศอีกหลายส่วน เริ่มจาก ครม.อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการนำสินค้าเกษตร 22 รายการ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามความตกลงการเกษตร ภายใต้องค์การการค้าโลกเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลง ว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลง ว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐเกาหลี พ.ศ.... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยจะมีการส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติ ที่เสนอครม.ตรวจพิจารณาและดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบในหลักการของกรอบการเจรจา เพื่อการดำเนินงานความร่วมมือด้านการขนส่งภายใต้กรอบอาเซียน และให้เสนอกรอบการเจรจาดังกล่าวเสนอให้รัฐสภา ให้ความเห็นชอบต่อไปตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรสเปนโดยให้ กต.สามารถเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในส่วนที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ โดยไม่ต้องเสนอ ครม.พิจารณาอีก และ ครม.ยังอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามแผนปฏิบัติการร่วมฯ
ส่วนการประชุมรัฐมนตรีเอเปก ครั้งที่ 21 และผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 17 ที่ประเทศสิงคโปร์ในระหว่างวันที่ 12 พ.ย. และ 14-15 พ.ย.นั้น นายศุภชัยกล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีเอเปก และร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกตามที่ กต.เสนอ และหากจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการรับรอง ให้ กต.สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอต่อครม.พิจารณาอีก
นายศุภชัยกล่าวอีกว่า ครม.รับทราบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมอาเซียน-สหรัฐอเมริกาครั้งที่ 1 ซึ่งเรื่องนี้นายกฯ และนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะเป็นประธานร่วมกันในการประชุมดังกล่าวในวันที่ 15 พ.ย.ที่ประเทศสิงคโปร์ ตามที่ กต.ได้เสนอเข้ามา
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า แม้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะไม่มีการหยิบยกข้อเสนอทั้ง 8 ข้อที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นข้อเสนอเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ทั้งหมด มาพิจารณาในวาระจรที่ 4 แต่นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามว่า หากมีการยกเลิก MOU จะมีข้อผูกมัดต่อรัฐบาลหรือไม่ และรัฐบาลควรทำอย่างไร ซึ่งได้คำตอบจากนายวศิน ธีรเวชญาณ อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และคณะที่เข้าให้ข้อมูลว่า ไม่จำเป็นต้องทำอะไร เพราะขั้นตอน MOU ที่ทำมา 8 ปี ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติสามารถยกเลิกได้
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจาก ครม.เห็นชอบในหลักการเรื่องขอยกเลิกข้อตกลงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา แล้วกระทรวงต่างประเทศได้เก็บเอกสาร โดยมีการประทับตราสีแดงระบุว่า เป็นเรื่องลับทันที โดยห้ามมีการเปิดเผย
รายงานข่าวแจ้งว่า การยกเลิก MOU ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ 2544 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการลงนามเอกสารการแบ่งผลประโยชน์ทางทะเลโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา 2 ฉบับ อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540มาตรา 224 ได้แก่ บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ลงนามโดย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย กับ นายซกอัน รัฐมนตรีอาวุโส ประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา